To top
14 Mar

Louis Vuitton Trunks เปิดตำนานหีบแห่งประวัติศาสตร์

Louis Vuitton Trunks เป็นชื่อเรียกของหีบเดินทาง อันเป็นสินค้าสร้างชื่อของแบรนด์ ทำการผลิตโดย Louis Vuitton Malletier บริษัทที่ผลิตและจัดจำหน่ายหีบเดินทาง ซึ่งแยกตัวเป็นอิสระจาก House of Louis Vuitton โดยมี Yves Carcelle (อีฟ คาร์เซลล์) เป็น CEO คนปัจจุบัน ภายใต้การบริหารของกลุ่ม LVMH (Möet Hennessey • Louis Vuitton)

จากจุดเริ่มต้นก่อตั้งแบรนด์สุดหรู เมื่อปี ค.ศ. 1854 บนถนน Rue Neuve des Capucines ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส  จากผู้ผลิตหีบเดินทางอันมีชื่อเสียง จนถึงปัจจุบัน Louis Vuitton นำเสนอรูปแบบและดีไซน์ของหีบเดินทางที่แตกต่างกันออกไป  ด้วยวัสดุรวมถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ร่วมกับย้อนประวัติศาสตร์ไปเมื่อครั้งแบรนด์ทำการผลิตหีบเดินทางครั้งแรก จุดกำเนิดเรื่องราวจากหีบสี่เหลี่ยมธรรมดา ที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อจนถึงปัจจุบัน

 

HOW IT ALL BEGAN

ทุกอย่างเริ่มต้น เมื่อ หลุยส์ วิตตอง เด็กหนุ่มชนชั้นแรงงานชาวฝรั่งเศส ตัดสินใจเดินหน้า เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ในฐานะของผู้ผลิตหีบเดินทาง ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จที่สุด แบรนด์หนึ่งของโลก

มองซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง (Monsieur Louis Vuitton)

มองซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง (Monsieur Louis Vuitton)

ในปี ค.ศ.1835 เด็กชาย หลุยส์ วิตตอง ในวัยเพียง 14 ปี ออกเดินเท้าจากบ้านเกิดในเมืองอังเซย์ ไปเริ่มชีวิตใหม่ที่กรุงปารีส โดยจากอังเซย์ถึงปารีสมีระยะทางประมาณ 292 ไมล์ เขาใช้เวลาเดินทาง 2 ปี โดยทำงานพิเศษระหว่างทางเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ และอาศัยหลับนอนพักผ่อนตามเพิงเท่าที่จะหาได้ หลุยส์เดินทางถึงมหานครปารีส เมื่อปี ค.ศ. 1837 ในขณะนั้นเขามีอายุ 16 ปี

เมื่อเดินทางมาถึง เขาได้มีโอกาสฝึกงานกับ มองซิเออร์ มาแชล (Monsieur Maréchal) ช่างผลิตกล่องและหีบขนของที่มีชื่อเสียงที่สุด ในขณะนั้น การคมนาคมหลัก ๆ ยังใช้การเดินทางด้วยรถม้า การโดยสารทางเรือ และการเดินทางโดยรถไฟอยู่ ทำให้การเคลื่อนย้ายสัมภาระยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระเป๋าเก็บสัมภาระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ทำให้สิ่งของเกิดความเสียหายระหว่างเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้นักเดินทางสมัยนั้น มองหาหีบที่สามารถจัดเก็บเสื้อผ้าและเครื่องประดับหรูหราราคาแพงได้อย่างปลอดภัย

มองซิเออร์ มาแชล (Monsieur Maréchal)

มองซิเออร์ มาแชล (Monsieur Maréchal)

ด้วยความที่หลุยส์ เป็นเด็กใฝ่รู้ เขาได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ด้านการทำหีบ ฝึกฝนพัฒนาจนฝีมืออยู่ในระดับที่มีชื่อเสียง และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้หลุยส์ ได้มีโอกาสรู้จักกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายสายอาชีพ อีกทั้งยังมีโอกาสรับใช้และบริการลูกค้าระดับราชวงศ์และชนชั้นสูงมากมาย หีบเก็บของที่ทำขึ้นโดย หลุยส์ วิตตอง กลายเป็นของที่มีราคาและถูกตีค่าเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและมีระดับ ไม่นานนัก ชื่อเสียงของหลุยส์ก็โด่งดังเปรี้ยงปร้างเป็นที่รู้จักทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว

ผลงานสร้างชื่อของเขา คือการได้มีโอกาสถวายงานให้กับ ราชินี ยูจีเนียร์ เดอ มอนติโจ (Eugenia de Montijo) ชายาในกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งในขณะนั้น หลุยส์มีอายุได้  30 ปี โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลกล่องเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับเสื้อผ้าราคาแพงของเธอ และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของหลุยส์

Louis Vuitton in a bed trunk’s driver seat with family & workshop members, circa 1888

Louis Vuitton in a bed trunk’s driver seat with family & workshop members, circa 1888

นั่นเป็นจุดเริ่มของการเป็นช่างทำหีบมืออาชีพของหลุยส์ ผลิตหีบเดินทางตามความต้องการของลูกค้า หลังจากร่วมงานกับมองซิเออร์ มาแชล มาเป็นเวลา 17 ปี หลุยส์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของมาแชล เพื่อเปิดธุรกิจทำหีบของเขาเอง โดยที่ตั้งของร้านอยู่ที่ ตึกหมายเลข 4 ถนนเนิฟ เด คาปูซีน (4 Rue Neuve-des-Capucines)  ใกล้กับ จตุรัสปลาส ว็องโดม (Place Vendome) ย่านสุดหรูของกรุงปารีส

 

ASNIÈRES : A LEGENDARY WORKSHOP

หลุยส์เชื่อว่า นวัตกรรมใหม่เท่านั้น ที่จะเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ ในขณะที่โลกเริ่มหมุนเร็ว วิวัฒนาการของการคมนาคมที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ผู้คนเดินทางในระยะที่ไกลกว่าเดิม กระเป๋าเดินทางที่ตอบโจทย์ จึงไม่เพียงแค่ต้องมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังต้องมีความโดดเด่นในด้านความสวยงาม ซึ่งนั่นทำให้หีบของหลุยส์ แตกต่างจากคู่แข่งอื่น ๆ และด้วยความไม่เหมือนใครนี้ ทำให้หีบของเขาได้รับความนิยมอย่างสูง

ช่วงแรกของการก่อตั้งแบรนด์ หลุยส์เกิดความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์หีบเดินทาง ซึ่งห่อหุ้มด้วยผ้าใบแคนวาส อันมีคุณสมบัติให้ตัวหีบมีน้ำหนักเบา อีกทั้งยังเพิ่มความแข็งแรงทนทาน ซึ่งเป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ “Gris Trianon” (กริส ทริอานง) โดยผ้าแคนวาสนั้น มีชื่อเรียกว่า “Vuittonite” (วิตตงนิต)

Louis Vuitton’s first design TRIANON TRUNK

Louis Vuitton’s first design TRIANON TRUNK

ในปี ค.ศ. 1858 ได้มีการเปิดตัวหีบรุ่นใหม่ โดยมีการห่อหุ้มตัวหีบด้วยผ้าใบสีเทา Grey Trianon Canvas แทนการใช้หนังแบบเดิม ซึ่งทำให้ตัวหีบมีน้ำหนักที่เบาขึ้น อีกทั้งยังลดปัญหากลิ่นอับที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาของหนังที่มีต่อความชื้นภายใน สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดขายคือ รูปทรงของหีบ ที่มีลักษณะเป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนหีบรุ่นเก่าที่ส่วนมากจะผลิตออกมาเป็นทรงโดม โดยหีบรุ่นใหม่นี้ ข้อดีคือมีฝาหีบและก้นหีบที่แบนราบ เพิ่มความสะดวกในการนำมาวางซ้อนกัน และง่ายต่อการขนส่งเคลื่อนย้ายระหว่างเดินทาง

หีบ Grey Trianon Canvas ช่วงปี 1870

หีบ Grey Trianon Canvas ช่วงปี 1870

อีกสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้าประทับใจในหีบของหลุยส์ นั่นคือการออกแบบภายในหีบ ที่มีการแบ่งออกเป็นสัดส่วน ง่ายต่อการจัดเก็บสัมภาระให้เป็นระเบียบ และสามารถหยิบจับสิ่งของออกมาใช้ได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงเชือกยางยืดที่ยึดติดอยู่ด้านบน เพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่น นอกจากนี้ การตอกหมุดยึดผ้าใบเข้ากับหีบ ก็ทำได้อย่างสวยงาม เก็บรายละเอียดการเข้ามุมหีบด้วยโลหะเพื่อเสริมความแข็งแกร่งป้องกันการกระแทก อาจกล่าวได้ว่า หีบของหลุยส์ วิตตอง ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ ของการเดินทางสมัยใหม่

จุดขายของหีบ ที่ภายในแบ่งเป็นสัดส่วน

จุดขายของหีบ ที่ภายในแบ่งเป็นสัดส่วน

ความทันสมัยของการคมนาคม เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความสำเร็จของธุรกิจหีบเดินทางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้หลุยส์ ตัดสินใจขยายกิจการ โดยได้เปิดโรงงานผลิตหีบที่ใหญ่ขึ้น ในปี ค.ศ. 1859 โดยที่แห่งนี้ เป็นทั้งโรงงานและที่อยู่ของครอบครัว วิตตอง ตั้งอยู่ที่เมือง Asnieres ไม่ไกลจากประตูปารีสนัก ลูกค้าของเขาไม่ได้จำกัดเพียงแค่ราชวงศ์หรือผู้สูงศักดิ์ในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Isma’il Pasha ซึ่งเป็นอุปราชของอียิปต์อีกด้วย

The Asnières family residence

The Asnières family residence

โรงงานผลิตหีบแห่งนี้ เริ่มต้นจากพนักงานเพียงแค่ 20 คน และเพิ่มขึ้นเกือบ 100 คน ในปี ค.ศ. 1900 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1914 มีพนักงานที่ทำงานในโรงงานแห่งนั้น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 225 คน ซึ่งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โรงงานการผลิตได้รับการขยับขยาย แต่ยังคงเป็นสถานที่ผลิตหีบจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่บ้านพักของตระกูลวิตตอง ได้รับการอนุรักษ์และเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบัน มีช่างฝีมือผลิตหีบทั้งหมด 170 คน ทำการออกแบบและสร้างสรรค์หีบตามออเดอร์พิเศษจากลูกค้าทั่วโลก

The Asnières workshop

The Asnières workshop

THE NEW JOURNEY OF LOUIS VUITTON

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของหลุยส์ ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากผลกระทบจาก สงครามนองเลือด Franco-Prussian อันทำลายอาณาจักรฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1870 และยุติลงเมื่อวันที่ 28 มกราคม ปี ค.ศ. 1871 ผลกระทบของสงครามในครั้งนั้น ทำให้โรงงานของหลุยส์เกิดความเสียหาย ลูกน้องกระจัดกระจาย อุปกรณ์สำหรับใช้ทำกระเป๋าถูกขโมย แทบสูญสิ้นทุกอย่าง แต่ถึงกระนั้น จิตวิญญาณของนักสู้ ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา หลุยส์ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจต่อไป โดยเปิดร้านใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 1 Rue Scribe

ด้วยความที่สถานที่ตั้งของร้านอยู่ใจกลางเมืองปารีสใหม่ อันรายล้อมไปด้วยกลุ่มไฮโซและคนชั้นสูง ทำให้หลุยส์ ต้องมีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ในการผลิตหีบให้เข้ากับกลุ่มคนเหล่านั้น ในปี ค.ศ. 1872 หลุยส์จึงตัดสินใจออกแบบหีบใหม่ เพื่อทดแทนหีบ Grey Trianon แบบเดิม เป็นการผสมผสานผ้าใบสีเบจตัดกับสายคาดสีแดง และต่อมาในปี ค.ศ. 1876 ได้เปลี่ยนเป็นผ้าใบสีเบจตัดกับสายคาดสีน้ำตาล โดยทั้ง 2 แบบนี้ มีชื่อว่า “Rayée canvas” หรือมีความหมายว่า สายคาด (Striped) ในภาษาฝรั่งเศส

The Rayée Canvas

The Rayée Canvas

หีบ Rayée canvas รุ่นนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหรา การออกแบบที่เรียบง่ายและดูดี ถูกนำมาใช้จนกระทั่งการเปิดตัวของผ้าใบ Damier canvas ในปี ค.ศ. 1888 ซึ่งถือกำเนิดขึ้น เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาของการลอกเลียนแบบลายหีบจากคู่แข่ง โดยมีการเพิ่มรายละเอียดลวดลายของผืนผ้าใบ ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น สำหรับลาย Damier นั้น ปรากฏใน 2 โทนสีด้วยกัน แบบแรกเป็นจุดสีแดง โดยมีพื้นด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มและลายตารางหมากรุกสีขาว ซึ่งลวดลายแรกนี้ค่อนข้างหายาก

Damier Trunk 1888

Damier Trunk 1888

ในลวดลายที่ 2 นั้น จะปรากฏเป็นลวดลายตารางหมากรุกสีน้ำตาลเข้มและอ่อนสลับกันไป หลุยส์ได้เริ่มระบุสัญลักษณ์ “MARQUE L. VUITTON déposée” ระบุอยู่บนลายของหีบทุกใบ แปลความหมายได้ว่า “L. Vuitton trademark” หรือเครื่องหมายการค้านั่นเอง และลวดลายนี้ทำให้ Louis Vuitton ได้รับเหรียญทองจากงาน Exposition Universelle เมื่อปี ค.ศ. 1889 ที่จัดขี้นในเมืองปารีส โดยลวดลาย Damier นี้ยังคงพบเห็นและคงอยู่ในไลน์การผลิตของแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน

สัญลักษณ์ "MARQUE L. VUITTON déposée" บนผ้าใบลาย Damier

สัญลักษณ์ “MARQUE L. VUITTON déposée” บนผ้าใบลาย Damier

แต่ถึงกระนั้น แม้จะมีการออกแบบลวดลายที่เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่พ้นถูกลอกเลียนแบบจากคู่แข่งอยู่ดี หลังการเสียชีวิตของหลุยส์ผู้เป็นพ่อ เมื่อปี ค.ศ. 1892 จอร์จ วิตตอง (George Vuitton) ได้รับช่วงต่อบริหารกิจการ เขาได้ทำการบ้านอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาการลอกเลียนแบบอีกครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1896 ลวดลาย Monogram (โมโนแกรม) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายดอกไม้สี่กลีบบนกระเบื้องดินเผาภายในห้องครัวของบ้านประจำตระกูลที่ตั้งอยู่ที่ Asnières นั่นเอง

การออกแบบลวดลายโมโนแกรมนั้น เกิดจากการผสมผสานอักษรแรกจากชื่อของผู้ก่อตั้ง LV (Louis Vuitton) เข้ากับรูปทรงดอกไม้สไตล์แอพแสตร็ก เป็นรูปดอกไม้ 4 กลีบแบบทึบ , รูปดอกไม้ 4 กลีบแบบโปร่ง และสัญลักษณ์คล้ายมงกุฏ อันสะท้อนถึงความคลาสสิคของศิลปะแบบตะวันออกของยุควิกตอเรียตอนปลายได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีการจดทะเบียนการค้าเกี่ยวกับลวดลายเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย โดยทำการออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1897 เป็นต้นมา และถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน

ขึ้นทะเบียนลายโมโนแกรม

ขึ้นทะเบียนลายโมโนแกรม

CANVAS & MATERIALS

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน นอกจากผืนผ้าใบลายโมโนแกรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์แล้ว ทาง Louis Vuitton ไม่เคยหยุดพัฒนาคุณภาพของผืนผ้าใบเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังได้ทำการออกแบบลวดลายอื่น ๆ ออกมาอีกมากมาย โดยตัดเย็บจากวัสดุที่แตกต่างกันออกไป  ติดตามข้อมูลหนังชนิดต่าง ๆ ได้ที่นี่ Louis Vuitton Leather Material

นอกจากผ้าใบ Monogram รวมถึงลวดลายวัสดุอื่น ๆ แล้ว อีกหนึ่งผ้าใบที่นิยมใช้ผลิตหีบในยุคแรก ๆ มีชื่อเรียกว่า “Vuittonite Canvas” เป็นผ้าใบเคลือบหนา ได้รับการออกแบบในช่วงที่มีการเปลี่ยนศตวรรษ ไปจนถึงช่วงปี 1920s โดยมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น สีเหลือง สีส้ม สีเขียว สีน้ำตาล สีแดง สีเบจ และสีดำ หีบที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าใบ Vuittonite นี้ ถือว่าเป็นของหายากในปัจจุบัน ซึ่งราคาของมันอาจสูงเทียบเท่ากับหีบที่ผลิตในปัจจุบันเลยทีเดียว

Vintage Orange Vuittonite Cabin Trunk, Circa 1940's

Vintage Orange Vuittonite Cabin Trunk, Circa 1940’s

สำหรับผ้าใบลาย Monogram ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ในยุคเริ่มแรก มีลักษณะเป็นผ้าทอ (Woven) ซึ่งทอด้วยเครื่องทอผ้า Jacquard Loom (เครื่องทอผ้าที่ควบคุมการทอผ้าลายสีต่าง ๆ ด้วยบัตรเจาะรู (Punched – card) เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ โจเซฟ มารี แจคการ์ด (Joseph Marie Jacquard) ชาวฝรั่งเศส) โดยใช้วัสดุด้านลินินแบบทูโทน สีน้ำตาลอ่อนและสีน้ำตาลเข้ม (Ecru and Sienna)

Louis Vuitton Cabin trunk in monogram woven canvas, CIRCA 1900

Louis Vuitton Cabin trunk in monogram woven canvas, CIRCA 1900

คุณสมบัติของผ้าใบยุคแรกนี้ สามารถกันน้ำได้ และมีความยืดหยุ่น แต่ก็พบข้อเสียมากมายในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นอาหารชั้นยอดของเหล่าบรรดาสัตว์กัดแทะอย่างเช่นหนู หรือการผลิตที่ซับซ้อนด้วยความที่เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความปราณีต ผ้าใบแบบทอนี้ จึงถูกแทนที่ด้วยการคัดลอกลายโดยการใช้แผ่นฉลุ (Stencil) ลงบนผืนผ้าใบ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 เป็นต้นมา จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นการปริ้นท์ลายด้วยเครื่องจักร (Screen Printing) เมื่อปี ค.ศ. 1959 ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถกันน้ำได้ รวมถึงมีความแข็งแรงอย่างมาก โดยใช้วิธีการนี้ มาจนถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน Louis Vuitton ยังคงสร้างสรรค์ รวมทั้งพิถีพิถันในการเลือกใช้วัสดุสำหรับชิ้นงานสั่งทำพิเศษ ซึ่งมีทั้งวัสดุ สังกะสี , ทองแดง , ไม้ , ผ้าใบ รวมถึงหนังชนิดต่าง ๆ นอกเหนือจากหนังธรรมชาติอย่างหนังวัวธรรมชาติ และหนังลูกวัวแล้ว ยังรวมถึงหนังสัตว์หายากชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น หนังสัตว์เลื้อยคลาน , หนังจระเข้ , หนังช้าง , หนังวอลรัส , หนังงู และหนังของสิงโตทะเล โดยแทนด้วยชื่อเรียกอันสวยหรูของแบรนด์ ดังนี้ Morocco Leather, Nomade Leather, Taiga Leather และ Suhali Leather

ใน ยุคต้นหีบจากหลุยส์ วิตตอง ได้รับความนิยมมาก เพราะนอกจากคุณภาพดี ทนทาน น้ำหนักเบา และดีไซน์สวย ความเป็นนวัตกรรมที่วิวัฒนาการอยู่เสมอก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์ พัฒนากระเป๋าตามรูปแบบการเดินทางใหม่ ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์คนแต่ละยุคอยู่เสมอ จากกระเป๋าไม้ขนาดใหญ่ในยุคที่คนเดินทางด้วยรถไฟ ไปสู่กระเป๋า canvas กันน้ำขนาดเบาลงเมื่อคนเริ่มเดินทางทางเรือ จนถึงยุคเครื่องบินและรถยนต์ จาก trunk ใบใหญ่ก็เล็กลงเพื่อสามารถจัดเก็บได้สะดวกในช่องเก็บกระเป๋าบนเครื่องและในรถ

ปัจจุบัน Vintage Trunk หรือหีบรุ่นโบราณนั้น มีราคาในตลาดรีเซลล์สูงถึง 4 แสนบาท หรืออาจมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพ ขนาด และรูปแบบ โดยต้องพิจารณาจากร่องรอยตำหนิต่าง ๆ สภาพการแตกลายของแคนวาส อะไหล่ และโลหะต่าง ๆ บนตัวหีบ สำหรับหีบรุ่นใหม่ สามารถผลิตได้ตามความต้องการพิเศษของลูกค้า ซึ่งสนนราคาไม่เป็นที่แน่นอนตายตัว และอาจมีราคาสูงถึง 7 หลักด้วยกัน

 

LOUIS VUITTON TRUNKS

Louis Vuitton ได้ทำการผลิตหีบออกมาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการผลิตตามออเดอร์พิเศษ รวมหลายร้อยรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหีบสำหรับใส่หมวก (Hat Trunk) หีบใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ (Courrier Trunk) หีบตู้เสื้อผ้า (Wardrobes) หีบเปลนอน (Bed Trunk) หีบสำหรับใส่รองเท้า (Shoes Trunk) ซึ่งถือได้ว่า หีบของหลุยส์ เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางอันหรูหรา มาทุกยุคทุกสมัย ยกตัวอย่างรูปแบบหีบที่ได้รับความนิยมดังต่อไปนี้

  • Courrier trunk : หีบเดินทางที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ขนาดมาตรฐานของหีบรุ่นวินเทจอยู่ที่ 70 – 110 เซนติเมตร สำหรับหีบรุ่นใหม่ จะมีขนาด 90 – 110 เซนติเมตร โดยหีบสำหรับผู้ชาย จะมีความสูงอยู่ที่  50 เซนติเมตร หีบสำหรับผู้หญิงอยู่ที่ 65 เซนติเมตร การตกแต่งขอบของหีบอาจใช้วัสดุหนัง หรือโลหะก็ได้ ด้านหน้าของหีบมีการตกแต่งด้วยไม้ 2 – 3 แถบ ภายในมีชั้นที่สามารถถอดออกได้ 2 – 3 ชั้น รวมถึงช่องต่าง ๆ ที่แบ่งเป็นสัดส่วน สำหรับบรรจุสิ่งของ
Courrier trunk 1920s

Courrier trunk 1920s

  • Wardrobes : หีบเดินทางคล้ายตู้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ ที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้เดินทางข้ามมหาสมุทรทางเรือ เป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ถูกออกแบบมาหลายขนาดที่แตกต่างกันออกไป ความลึกของหีบอาจอยู่ที่ประมาณ 55 – 65 เซนติเมตร ความสูงอยู่ที่ประมาณ 110 – 145 เซนติเมตร ซึ่งภายในหีบจะเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ได้รับการตกแต่งแตกต่างไปตามรุ่น หรือตามความต้องการของลูกค้า
wardrobe trunk 1930s

wardrobe trunk 1930s

  • Hat Trunk : ในช่วงยุค 1920s หมวก เปรียบเสมือนเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี หีบสำหรับบรรจุหมวกนี้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม ขึ้นอยู่กับรุ่น หรือคำสั่งพิเศษจากลูกค้า โดยทั่วไปด้านบนของหีบ จะมีหูจับและสายรัดเหมือนกับกระเป๋าเดินทาง มีที่จับทั้ง 2 ด้านของหีบ ภายในมีตาข่ายสำหรับใส่หมวกที่สานขึ้นจากริบบิ้น หรือกำมะหยี่ ในหีบ 1 ใบ สามารถบรรจุหมวกได้ประมาณ 4 – 16 ใบ ขึ้นอยู่กับรุ่น
โฆษณาหีบใส่หมวก ในปี 1924

โฆษณาหีบใส่หมวก ในปี 1924

  • Cabin Trunk : แต่เดิม คำว่า Cabin มีที่มาจากช่องเก็บของ ที่อยู่ภายในเรือหรือรถม้า โดยหีบถูกออกแบบให้มีลักษณะแบน เพื่อสามารถสอดกระเป๋าเข้าใต้ที่นั่งผู้โดยสารในห้องโดยสารได้ ดังนั้น ความสูงมาตรฐานของหีบ จะต้องไม่เกิน 39 เซนติเมตร เนื่องจากความสูงของช่องเก็บของทั่วไปจะอยู่ที่ 45 เซนติเมตร ทุกวันนี้เรายังคงใช้คำว่า “cabin baggage” สำหรับการเดินทางทางอากาศเป็นมาตรฐานที่กำหนดขนาดสูงสุดเพื่อจัดเก็บไว้ในหีบส่วนบนของห้องโดยสารบนเครื่องบิน
LOUIS VUITTON CABIN TRUNK IN MONOGRAMMED CANVAS, FRANCE c.1920

LOUIS VUITTON CABIN TRUNK IN MONOGRAMMED CANVAS, FRANCE c.1920

ด้วยความสำเร็จทางด้านการตลาดและการออกแบบ ทำให้หีบจากหลุยส์ วิตตอง เป็นส่วนหนึ่งในหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์มาในทุกยุคทุกสมัย ยกตัวอย่างเช่น Trunk Bed หรือหีบเตียงนอน ที่ทำการผลิตให้เป็นพิเศษแก่ นักสำรวจท่านหนึ่งนามว่า ปิแอร์ ซาวอร์ยอง เดอ บราซซา (Pierre Savorgnan de Brazza) ซึ่งใช้สำหรับการเดินทาง ในช่วงปี ค.ศ. 1905

ปิแอร์ ซาวอร์ยอง เดอ บราซซา

ปิแอร์ ซาวอร์ยอง เดอ บราซซา

รวมถึงการผลิตหีบเดินทาง สำหรับใส่สูท เดรส หรือเครื่องแป้ง ซึ่งรังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษแก่ เจน ลองเเวง (Jeanne Lanvin) และ ปอล ปัวเรต์ (Paul Poiret) คนดังในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม่เว้นแม้แต่นักเขียนชื่อดัง ที่ต่อคิวกันเข้ามาให้ทาง Louis Vuitton ออกแบบหีบสำหรับใส่อุปกรณ์เครื่องเขียนและหนังสือ ยกตัวอย่างเช่น เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) และ ฟรองซัวส์ ซาก็อง (Francoise Sagan) เป็นต้น

อีกทั้งยังมีการร่วมงานกับเหล่าศิลปินคนดังและเหล่าบรรดาคนครีเอทีฟต่าง ๆ มากมาย ก่อเกิดโปรเจกต์สุดอลังการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นลายผีเสื้อ หีบ “Studio in a Trunk” ของ ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman) และ “Punching Trunk” ที่ทำขึ้นร่วมกับ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) เพื่อเฉลิมฉลองโปรเจกต์คอลแลบผ่านลวดลายโมโนแกรมในปี 2014 โดยผลิตออกมาจำนวนจำกัด เพียง 25 ชิ้นเท่านั้น

Punching Trunk

Punching Trunk

ในปี ค.ศ. 2018 Louis Vuitton ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดทำกล่อง เพื่อจัดเก็บถ้วยรางวัล “FIFA WORLD CUP Thophy Travel Case” ซึ่งได้ใช้ช่างฝีมือผู้ชำนาญการจากทางแบรนด์ เป็นผู้ออกแบบและผู้ผลิต โดยได้นำวัสดุ Titanium มาทำการผลิต พร้อมพิมพ์ลวดลาย Monogram อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ลงบนกล่อง ซึ่งมีการจัดแสดงให้ชมกัย ระหว่างการแข่งขันฟุตบอล FIFA World Cup ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน จนถึง 16 กรกฏาคม ปี ค.ศ. 2018

FIFA WORLD CUP Thophy Travel Case 2018

FIFA WORLD CUP Thophy Travel Case 2018

อีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าสนใจ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากหีบเดินทาง นั่นก็คือ Malle Fleurs ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดย เวอร์จิล แอ๊บโลห์ (Virgil Abloh) ผู้อำนวยการด้านงานออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษของหลุยส์ วิตตอง เปิดตัวในงานแฟชั่นโชว์ Spring / Summer Collection 2020 โดยการนำลวดลายโมโนแกรม มาตีความใหม่ในขนาดที่ใหญ่ขึ้น ด้วยมิติสัมผัสแบบนูน พร้อมวัสดุกันน้ำด้านในสำหรับใส่ดอกไม้ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังช่วยขับให้ดอกไม้ มีความสวยเด่นมากยิ่งขึ้น

หีบ Malle Fleurs จากโชว์คอลเล็คชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020

หีบ Malle Fleurs จากโชว์คอลเล็คชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020

สำหรับหีบที่ได้รับการพัฒนามาจากหีบรุ่นยอดนิยม เช่น Picnic Box ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็ได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นหีบที่มีความทันสมัย รองรับความต้องการในการใช้งานของผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ขณะที่ Monogram Eclipse Sneaker Box โดดเด่นด้วยดีไซน์คล้ายกับตู้โชว์รองเท้าคู่ไอคอนิก และ Malle Maison Vivienne บ้านตุ๊กตาพกพาที่เป็นหีบบรรจุ Vivienne มาสคอตตัวใหม่ของหลุยส์ วิตตอง

Malle Maison Vivienne

Malle Maison Vivienne

 

VICTORY TRAVEL IN LOUIS VUITTON

ปัจจุบัน The Asnières ยังคงเป็นสถานที่ผลิตหีบเดินทาง ซึ่งทำการผลิตหีบตามออเดอร์พิเศษอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น หีบเดินทางสำหรับบรรจุอาภรณ์เครื่องแต่งกาย ชุดเครื่องทำค๊อกเทล นาฬิกา และน้ำหอม ไปจนถึงกล่องใส่เกมหรือเคสสำหรับใส่เครื่องประดับ เป็นเวลากว่า 150 ปีแล้ว ที่ Louis Vuitton ได้ทำการรังสรรค์ผลงานตระการตามากมาย โดยยึดหลักการณ์ที่ว่า ไม่มีฝันไหนยิ่งใหญ่เกินไป และไม่มีสิ่งของชิ้นใด ซับซ้อนเกินกว่าจะผลิตหีบเดินทางเพื่อบรรจุได้

ภายใต้คำกล่าวที่ว่า Victory Travel in Louis Vuitton – ชัยชนะเดินทางไปพร้อมกับ Louis Vuitton คงจะเป็นเรื่องจริง ทั้งหมดนี้ คือสิ่งพิสูจน์ ให้เห็นถึงการพัฒนาที่ผสมผสานขนบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์และการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เนรมิตผลงานศิลปะอันประเมินค่าไม่ได้ และนี่คือชัยชนะและตำนาน ที่ยังคงไหลเวียนอยู่ในสายเลือดของ Louis Vuitton อย่างแท้จริง ตำนาน Louis Vuitton Trunks ที่จะบันทึกอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ไปจนชั่วลูกสืบหลาน

รัก
xoxo

 

KATE