To top
19 Mar

Little Black Dress จากความโศกเศร้า สู่แฟชั่นชั้นสูงระดับโลก

Little Black Dress หรือที่สาว ๆ รู้จักกันดี ภายใต้ตัวย่อภาษาอังกฤษ 3 ตัว “LBD” ไอเท่มเสื้อผ้า ที่กลายเป็น Must-have-item เป็นชุดเก่งที่สาว ๆ ต้องมีติดตู้แทบจะทุกคน ชุดกระโปรงสีดำที่เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้าน ที่มีประวัติศาสตร์เดินทางข้ามผ่านเวลามาอย่างยาวนาน จากความหมายของสีดำ อันเป็นตัวแทนของการไว้ทุกข์ จนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความหมายของแฟชั่น ที่มิใช่เป็นเพียงเรื่องของเสื้อผ้า แต่มันยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงที่มา เศรษฐกิจ และการเมือง

จากวันแรกที่ ตำนานของโลกแฟชั่น อย่าง Coco Chanel ได้ปลดแอกเสรีภาพในการแต่งกายให้กับสุภาพสตรีทั่วโลก สะบัดโครงสร้างเครื่องแต่งกายของสตรีในยุควิกตอเรียอันแสนจะเทอะทะ ไปสู่เสื้อผ้าที่เรียบง่าย ทะมัดทแมงและสวมใส่สบาย ซึ่งนั่น นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็น “คลาสสิกพีซ” ของ LBD ซึ่งในวันนี้ เราจะพาทุกคน ย้อนกลับไป ถึงต้นกำเนิดของแฟชั่นในตำนานนี้ ก่อนวิวัฒนาการมาเป็นส่วนหนึ่งในโลกของแฟชั่นชั้นสูง ดั่งเช่นในปัจจุบัน

The Power of BLACK

สีดำ สีที่สามารถสื่อความหมายได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความลึกลับ ความปรารถนา หรือแม้กระทั่งเป็นตัวแทนของความเศร้าโศก ในช่วง Middle aged หรือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 ยุโรป ได้ประกาศให้การสวมใส่ชุดสีดำ เป็นการแสดงออกถึงการไว้ทุกข์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชาติแรก ๆ ที่มีค่านิยมนี้ แต่ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างเท่าใดนัก ด้วยความที่ชุดไว้ทุกข์ของคนในยุคนั้น ส่วนใหญ่ตัดเย็บขึ้นมาจากวัสดุราคาแพง จึงจำกัดค่านิยมเหล่านี้ เฉพาะชนชั้นสูงหรือกลุ่มคนร่ำรวยเท่านั้น

Queen Victoria's Mourning outfit

Queen Victoria’s Mourning outfit

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 สีดำ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งในหมู่ขุนนางชาวสเปนและเหล่าพ่อค้าชาวดัตช์ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสีดำในสมัยนั้น ได้มาจากผลแอปเปิ้ลโอ๊คนำเข้า ซึ่งมีราคาสูงมาก ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 สีดำ ถูกตีความหมายอีกครั้ง ในแง่ของความโรแมนติกและเป็นตัวแทนของศิลปะ

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18-19 สีดำ ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของความโศกเศร้า เมื่อยุควิกตอเรียเริ่มต้น จากความโรแมนติกและเป็นตัวแทนของศิลปะ กลับกลายมาเป็นตัวแทนของความเศร้าโศก เป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งตัวไว้ทุกข์อย่างแท้จริง จากการที่ควีนวิกตอเรีย (Alexandrina Victoria) ได้สวมใส่ชุดโทนสีดำ เป็นเวลายาวนาน เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่เจ้าชายอัลเบิร์ต โดยหญิงม่ายส่วนใหญ่จะทำการสวมชุดดำไว้อาลัยอย่างน้อยเป็นเวลา 4 ปี รวมทั้งยังมีการนำผ้าสีดำมาตัดเย็บเป็นชุดสำหรับพนักงานบริการหรือเสื้อผ้าสำหรับคนรับใช้อีกด้วย

ช่วงปี ค.ศ. 1915-1920 เป็นการตอกย้ำค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในเรื่องของการสวมใส่ชุดสีดำ เพื่อแสดงถึงการไว้ทุกข์ ด้วย 2 เหตุการณ์สุดสะเทือนใจของโลก คือ การไว้ทุกข์ให้กับผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และการไว้ทุกข์ในกับผู้ที่เสียชีวิตจากภัยพิบัติ “Spanish Flu” หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไข้หวัดสเปน ซึ่งเกิดการระบาดไปทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 50 ล้านคน กล่าวกันว่า โรคติดต่อนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าสงครามโลกเสียอีก

 

The Little Black Dress

จุดกำเนิดของ LBD นี้ เริ่มต้นขึ้นหลังจากการจากไปของชายคนรัก ที่มีอิทธิพลที่สุดในชีวิตของมาดมัวแซล “Arther Capel” (อาร์เธอร์ คาเปล) ผู้ซึ่งจากไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1919 ขณะขับรถเดินทางจากเมืองปารีสไปยังเมืองคานส์ (Cannes) จากรายงานของนิตยสาร TIMES และสำนักข่าว Reuters คาเปล เดินทางไปกับช่างเทคนิคของเขา ผู้มีนามว่า Mansfield จนกระทั่งเกิดเหตุยางเส้นหนึ่งระเบิด ส่งผลให้คาเปลเสียชีวิต โดยช่างเทคนิคผู้นั้น ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ร่างของ Capel ถูกฝังในคืนคริสมาสต์อีฟ ที่เมือง Fréjus เมืองเล็ก ๆ ในเขต Cote d ‘Azur ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ซึ่ง Chanel ปฏิเสธการเข้าร่วมงานศพของคาเปล แต่เธอกลับขอให้ มาดาม Michelham’s Chauffeur ขับรถพาเธอไปยังที่เกิดอุบัติเหตุแทน เมื่อไปถึงยังที่เกิดเหตุ ชาแนลยืนอยู่ข้างรถที่มีสภาพพังยับเยิน ซึ่งยังไม่ได้รับการเคลื่อนย้ายออกไปจากจุดที่เกิดเหตุบริเวณริมถนน เธอเอามือไปแตะที่ซากรถ หลังจากนั้น น้ำตาของเธอก็เอ่อล้น แล้วกล่าวว่า “I’m losing Capel , I lost everything”

Chanel และ Capel ผู้เป็นที่รัก

Chanel และ Capel ผู้เป็นที่รัก

หลังการเปิดพินัยกรรมของคาเปล ชาแนลได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นจำนวนเงิน £40,000 ซึ่งเพียงพอที่จะนำเงินจำนวนนี้ ลงทุนสานต่อในธุรกิจของเธอต่อไป โดยชาแนลนำเงินส่วนหนึ่งในการขยับขยายร้านของเธอใน Rue Cambon รวมทั้งซื้อวิลล่าที่เมือง Garches ทางตะวันตกของปารีส

ปี ค.ศ 1920 หนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของคาเปล ชาแนลได้กลับมาผลิตสินค้าและออกแบบเสื้อผ้าอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชั่นใหม่ หมวก เครื่องประดับ และน้ำหอม โดยมีกลยุทธ์ในการทำตลาด คือ การเข้าสังคมพบปะพูดคุยกับผู้มีชื่อเสียง ที่มีอิทธิพลในแวดวงต่างๆ ในหลายๆ วงการ ด้วยความที่ชาแนลเป็นผู้หญิงที่เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ มีเสน่ห์ทำให้หลายๆ คนที่พบเห็นเธอต่างก็ชื่นชมและให้การสนับสนุนผลงานของเธอ

Chanel Boutique at 31 Rue Cambon

Chanel Boutique at 31 Rue Cambon

สิ่งต่าง ๆ มากมาย เกิดขึ้นในความคิดของชาแนล สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เคยเป็นดั่งรหัสของเธอและคาเปล สัญลักษณ์โมเสคใน Aubazine สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เธอเติบโตมา ตัวอักษรดับเบิ้ลซี (CC) รวมทั้งสีดำ ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่เธอเลือกสวมใส่ หลังการเสียชีวิตของคาเปล ทั้งหมดนี้ แปรเปลี่ยนความหมายของสีดำ จากการเป็นตัวแทนแห่งความโศกเศร้า และการไว้อาลัย ให้กลายมาเป็นตัวแทนของการเฉลิมฉลอง รวมถึงผู้นำแฟชั่นอันเก๋ไก๋

วันที่ 1 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1926 Gabrielle “Coco” Chanel ได้เผยแพร่ภาพวาดลายเส้นชุดกระโปรงสั้นสีดำ “Model 817” อันเรียบง่ายลงในนิตยสารโว๊ก ของอเมริกา (American Vogue) ว่ากันว่า เธอใช้เวลาในการคิดและวาดแบบชุดนี้ออกมาโดยใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมงครึ่งด้วยกัน ดีไซน์ความยาวของชุดอยู่ที่ประมาณครึ่งน่อง แขนยาว สิ่งเดียวที่ตกแต่งอยู่บนชุดนั้นคือ การเล่นสีโทนสว่าง รวมถึงการเดินเส้นเรียบ ๆ เพียงไม่กี่เส้นเท่านั้น ซึ่งทางโว็ก ให้สมญาณามชุดนี้ว่า “Chanel’s Ford” ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นชุดเดรสสีดำ LBD ชุดแรกเท่านั้น แต่ยังเป็นชุดเรียบง่ายที่สุภาพสตรีจากทุกชนชั้นในสังคม เข้าถึงชุดดังกล่าวได้ง่ายอีกด้วย

อีกทั้งการคาดการณ์ของโว็ก ที่ว่า Little Black Dress นี้ จะกลายเป็นชุดเครื่องแบบสำหรับผู้หญิงทุกคน ที่มีรสนิยมอย่างแน่นอน นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จของชาแนล ที่สะบัดคราบ ฉีกความหมายของ “สีดำ” จากการเป็นตัวแทนของความเศร้าโศกและการไว้ทุกข์ มาสู่โลกของแฟชั่นชั้นสูงที่มีแต่ความเก๋ไก๋ ทันสมัย ดังคำกล่าวของชาแนลที่ว่า “I imposed black; it’s still going strong today, for black wipes out everything else around.” 

ในช่วงปี ค.ศ. 1929-1939 เป็นช่วงที่โลกประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ของโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ “The Great Depression” เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงคราม การขยายตัวทางอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความเกินตัวของทุก ๆ พื้นที่ เข้าสู่จุดต่ำที่ฝืดเคืองที่สุด แต่ความนิยมของ LBD นั้นก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความหรูหราเก๋ไก๋ เข้ากับยุคสมัยข้าวยากหมากแพง ที่เหล่าผู้คนไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะหาซื้อเสื้อผ้าดี ๆ เพื่อเปลี่ยนแบบเปลี่ยนสีได้ทุกวัน

ภาพของเหล่าสุภาพสตรีในชุดกระโปรง A Little Black dress ในช่วงยุค 1920s

ภาพของเหล่าสุภาพสตรีในชุดกระโปรง A Little Black dress ในช่วงยุค 1920s

นิตยสารชื่อดังของอเมริกาในยุคนั้น ได้กล่าวชื่นชม LBD ว่าเป็นตัวแทนของความลักชัวรี่ ที่ไม่ว่าจะหยิบมาสวมใส่เมื่อไหร่ ก็ดูสง่างามคลาสสิกอยู่เสมอ อีกทั้งในช่วงปี ค.ศ. 1940-1965 เป็นยุคทองของภาพยนต์ ฮอลลิวูดและหนังคลาสสิกขาวดำ อิทธิพลของหนังฮอลลิวูดส่งผลให้ LBD ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากภาพยนต์ในยุคนั้น แสดงผลออกมาเป็นภาพขาวดำ ชุดของนักแสดงจึงเป็นสีอื่นไม่ได้นอกจากสีขาว-ดำ เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนของสีเมื่อแสดงผลทางจอ

LBD ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญบนโลกแฟชั่นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น Dior New Look ของ Christian Dior ที่ทำให้โลกแฟชั่นในยุค 1940s เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ด้วยการทะยานขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชุด Iconic Dress เปลี่ยนเมืองปารีสให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของแฟชั่นอย่างแท้จริง

อีกทั้งชุดกระโปรงสีดำ จากฝีมือของ Hubert de Givenchy แห่งแบรนด์ Givenchy ที่ถูกสวมใส่โดยตัวละคร Holly Golightly ซึ่งสวมบทบาทโดย Audrey Hepburn ปรากฏในภาพยนต์ในตำนานเรื่อง Breakfast at Tiffany’s เผยโฉมพร้อมกับเครื่องประดับมุก โดยในปี 2016 ชุดดังกล่าวได้รับการประมูล ซึ่งจัดโดยบริษัทประมูล Christie’s ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ราคาประมูลอยู่ที่ £470,000 หรือประมาณ US$800,000 (ประมาณ 17 ล้านบาท) ถือได้ว่าเป็น ชุด LBD ซึ่งได้รับความนิยมตลอดกาลอีกชุดหนึ่ง

Audrey Hepburn ในชุดกระโปรงสีดำโดยฝีมือของ Hubert de Givenchy ในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany's

Audrey Hepburn ในชุดกระโปรงสีดำโดยฝีมือของ Hubert de Givenchy ในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s

รวมถึงเจ้าหญิงไดอาน่า ไอคอนแฟชั่นแห่งยุค 90 ที่ปรากฏกายในชุดกระโปรงสีดำเปิดไหล่ ในงานปาร์ตี้ Serpentine Gallery’s summer party  ที่จัดขึ้นโดยวานิตี้ แฟร์ ในเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 1994 หลังจากที่เพิ่งเลิกรากับเจ้าชายชาร์ล อดีตพระสวามี เรียกเสียงฮือฮาในคืนนั้น เมื่อทุกคนต่างชมเป็นเสียงเดียว ว่าเจ้าหญิงไดอาน่า ดูสวยงามสะพรั่งในฉลองพระองค์สีดำชุดนั้นยิ่งนัก โดยชุดสวยตัวนั้นยังได้รับการขนานนามว่า The Revenge Dress หรือชุดแห่งการแก้แค้น ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้ดีทีเดียว

ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในชุดกระโปรงสั้นสีดำขลับเผยช่วงไหล่

ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในชุดกระโปรงสั้นสีดำขลับเผยช่วงไหล่

ชุด LBD กลายมาเป็นวัฒนธรรม ที่วนเวียนอยู่ในหลากหลายวงการมาทุกยุคทุกสมัย จากภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ในฮอลลิวู้ดตั้งแต่ยุค 1930s ไปจนถึงต้นยุค 1990s ชุดกระโปรงสั้นสีดำที่ว่าก็สามารถที่จะบูรณาการตัวเอง พร้อมแทรกตัวเข้าไปร่วมชนแก้วเฉลิมฉลองบนโต๊ะเดียวกันกับหลายวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ และยังคงเป็นที่นิยมจากเหล่าสุภาพสตรีทั่วโลกอยู่เสมอ

ความเสียใจเนื่องจากความสูญเสียของชาแนล ไม่ได้ทำให้เธอ ถูกกลืนหายไปในซากปรักหักพังของการสิ้นสุดความสัมพันธ์ของเธอกับ Boy Capel แต่กลับทำให้เธอก้าวไปข้างหน้าไปสู่ยุคแจ๊ส ขับเคลื่อนจินตนาการที่ไม่สิ้นสุดของโลกแฟชั่นไปข้างหน้าในภาพลักษณ์ของเธอเอง เป็นตัวแทนของผู้หญิงทุกคน จากอดีตและอนาคต โดยมีชุดสีดำเป็นสื่อกลาง รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและอิสรภาพ

Coco Chanel

Coco Chanel

นับตั้งแต่โคโค่ ชาแนล บุกเบิกชุดสีดำสุดเรียบง่ายแต่เก๋ไก๋ ไล่เรียงมาจนถึงเหล่าบรรดาเซเลปในชุดกระโปรงดำแสนสวยหลากหลายแบบในปัจจุบัน ซึ่งเราต่างได้เห็นถึงวิวัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบ ดีไซน์ของชุด LBD ภายใต้สีดำขลับอันลึกลับ ที่ยังคงเก็บซ่อนเรื่องราวของโลกแฟชั่นเอาไว้มากมาย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งไอเท่มสุดเก๋ที่ยืนหยัดอยู่ในโลกของแฟชั่น ที่ยังคงเฉิดฉายงดงาม ตลอดไป

รัก
xoxo

KATE