To top
23 Jun

Cartier Crash การบิดเบี้ยวจากความตายอันกลายมาเป็นตำนาน

Cartier Crash นาฬิการูปทรงบิดเบี้ยว ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำนานแห่งโลกนาฬิกาอันเป็นที่จับตาของเหล่าผู้หลงไหลในความสวยงามของเรือนเวลาวินเทจ อันเปรียบเสมือนงานศิลปะที่ทรงคุณค่า จากงานดีไซน์และความหายาก ซึ่งผลิตออกมาเพียง 200 เรือนทั่วโลกเท่านั้น แต่น้อยคนนักที่จะล่วงรู้ถึงความเศร้าเบื้องหลังดีไซน์แปลกตานี้ KATEXOXO จะพาทุกคนดำดิ่งไปสู่การสำรวจความจริงถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของแรงบันดาลใจ ในการออกแบบนาฬิกาแห่งตำนานรุ่นนี้ไปพร้อมกัน

 

History of the Cartier

เมื่อย้อนรอยประวัติศาสตร์ของแบรนด์ Cartier อัดแน่นไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและความโรแมนติก สาระสำคัญของสไตล์การออกแบบของ Maison คือความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ จะดึงดูดจินตนาการของนักสะสมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแต่ละยุค Cartier ก่อตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2390) โดย Louis-François Cartier (หลุยส์ ฟรองซัวร์ คาร์เทียร์)

Louis-François Cartier

Louis-François Cartier

หลังจากบริษัทได้ตกมาอยู่ภายใต้การบริหารของรุ่นลูกทั้ง 3 คน ได้แก่ Louis Cartier ซึ่งคุมโรงงานการผลิตอยู่ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส Pierre Cartier กับฐานการผลิตที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และ Jacques Cartier คุมบังเหียนอยู่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแบรนด์ให้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำเครื่องประดับและการผลิตนาฬิกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในช่วงศตวรรษที่ 20

คาร์เทียร์ไม่เคยเป็นผู้ตาม แบรนด์สุดหรูเก่าแก่แห่งแดนน้ำหอมนี้ มักเป็นผู้สร้างสรรค์นำเทรนด์อยู่เสมอ ซึ่งมักจะเกิดจากแรงบันดาลใจ ที่ค้นพบจากสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา ดังเช่นอีกหนึ่งนาฬิกาคลาสสิกรุ่นประวัติศาสตร์อย่าง Cartier Tank ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี ค.ศ. 1917 อันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เรโนลต์ FT-17 รถถังเบาที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การออกแบบนาฬิกาจึงคล้ายกับรถหุ้มเกราะและดอกยาง เมื่อมองจากด้านบน ในขณะที่ยังคงความสง่างามและฟังก์ชั่นมาตรฐานของนาฬิกาคาร์เทียร์ไว้

Cartier Tank 1917

Cartier Tank 1917

อีกทั้งยังมีการผลิตนาฬิกาสำหรับสุภาพสตรี ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนาฬิกาที่ได้การยอมรับและได้รับความนิยมอย่างสูงจากเหล่าบรรดาสุภาพสตรีชั้นสูงและบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสายอาชีพต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นั่นก็คือนาฬิการุ่น แบนัวร์ (Baignoire) อันเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีความหมายว่า “Bathtub” หรืออ่างอาบน้ำ เมื่อเข้าสู่ยุค 1960s ตัวเรือนได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง ให้มีขนาดยาวและรีมากขึ้น ภายใต้ชื่อรุ่น Baignoire Allongée หรือ Elongated Bathtub หมายถึงอ่างอาบน้ำแบบยาว

Cartier Baignoire

Cartier Baignoire

และนาฬิการุ่นนี้เอง ที่ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของนาฬิการุ่น Cartier Crash สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำนานลึกลับ ถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการออกแบบนาฬิการุ่นนี้ ซึ่งปัจจุบัน ก็ยังคงหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้เอาไว้ 3 ข้อดังนี้

  • ทฤษฎีแรก ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยตามตำนานกล่าวเอาไว้ว่า ในปี ค.ศ. 1967 มีหญิงชราคนหนึ่ง นำนาฬิการุ่น Baignoire Allongée ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากแรงกระแทกและความร้อนในอุบัติเหตุ ทำให้รูปทรงของตัวเรือนบิดเบี้ยว ไปส่งซ่อมที่ร้านคาร์เทียร์ สาขาลอนดอน ซึ่งทำให้ Jean-Jacques ผู้กุมกิจการของคาร์เทียร์ในสาขาลอนดอนในขณะนั้น ถูกตาต้องใจกับรูปทรงของนาฬิกาที่ได้รับความเสียหายเรือนนั้นเป็นอย่างมาก เป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกแบบนาฬิกาที่มีดีไซน์แปลกประหลาดบิดเบี้ยวดังกล่าวออกมา และตั้งชื่อรุ่นนาฬิกานั้นว่า Crash หรือความหมายว่า “ชน”
  • ทฤษฎีที่สอง กล่าวกันว่า นาฬิการุ่นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดชื่อ The Persistence of Memory และ Melting Watch อันเป็นผลงานของเจ้าพ่อศิลปะแนวเซอร์เรียลลิซึ่ม หรือลัทธิเหนือจริง นามว่า Salvador Dali โดยภาพวาดทั้งสองนั้น แสดงถึงภาพวาดนาฬิกาที่กำลังหลอมละลาย อ่อนย้วย จึงมีการนำรูปลักษณะของนาฬิการุ่นนี้ มาเปรียบเทียบกับภาพวาดระดับขึ้นหิ้งทั้งสอง
the Persistence of Memory

the Persistence of Memory

  • ทฤษฎีสุดท้าย มีข้อสันนิษฐานว่า นาฬิการุ่นนี้ ได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นการระลึกและให้เกียรติต่อการจากไปของผู้บริหารระดับสูงของ Cartier ซึ่งประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน ระหว่างขับขี่อยู่ในเมืองลอนดอน โดยอุบัติเหตุดังกล่าว ก่อให้เกิดเพลิงลุกไหม้ และแน่นอนว่าผู้บริหารได้สวมใส่นาฬิการุ่น Baignoire โดยมันถูกหลอมละลายจนผิดรูปผิดร่างจากความร้อน และนั่นคืออีกหนึ่งทฤษฎีของกำเนิดนาฬิการูปร่างบิดเบี้ยวดังกล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง จากบทความในหนังสือ The Cartiers: The Untold Story of the Family Behind the Jewelry Empire ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดย Francesca Cartier Brickell หลานสาวของ Jean-Jacque ได้อธิบายเอาไว้ว่า คุณปู่ของเธอต้องการสร้างนาฬิกาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกทางวัฒนธรรมแห่งยุค Swinging Sixties

The Cartiers: The Untold Story of the Family Behind the Jewelry

The Cartiers: The Untold Story of the Family Behind the Jewelry

ยุค Swinging Sixties ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เกิดขึ้นในเมืองลอนดอน ในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1960 หลังสถานการณ์อันตึงเครียดยาวนาน ซึ่งมีผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เยาวชนต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง และเรียกร้องอิสระ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีทั้งหมด เกิดจากข้อสันนิษฐานเพียงเท่านั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า เรื่องจริงหรือความเป็นมาของนาฬิกา Cartier Crash นี้ มีที่มาอย่างไร

 

Cartier Crash

ไม่ว่าความเป็นจริง จุดเริ่มต้นเรื่องราวของนาฬิการุ่นนี้จะเกิดจากอะไรก็ตาม ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ Jean-Jacques Cartier ทายาทรุ่นเหลนของผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของคาร์เทียร์ สาขาลอนดอน ความประทับในในเรื่องราวและรูปทรงอันบิดเบี้ยวแปลกตา ก่อกำเนิดนาฬิการูปทรงใหม่ และกลายมาเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้

Jean-Jacques Cartier

Jean-Jacques Cartier

แต่เดิม แบรนด์คาร์เทียร์ กระจายกำลังการผลิตนาฬิกาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ใน 3 สาขานั่นคือ สาขาปารีส สาขาลอนดอน และสาขานิวยอร์ค ซึ่งต่างได้รับอิสระในการออกแบบสินค้า ภายใต้แบรนด์เดียวกัน แต่สำหรับนาฬิการุ่น Crash แต่เดิมนั้น มีการผลิตเพียงแค่สาขาลอนดอนเท่านั้น (โปรดสังเกตุหน้าปัดช่วงหกนาฬิกา จะมีระบุตัวอักษรภาษาอังกฤษ London)

Jean-Jacques ยอมรับว่าเขา “ปวดหัวมาก” เนื่องจากความยากในการผลิต ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างซับซ้อน เพื่อให้เข็มบนหน้าปัดนาฬิกาอันบิดเบี้ยวไม่ได้สมมาตรนี้ สามารถชี้บอกเวลาเพื่อการอ่านเวลาที่แม่นยำ และในที่สุด Cartier Crash ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1967 ส่งผลให้นาฬิการุ่นนี้ ถูกผลิตออกสู่ตลาดในจำนวนน้อยมาก ๆ

โดยในช่วงแรกผลิตออกมาเป็นนาฬิกาสำหรับสุภาพบุรุษขนาดใหญ่ ยาว 43 มิลลิเมตรและกว้าง 23 มิลลิเมตร ใช้วัสดุในการผลิตส่วนใหญ่คือ เยลโลว์โกลด์ แต่ด้วยรูปทรงที่ออกจะแปลกตา รวมถึงความยากในการผลิต ซึ่งผลิตด้วยมือทุกเรือน จึงทำให้ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรในช่วงแรก และถูกผลิตออกสู่ตลาดในจำนวนที่น้อยมาก โดยรุ่นดั้งเดิมมีการผลิตทั้งหมดเพียง 200 เรือนทั่วโลก ขับเคลื่อนโดยกลไก JLC movements

ต่อมาช่วงราวปี 1970s คาร์เทียร์ได้เริ่มรวมศูนย์การผลิตนาฬิกาทั้งหมด มาไว้ที่เดียวคือเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าทางสาขาลอนดอนจะยังมีการผลิตนาฬิการุ่น Crash ออกมาบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ถูกย้ายมาผลิตที่เมืองปารีสทั้งหมด ในปี ค.ศ. 1991 โดยถูกผลิตให้มีขนาดเล็กกว่าเดิม ที่ 38 มิลลิเมตร (หน้าปัดในยุคหลังจึงระบุตัวอักษรบริเวณหกนาฬิกาว่า Paris) ซึ่งถึงแม้จะย้ายฐานการผลิต แต่ก็ยังผลิตนาฬิการุ่นนี้ออกมาในจำนวนจำกัดเช่นเดิม และตัวเลขการผลิตจากสาขาปารีสอยู่ที่ 400 เรือนเท่านั้น

หน้าปัด Paris

หน้าปัด Paris

Cartier Crash จึงกลายเป็นสมบัติล้ำค่า ที่นักสะสมทั่วโลกมองหา โดยมีมูลค่ามากกว่า $100,000 หรือประมาณ 3,150,000 บาท และถึงแม้ตลอดหลายปีมานี้ จะมีการผลิต Cartier Crash ออกมาอีกหลากหลายรูปแบบ ก็ล้วนเป็นสินค้า Limited Edition ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลกเช่นเดิม

สำหรับนาฬิกา Cartier Crash รุ่นผลิตครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1967 ตัวเรือนทำจากทอง 18K ได้ทุบสถิติยอดการประมูลนาฬิกาคาร์เทียร์สูงสุดในโลก ผ่าน Loupe-This แพลตฟอร์มประมูลนาฬิกาออนไลน์ โดยถูกประมูลในราคากว่า 1.5 ล้านดออล่าร์สหรัฐ ซึ่งจะมีการเพิ่มเบี้ยประกันภัยอีก 10% ส่งผลให้มูลค่าของมันเพิ่มเป็น 1.65 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 57 ล้านบาท

Cartier Crash 1967

Cartier Crash 1967

นาฬิกา ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้บอกเวลาของมนุษย์มานานนับพันปี โดยปกติรูปทรงนาฬิกาที่พบเห็นโดยทั่วไป จะมีรูปทรงกลมหรือสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปทรงมาตรฐานสำหรับแบรนด์นาฬิกาทั่วโลก ความแปลกแนวของนาฬิการุ่น Cartier Crash นั้น จึงไม่ได้เป็นเพียงความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น แต่มันยังเปรียบเสมือนงานศิลปะที่มีมูลค่าสูงลิบ ศิลปะบนเรือนเวลา ที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวอันลึกลับมากมาย เป็นสมบัติล้ำค่าแห่งโลกนาฬิกา ที่มีความหมายมากกว่าการเป็นเครื่องบอกเวลาเพียงอย่างเดียว

รัก
xoxo

KATE