Porsche (พอร์เชอ) เป็นแบรนด์รถสปอร์ตสัญชาติเยอรมัน ซึ่งคุ้นหูคุ้นตาคนไทยเป็นอย่างดี กับรูปทรงคล้ายกบอันเป็นเอกลักษณ์ เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ผลิตรถสปอร์ตที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลก ที่วงการรถสปอร์ตให้การยอมรับและรู้จักกันดี ภายใต้สัญลักษณ์ม้าป่าแห่งเมือง ชตุทท์การ์ท แต่รู้หรือไม่? ก่อนที่ Porsche จะมาเป็นแบรนด์รถสปอร์ตระดับโลกนั้น เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในการแบบรถถังร่วมกับฝ่ายนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน เรื่องราวของม้าป่าตัวนี้ จะน่าสนใจขนาดไหน เราจะพาทุกท่านย้อนเวลาไปหาคำตอบพร้อมกัน
The Founder : ผู้ก่อตั้ง
Porsche AG เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ของประเทศเยอรมนี ก่อตั้งโดย ดร. แฟร์ดีนันท์ พอร์เชอ (Dr.Ferdinand Porsche) วิศกรยานยนต์ ย้อนกลับไปเมื่อ 145 ปีก่อน เด็กชายพอร์เชอ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี ค.ศ. 1875 ในครอบครัวชาวเยอรมัน ที่เมืองมัฟเฟอร์ดอร์ฟแถบโบฮีเมีย ซึ่งสมัยนั้นเมืองนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเช็ก /The Czech Republic)
พอร์เชอ ได้ฉายแววความเป็นนักประดิษฐ์ ด้วยความสามารถในการทำงานเครื่องกลตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเริ่มจากการคิดค้นกระดิ่งและติดมันหน้าบ้านเมื่ออายุได้เพียง 13 ปี จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 16 ปี เขาก็เริ่มศึกษารวมถึงทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วยตัวเอง นอกจากนี้ พอร์เชอ จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของเขาหลังเลิกเรียน ไปกับการอยู่เป็นผู้ช่วยให้กับพ่อของเขาที่ร้านซ่อมเครื่องจักรกล จนเมื่อเขาอายุได้ 18 ปี ในปี ค.ศ. 1893 เขาได้เริ่มทำงานที่ Bela Egger & Co., เป็นโรงไฟฟ้าที่เวียนนา ซึ่งภายหลังถูกเปลียนชื่อเป็น Brown Boveri
ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้สมัครเป็นนักศึกษาฝึกงาน Part-Time ที่ Imperial Technical University ณ เมือง Reichenberg (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Vienna University of Technology) หลังจากนั้นไม่กี่ปีขณะทำงานอยู่ที่ Bela Egger & Co., ความสามารถของเขาต้องตาต้องใจหัวหน้างานเป็นอย่างมาก พอร์เชอ จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากพนักงานธรรมดา ๆ สู่ตำแหน่งผู้บริหาร
ปี ค.ศ. 1897 เป็นปีที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอันท้าทายของพอร์เชอ เขามีผลงานการประดิษฐ์ที่โดดเด่นหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือการประดิษฐ์มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า อันเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนามาจาก นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน นามว่า Wellington Adams (เวลลิงตัน อดัมส์) เมื่อหลายสิบปีก่อน หลังจากนั้น เขาได้เริ่มทำงานในแผนกรถยนต์ไฟฟ้า ในบริษัทที่สร้างขึ้นใหม่มีชื่อว่า Hofwagenfabrik Jacob Lohner & Co., ซึ่งเป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ที่กรุงเวียนนา และในปี ค.ศ. 1898 พอร์เชอ ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าคันแรก โดยมีชื่อเรียกว่า Egger-Lohner electric vehicle C.2 Phaeton (หรือที่รู้จักกันในนาม P1)
ในปี ค.ศ. 1900 ความสามารถทางด้านวิศวกรของพอร์เชอ ได้ส่องประกายสู่ระดับสากลที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อระบบมอเตอร์ขับเคลื่อนล้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเขา ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ที่เข้าร่วมงาน World’s Fair of 1900 เป็นอย่างมาก ในปลายปีนั้นเอง พอร์เชอ ได้ทำการทดสอบเครื่องยนต์ของเขา โดยนำลงแข่งขันในงาน Semmering circuit ใกล้ ๆ กรุงเวียนนา และสามารถคว้าชัยชนะมาได้
ระบบมอเตอร์ของเขา ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ผ่านอุปกรณ์ผลิตพลังงานบริเวณดุมล้อ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “Lohner-Porsche” ยานพาหนะของเขา ได้กลายเป็นพื้นฐานในการพัฒนารถยนต์โดยสารแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ all-wheel-drive อันเป็นยานพาหนะคันแรกในโลก และในปีเดียวกันเขายังได้สร้างต้นแบบรถยนต์ไฮบริด จากการผสมผสานการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid electric vehicle) รวมถึงการสร้างเชื้อเพลิงแบบเบนซิลเป็นครั้งแรก
ความสำเร็จของพอร์เชอ ยังคงไม่หยุดอยู่แค่นั้น หลังจากที่ทำงานในบริษัท Lohner มาเกือบ 8 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1906 เขาได้กลายเป็นผู้จัดการด้านเทคนิคให้กับบริษัท Austro-Daimler จนถึงปี ค.ศ. 1923 เข้าได้ย้ายไปอยู่ที่บริษัท Daimler-Motoren-Gesellschaft ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง ชตุทท์การ์ท (Stuttgart) ในตำแหน่งผู้จัดการด้านเทคโนโลยีและกรรมการบริหาร ความโดดเด่นในสายอาชีพของเขารวมไปถึงการดูแลการก่อสร้างรถยนต์ Mercedes compressor ถือว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างมากเลยทีเดียว
ในปีถัดมา คือ ปี ค.ศ. 1924 พอร์เชอ ได้กลายเป็นผู้ชนะ ในการแข่งขัน Targa Florio race ด้วยรถยนต์ Mercedes compressor ที่เขาได้ทำการออกแบบ หลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ พอร์เชอ ยังได้ทำการออกแบบรถยนต์ออกมาอีกหลายรุ่น อาทิเช่น Mercedes-Benz S, SS และ SSK ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสปอร์ตและความสำเร็จในการแข่งขัน หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1927 พอร์เชอได้ออกจากบริษัท Daimler ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคนิคให้กับบริษัท Steyr-Werke AG ในออสเตรีย
พอร์เชอ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก Imperial Technical University เมื่อปี ค.ศ. 1917 รวมทั้งยังได้รับรางวัลศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งชาติของเยอรมัน (German National Prize for Art and Science) ในปี ค.ศ. 1937 อีกด้วย เป็นการตอกย้ำความสำเร็จและความสามารถของเขาที่มีปรากฏอย่างเด่นชัด
พอร์เชอ สมรสกับ Aloisia Johanna Kaes เมื่อปี ค.ศ. 1903 และมีลูกชายลูกสาวด้วยกันทั้งหมด 2 คน คือ Louise และ Ferdinand Anton Ernst (Ferry) ลูกสาวของเขา หลุยส์ ภายหลังได้แต่งงานกับทนายและนักกฏหมายชาวเวียนนา นามว่า Dr. Anton Piëch หลังการเสียชีวิตของ พอร์เชอ ในปี ค.ศ. 1952 เธอเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารของ Porsche Konstruktionen GmbH ส่วนลูกชาย เฟอร์รี่ หลังจากสงคราม เขาก็ได้นั่งตำแหน่งผู้บริหาร และสามารถนำพาบริษัทไปสู่จุดสูงสุดได้ เปลี่ยนจากแค่บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบด้านยานยนต์ไปสู่ผู้ผลิตรถสปอร์ต ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
Building a Company
พอร์เชอ ได้ลาออกจากบริษัท Daimler เมื่อปี ค.ศ. 1931 เพื่อก่อตั้งบริษัทของเขาเอง ภายใต้ชื่อ “Dr. Ing. h. c. F. Porsche GmbH, Konstruktionen und Beratung für Motoren und Fahrzeuge,” หรือ Dr. Ing. h. c. F. Porsche GmbH โดยเริ่มแรกเป็นเพียงบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนามอเตอร์และเครื่องยนต์เท่านั้น ยังไม่มีการผลิตรถยนต์ภายใต้ชื่อของตัวเอง โดยจดทะเบียนพาณิชย์เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1931
หลังจากก่อตั้งบริษัทได้เพียง 3 ปี ในปี ค.ศ. 1934 พอร์เชอ ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ภายใต้ชื่อโครงการ “people’s car” ซึ่งต้องการรถยนต์ขนาดเล็กที่เปี่ยมด้วยประโยชน์ใช้สอยและราคาถูก ให้กับประชาชน โดยทำงานร่วมกับลูกชายของเขา เฟอร์ดินานด์ แอนตัน เอิร์นส์ พอร์เชอ (Ferdinand Anton Ernst Porsche) หรือชื่อเล่นว่า “เฟอร์รี” ในตำแหน่งที่ปรึกษาของ Volkswagen นั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบ Volkswagen รุ่นแรก ภายใต้ชื่อ “Volkswagen V3 concept” เมื่อปี ค.ศ. 1935 และถือเป็นต้นแบบของ Volkswagen Beetle ซึ่งยังคงมีให้เห็นจนถึงยุคปัจจุบัน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอร์เชอ และลูกชาย ถูกทาบทามโดยฮิตเลอร์ ให้ไปเป็นวิศวกรของกองทัพ รับหน้าที่ออกแบบรถถังและอาวุธ ให้กับโครงการที่มีชื่อว่า “Tiger” พอร์เชอ ได้ส่งต้นแบบร่างที่มีชื่อว่า “VK4501” พร้อมด้วยเทคโนโลยีการขับเคลื่อนขั้นสูง ซึ่งยากที่จะใช้ได้จริงในสนามรบ ดังนั้น สัญญาการผลิตรถถัง “Panzer tanks” จึงตกไปอยู่กับบริษัทคู่แข่งอย่าง Henschel & Sohn โดยใช้ 90% จากแบบร่างของพอร์เชอแต่มีการดัดแปลงเล็กน้อย ภายใต้ชื่อ “Ferdinand” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “Elefant” สร้างขึ้นแล้วเสร็จ ในปี ค.ศ. 1943
เมื่อครั้นสงครามสิ้นสุดลง เมื่อปี ค.ศ. 1945 พอร์เชอ ถูกทหารฝรั่งเศส จับตัวไปเป็นเชลยศึก (เหตุเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับพวกนาซี) และถูกต้องโทษให้จำคุกเป็นเวลา 22 เดือน ในขณะที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ลูกชายของเขา ก็ได้รับหน้าที่ดูแลในการสร้างสรรค์รถแข่งรูปแบบใหม่ “The Cisitalia” เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถพบรถยนต์ที่สามารถสนองความต้องการของเขาได้ในท้องตลาด จนกระทั่งเมื่อพอร์เชอถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1947 เขาได้กล่าวกับลูกชายว่า “I would have built it exactly the same, right down to the last screw.”
รถยนต์ต้นแบบ The Cisitalia นั้น ถูกนำไปโชว์ให้แก่ดีลเลอร์รถยนต์หลายแห่งในเยอรมนี และเมื่อมียอดการสั่งจองรถที่เพียงพอ การผลิตรถยนต์คันแรกของแบรนด์ จึงเริ่มต้นขึ้น ทั้งคู่ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการรถสปอร์ต เมื่อพวกเขาไปทำการเปิดตัวรถสปอร์ตเป็นคันแรก ภายใต้ชื่อ “Porsche 356 Roadster” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1948
Porsche 356 Roadster
Porsche 356 Roadster หรือ “รถหมายเลข 1” คือรถสปอร์ตที่อยู่ในความฝันของ Ferry Porsche ที่กลายมาเป็นความจริง เป็นรถสปอร์ตรุ่นแรกที่ออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ โดย 356 Roadster นั้น มีน้ำหนักตัวถังที่เบา เครื่องยนต์บรรจุด้านหลัง ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง 2 ประตู มีจำหน่ายทั้งในแบบ coupé และแบบเปิดประทุน cabriolet
การผลิตรถยนต์รุ่นนี้เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 ที่เมือง Gmünd ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีรถที่ได้รับการผลิตออกมาทั้งสิ้น 50 คัน ทุกคันทำการประกอบด้วยมือทั้งสิ้น หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1950 ได้มีการย้ายโรงงานการผลิต ไปที่เมือง Zuffenhausen ประเทศเยอรมนี
นวัตกรรมทางวิศวกรรมยังคงดำเนินต่อไปในช่วงหลายปีของการผลิต นำไปสู่ความสำเร็จและความนิยมในกีฬามอเตอร์สปอร์ต จนกระทั่งเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1965 หลังจากมีการเปิดตัวรถยนต์ รุ่น 911 ความนิยมของ รุ่น 911 ได้เข้ามาแทนที่ในทันที ทำให้ยอดการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ ที่จากเดิมผลิตได้ 76,000 คัน ลดลงไปกว่าครึ่ง โดยราคาจำหน่ายที่มีการบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1948 นั้น สำหรับใน รุ่น 356 coupé อยู่ที่ US$3,750 หรือประมาณ 118,000 บาท และในรุ่น 356 Cabriolet อยู่ที่ US$4,250 หรือประมาณ 133,000 บาท
ในเดือนพฤษจิกายน ปี ค.ศ. 1950 พอร์เชอ ได้เยี่ยมชมโรงงาน Wolfsburg ของ Volkswagen เป็นครั้งแรก หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอร์เชอ ได้ใช้เวลาของเขาไปกับการสนทนากับประธานบริหารของ Volkswagen Heinrich Nordhoff (เฮ็นริ ชอร์นฮอฟ) เกี่ยวกับอนาคตของ “The Beetle” ซึ่งกำลังมีการผลิตเป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นไม่นาน พอร์เชอ มีอาการป่วย จากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) เขามีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิตอย่างสงบ ที่เมือง ชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 30 มกราคม ปี ค.ศ. 1951 สิริรวมอายุได้ 75 ปี เขาได้รับการบันทึกชื่อเข้าสู่หอเกียรติคุณมอเตอร์สปอร์ตระหว่างประเทศ (International Motorsports Hall of Fame) เมื่อปี ค.ศ. 1996 และได้รับรางวัลวิศวกรแห่งศตวรรษ ในปี ค.ศ. 1999
หลังการเสียชีวิตของพอร์เชอ ลูกชายของเขา เฟอร์รี่ พอร์เชอ ก็ได้สานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อ สืบทอดงานของตระกูล จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน คือ Wolfgang ซึ่งกุมอำนาจสูงสุดในการสั่งการ และกำหนดทิศทางของบริษัท โดยรายได้จากการขายรถมีมากจนสามารถติดอันดับต้น ๆ ของเยอรมัน
xoxo