To top
9 Nov

Vintage Chanel Jewelry – รสนิยม ความลึกลับ และความทรงจำ

Vintage Chanel JewelryChanel แบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีชื่อเสียง สัญลักษณ์แห่งความหรูหรา ภายใต้รูปตัว C ไขว้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ก่อตั้งโดย Gabrielle Bonheur “Coco” Chanel ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้กล่าวถึงเธอในแง่ถึงการเป็นแรงผลักดัน ในการปฏิวัติการแต่งกายของหญิงสาว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะนักออกแบบทางแฟชั่น ความคิดสร้างสรรค์ของเธอได้ปลดปล่อยผู้หญิงจากสไตล์การแต่งตัวเดิม ๆ สู่ความสวยงามแบบสปอร์ต ที่เน้นความสะดวกสบาย

จากธุรกิจเสื้อผ้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เธอได้ขยายไลน์การผลิต ไปสู่เครื่องหอม กระเป๋าถือ รวมทั้งเครื่องประดับ สายสร้อยยาวที่เธอสวมใส่เป็นประจำ รวมทั้งเครื่องประดับทุกชิ้นของเธอ เป็นหลักฐานแสดงถึงรสนิยม ความลึกลับ และความทรงจำอันมีค่า สำหรับบทความนี้จะพาทุกคนย้อนรอยไปยังจุดกำเนิดของคอลเลกชั่นเครื่องประดับอันงดงาม รวมถึงศึกษาสัญลักษณ์ที่ระบุบนเครื่องประดับแบบ Vintage ถ้าพร้อมแล้ว ติดตามไปพร้อมกันค่ะ

Vintage Chanel Jewelry - ชาแนลวินเทจ - วินเทจ

 

An Innovative Blend of Fine and Costume Aesthetics

ก่อนที่เครื่องประดับของแบรนด์ Chanel จะถือกำเนิด ย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920s การได้เป็นเจ้าของเครื่องประดับชั้นสูง ที่ทำจากโลหะชั้นดีและอัญมณีมีค่า จะจำกัดอยู่แค่บุคคลที่ร่ำรวย หรือราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น และแน่นอน เครื่องประดับที่เป็นของลอกเลียนแบบหรือถูกสร้างสรรค์จากวัสดุที่ด้อยราคากว่านั้น จะโดนดูถูกดูแคลนเป็นอย่างมาก

Coco Chanel มีความเห็นที่ขัดแย้งไปจากค่านิยมในสมัยนั้น เธอมีความคิดว่าเครื่องประดับ ควรมีไว้เพื่อประดับตกแต่งร่างกาย ซึ่งเน้นไปทางความสวยงาม มากกว่าการสวมใส่เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เธอได้มีโอกาสสัมผัสเครื่องประดับชั้นดี จากการที่เธอมีความสัมพันธ์กับคู่ครองที่ร่ำรวยหลายคน ทำให้เธอพบว่า การผสมผสานระหว่างวัสดุมีค่า กับวัสดุธรรมดาที่ราคาถูกกว่า กลับให้ผลลัพท์เป็นเครื่องประดับที่สวยงามไร้ที่ติ

Coco Chanel

Coco Chanel

ดังนั้น เธอจึงพังกำแพงประเพณีรวมถึงความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับข้อจำกัดในการสวมใส่เครื่องประดับ เธอได้ผสมผสานอัญมณีของแท้และของเทียม เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งสองโลกมาสู่การสร้างสรรค์ของเธอ ชาแนลชอบที่จะประดับประดาด้วยเครื่องประดับหลายชิ้นแทนที่จะจำกัด ไว้ที่เครื่องประดับชั้นดีราคาแพงหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้น และการออกแบบเสื้อผ้าที่เรียบง่ายของเธอ ก็เป็นฉากหลังที่สมบูรณ์แบบสำหรับเครื่องประดับเหล่านี้เช่นกัน

 

History of Chanel Jewelry

Chanel เริ่มการผลิตเครื่องประดับ เป็นครั้งแรก ในช่วงปี 1920s โดยแต่ละชิ้นส่วน ถูกสร้างสรรค์มาให้เข้ากับทุกสไตล์การแต่งตัว ในช่วงแรก เครื่องประดับของ Chanel ถูกออกแบบโดย Etienne de Beaumont ในขณะนั้น ยังไม่ได้มีการระบุแบรนด์ลงบนเครื่องประดับนั้น ๆ และผู้ที่สามารถเป็นเจ้าของสินค้าพิเศษนี้ จะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ Chanel เท่านั้น

ชาแนล เริ่มสายการผลิตเครื่องประดับของเธอครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1921 เธอเป็นนักออกแบบคนแรกที่ใช้เครื่องประดับมาช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์โดยรวมของการแต่งกาย เสื้อผ้าของเธอ ได้รับการออกแบบอย่างเรียบง่าย สร้างความโดดเด่นให้กับเครื่องประดับที่เธอสวมใส่ โดยมักจะเห็นเธอ มาพร้อมกับเครื่องประดับที่เป็นสายสร้อยมุกขนาดยาวพันรอบคอด้วยเสมอ จนเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเธอไม่ลังเลที่จะผสมผสานไข่มุกจริงและเทียม เพื่อเป็นเครื่องประดับ ที่สามารถใช้ได้ในทุกโอกาส

ในปี ค.ศ. 1927 Chanel ได้เชิญ Fulco di Verdura นักออกแบบเครื่องประดับ มาออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับให้เธอ โดย ร่วมกันออกแบบกำไลข้อมือเคลือบสีขาว ภายใต้ชื่อ “Chanel Maltese Cross cuffs” ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจาก The star of the Knights of Malta ประดับประดาด้วยหินสังเคราะห์หลากสี มีลักษณะหินเคลือบด้วยสีดำตรงกลางและประดับด้วยไม้กางเขนมอลตาที่ทำจากหินสีต่างๆ

Fulco di Verdura กับ Chanel

Fulco di Verdura กับ Chanel

เครื่องประดับคอลเลกชั่น Chanel Maltese Cross ถือได้ว่าเป็นเครื่องประดับรุ่นแรก ๆ ที่โดดเด่นที่สุดรุ่นหนึ่งของแบรนด์ เปิดตัวสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1930 และเป็นต้นแบบให้กับการผลิตเครื่องประดับของแบรนด์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี ค.ศ. 1932 ชาแนล ได้จินตนาการและทำการออกแบบคอลเลกชั่น Bijoux de Diamants ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องประดับชั้นสูงชิ้นแรกของเธอ การออกแบบที่งดงามไม่เหมือนใคร ด้วยชิ้นงานที่เน้นความงามของท้องฟ้า ประกอบไปด้วย ดาวหาง ดวงดาว และดวงอาทิตย์ สัญลักษณ์อันเป็นนิรันดร์ ซึ่งคอลเลกชั่นนี้ จัดแสดงอย่างเป็นส่วนตัว ที่ห้องพักของเธอในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

เครื่องประดับของชาแนล ไม่ได้หยุดอยู่แค่การผสมผสานมุกเทียม (faux pearls) กับมุกแท้เข้าด้วยกันอย่างลงตัวเท่านั้น เธอยังมีความคิดที่ว่า เครื่องประดับควรเป็นของที่มีราคาย่อมเยา และเป็นสิ่งที่สามารถสวมใส่ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญหายหรือแตกหัก การออกแบบของ Chanel ไม่ได้หมายถึงการพยายามสร้างของปลอมให้เป็นของแท้ แต่มันคือการทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่เป็นอิสระ และเหมาะสมกว่าจากสิ่งที่เคยถูกจำกัดมาก่อนหน้านี้

นอกจากนั้น ชาแนลยังได้ร่วมมือกับนักอัญมณีผู้มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จระดับโลกอีกมากมาย อาทิเช่น Augustine Gripoix, Duke of Verdura และ Victoire de Castellane ชาแนลออกแบบเครื่องประดับของเธอเพื่อเสริมความโดดเด่นบนเครื่องแต่งกายที่เธอได้ทำการออกแบบ โดยในสมัยเริ่มแรก ยังไม่มีการประทับตราหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ลงบนชิ้นงาน ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างมาก ในการตรวจสอบความเป็นของแท้ในปัจจุบัน

จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านของชาแนล ที่ Rue Cambon ได้ถูกปิดลง และถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1954 หลังจากนั้น จึงมีการประทับตราลงบนเครื่องประดับของเธอทุกชิ้น สัญลักษณ์เริ่มแรก เป็นแบบเรียบง่าย โดยระบุเพียงคำว่า “CHANEL” ซึ่งจะถูกประทับลงบนชิ้นงานโดยตรงหรือติดผ่านป้ายห้อยเล็ก ๆ ในช่วงนี้เองที่มีต่างหูและเข็มกลัดดอกคามิเลียที่มีชื่อเสียงปรากฏตัวครั้งแรก

ชาแนล ได้ชักชวนให้ Robert Goossens (โรเบิร์ต กู๊ดเซิน)  ผู้ก่อตั้งโรงช่างฝีมืองานทองมือหนึ่งของฝรั่งเศส ให้เข้ามารับตำแหน่งเป็นหัวหน้านักออกแบบเครื่องประดับของแบรนด์ มาร่วมรังสรรค์เครื่องประดับ ที่มีสไตล์เฉพาะตัว การผสมผสานทองคำกับเพชรแท้ และในช่วงทศวรรษที่ 1960s Goossens และ Chanel  ร่วมกันออกแบบสร้อยคอ ที่มีการประดับประดาด้วยลูกปัด ไข่มุกและดอกไม้

Robert Goossens

Robert Goossens

ในปี ค.ศ. 1971 Coco Chanel เสียชีวิตลงในวัย 87 ปี อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณอิสระ ที่เธอได้ถ่ายทอดลงบนผลงานเครื่องประดับของเธอทุกชิ้น สร้างชีวิตชีวาให้กับผู้ที่ได้สวมใส่ ชาแนลเปรียบเสมือนกระบอกเสียง ตัวแทนของหญิงสาวในยุคนั้น ให้ลุกขึ้นมาทลายกำแพงรวมทั้งข้อจำกัดในการสวมใส่เครื่องประดับ เธอเชื่อว่า ผู้หญิงควรมีความมั่นใจและสบายใจ ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นดี ที่ผสมผสานหลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงเพียงอย่างเดียวเสมอไป

หลังการจากไปของชาแนล Karl Lagerfeld ได้สานต่อเจตนารมณ์ของเธอ ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ หยิบยกเส้นสายของเครื่องประดับชาแนลในแต่ละฤดูกาล ตัวอักษรไขว้ CC จะโดดเด่นเป็นตัวหลักบนเครื่องประดับทุกชิ้น ตั้งแต่ต่างหู กำไลข้อมือ หรือสายสร้อยคอ (Sautoirs) ผสมผสานกับอัญมณีงดงามรวมถึงเครื่องเพชร ก่อเกิดผลงานอันน่าทึ่งอีกหลายชิ้นงาน แต่ยังคงกลิ่นอายและเอกลักษณ์ของความเป็นชาแนลไว้ไม่เสื่อมคลาย

ปัจจุบัน การผลิตเครื่องประดับทั้งหมด อยู่ภายใต้การดูแลของ Desrues ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับ Chanel มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เป็นต้นมา

 

Chanel Jewelry Marks

เครื่องประดับทุกชิ้น ที่ได้รับการผลิตขึ้น ก่อนการปิดตัวของร้านที่ Rue Cambon ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังไม่มีการระบุสัญลักษณ์ใด ๆ ลงบนชิ้นงาน ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 50s ยังไม่มีการผลิตเครื่องประดับ ที่ตีตรา Chanel อย่างเป็นทางการ แต่มีลักษณะเด่นบางประการ ที่สามารถทำการตรวจสอบได้ ดังตัวอย่างที่เห็นในภาพด้านล่าง ผลงานชิ้นนี้ น่าจะถูกผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1950 หรือ ’60s และอาจมีการจำหน่ายร่วมกับเสื้อผ้าจากแบรนด์ Chanel

เครื่องประดับช่วง1950 หรือ '60s

เครื่องประดับช่วง1950 หรือ ’60s

ไลน์ของเครื่องประดับที่เป็นรูปเป็นร่างพร้อมกับชิ้นส่วนเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ถูกผลิตขึ้น และมีการระบุเครื่องหมายของชาแนลลงบนตัวชิ้นงานในปี ค.ศ. 1941 มีการอ้างอิงจากนักศึกษาประวัติศาสตร์เครื่องประดับชาแนลว่า ตราประทับเหล่านี้ ผลิตโดย Chanel Novelty Co. ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของ Reinad (บริษัทเครื่องประดับเครื่องแต่งกายสัญชาติอเมริกันที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก) ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ดำเนินการต่ออย่างเป็นทางการเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การระบุเครื่องหมายเหล่านี้จึงถูกยุติไปในที่สุด

ตราประทับช่วง 1939 - 1941

ตราประทับช่วง 1939 – 1941

จนกระทั่งในช่วงปี 1950s ถึง 60s จึงมีการระบุตัวอักษร “CHANEL” ตัวพิมพ์ใหญ่ ลงบนตัวชิ้นงาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เรียบง่ายและสลักลงบนชิ้นงานโดยตรง โดยใช้รูปแบบสัญลักษณ์นี้เรื่อยมา จน Chanel เสียชีวิตในปี 1971

สัญลักษณ์บนเครื่องประดับในช่วงปี 1950s ถึง 60s

สัญลักษณ์บนเครื่องประดับในช่วงปี 1950s ถึง 60s

และบางครั้ง คุณอาจพบสัญลักษณ์เป็นรูปดาว 3 ดวง ด้านใต้ตัวอักษร CHANEL นั่นหมายถึงเครื่องประดับชิ้นนั้น ผลิตขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960s หรือต้นทศวรรษที่ 70

หลังปี ค.ศ. 1974 เครื่องประดับจาก Chanel มีการระบุเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ลงบนแผ่นลักษณะเป็นรูปวงกลม ซึ่งห้อย หรือติดอยู่บนตัวเครื่องประดับนั้น ๆ ตัวเครื่องหมายประกอบด้วยตัวอักษร CHANEL ตัวพิมพ์ใหญ่ ตามด้วยสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า ® บรรทัดถัดมาเป็นตัวอักษร CC ไขว้ ตามด้วยคำว่า MADE IN FRANCE หรือปีที่ผลิตสินค้าชิ้นนั้น ๆ  ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา สัญลักษณ์เหล่านี้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ

และนี่คือช่วงเวลาที่ Karl Largerfeld เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้านักออกแบบ หลังจากปี 1983 เป็นต้นมา เขาพยายามอย่างมากในการคิดค้นตราสัญลักษณ์ ที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งสไตล์การออกแบบที่มีคุณภาพ สวยงาม รวมทั้งทันสมัย โดยในปีต่อมา เขาได้แต่งตั้ง Victoire de Castellane ช่างออกแบบเครื่องประดับ ชาวฝรั่งเศส ให้เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบเครื่องประดับ และเธอได้ผลิตชิ้นงาน Chanel ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งน่าสะสมและยังคงเป็นแรงบันดาลใจจนถึงปัจจุบัน

ในระหว่างที่เธอร่วมงานกับแบรนด์ ในช่วงปี ค.ศ. 1984 ถึง 1998 นั้น เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์อันน่าอัศจรรย์ เธอเปลี่ยนจากระบบระบุปีที่ผลิตลงบนชิ้นงาน มาสู่แนวคิดการจัดระเบียบตามฤดูกาลที่คอลเลกชั่นนั้น ๆ  โดยมีการระบุหมายเลข 2 ทางด้านซ้าย และหมายเลขทางด้านขวา มีความหมายคือ ซีซั่นนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากพบเห็นหมายเลข 3 ทางด้านขวา นั่นหมายถึง ซีซั่นที่ 23 ถ้าเป็นหมายเลข 6 หมายถึง ซีซั่นที่ 26 โดยเริ่มต้นจากซีซั่นที่ 23 และจบลงด้วยซั่นที่ 29 ซึ่งจะตรงกับปี 1984 – 1990 โดยประมาณ

เครื่องประดับ ซีซั่น 23

เครื่องประดับ ซีซั่น 23

ในปี ค.ศ. 1985 เป็นต้นมา คำว่า MADE IN FRANCE ถูกแทนที่ด้วยตัวเลข ตัวโลหะถูกเปลี่ยนรูปร่างจากวงกลมเป็นวงรี และสัญลักษณ์ ® จะอยู่ถัดจากโลโก้ CC ไขว้ โดยแผ่นโลหะนี้ อาจถูกแยกจากตัวเครื่องประดับ หรือบางครั้งอาจแนบไปกับตัวเครื่องประดับเลยก็ได้

 

Chanel Oval Mark – 1990s and Later

ในช่วงปี ค.ศ. 1990 – 1991 ตราสัญลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยระบบอ้างอิงตัวเลข จะไม่พบในสัญลักษณ์รุ่นนี้ จะมีแค่ตัวอักษร “CHANEL” ที่ด้านบนของแผ่นโลหะ สัญลักษณ์ CC ไขว้ตรงกลาง และ “MADE IN FRANCE” ด้านล่าง ชิ้นส่วนที่มีแท็กลักษณะนี้ผลิตขึ้นสำหรับซีซั่น 1990/91 (ตั้งแต่ปี 1990 Chanel เริ่มทำต่างหูและแหวนมากขึ้นซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นเครื่องหมายต่าง ๆเนื่องจากมีขนาดเล็ก)

เครื่องประดับ ซีซั่น 1990/91

เครื่องประดับ ซีซั่น 1990/91

หลังจากปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง ตัวเลขสองหลักที่แสดงถึงปีปรากฏทางด้านซ้ายของโลโก้ CC ไขว้ โดยอีกด้าน จะปรากฏตัวอักษร “P” ย่อมาจากคำว่า Printemps ซึ่งแปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ หรือ “A” ย่อมาจาก Automne ซึ่งหมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งระบุอยู่ทางด้านขวาของตัว CC ไขว้ ตามด้วย MADE IN FRANCE ด้านใต้สุด ระบุบนแผ่นโลหะรูปวงรี ซึ่งจะติดห้อยอยู่กับเครื่องประดับชิ้นนั้น ๆ หรือติดอยู่บนชิ้นงานเลยก็ได้

ปี 1993 คอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ

ปี 1993 คอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ

โดยเครื่องหมายลักษณะนี้ ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน บางครั้ง อาจพบได้ว่าเครื่องประดับบางชิ้น อาจระบุ MADE IN ITALY นอกเหนือจาก MADE IN FRANCE ก็ได้ ปัจจุบัน ตัวอักษร C ถูกเพิ่มเข้ามา โดยระบุอยู่ทางด้านขวาของ CC ไขว้ ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Croisière” เป็นเครื่องประดับจาก Cruise Collection จะทำการระบุเครื่องหมายลงบน กำไล สร้อยคอ และเข็มกลัด โดยมาในรูปแบบของตัวล็อคมากกว่าการระบุบนแผ่นโลหะรูปวงรี

อาจพบว่าเครื่องประดับบางชิ้น มีการระบุตัวอักษร “V” อันหมายถึง continuous line ซึ่งพบเห็นได้ยากกว่า คอลเล็กชั่นจากแฟชั่นโชว์ใหญ่จาก Spring and Fall collection เครื่องประดับที่จำหน่ายในร้านบูทีคของชาแนลตั้งแต่ปี 2000s เป็นต้นมา มีลักษณะคล้ายกันมาก ชิ้นงานที่ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมาบางชิ้น อาจมีการระบุ เครื่องหมาย Made in Italy โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น Made in France เสมอไป ซึ่งพบเห็นได้มากขึ้นในคอลเล็กชั่นปัจจุบัน รวมถึงการประทับตราด้วยเลเซอร์

ตราประทับในยุคใหม่

ตราประทับในยุคใหม่

เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งในด้านการออกแบบของ Coco Chanel รวมถึงความลึกล้ำในด้านความคิดสร้างสรรค์ของเธอ ที่ทำให้เครื่องประดับ Chanel สามารถก้าวข้ามไปสู่ด้านอื่น ๆ ของแฟชั่นและเปลี่ยนค่านิยมเดิม ๆ ที่จำกัดอยู่ในกรอบประเพณีอันน่าเบื่อ การเปลี่ยนแปลงที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนคาดไม่ถึง โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านทุกชิ้นงาน ที่มีความงดงามในแบบของตัวเอง

ชาแนล ได้เปลี่ยนแนวความคิดแบบเดิม ๆ ของการสวมใส่เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ให้กลับกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมอย่างสูง โดยกล่าวไว้ว่า “Costume jewellery isn’t made to provoke desire, just astonishment at most. It must remain an ornament and an amusement,” ความแตกต่างนั้นยังคงเป็นเสน่ห์ของแบรนด์จนถึงทุกวันนี้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนยังคงชื่นชอบคอลเลกชั่นเครื่องประดับจาก Chanel

รัก
xoxo

 

KATE