To top
26 Aug

ประวัติ Vacheron Constantin เรือนเวลาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ประวัติ Vacheron Constantin (วาเชอรอง คอนสแตนติน) ผู้ผลิตนาฬิกาและนาฬิกาหรูสัญชาติสวิสซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1755 ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 267 ปี ที่วาเชอรอง คอนสแตนติน ยืนหยัดอยู่บนโลกของผู้ผลิตเครื่องบอกเวลาสวิสที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีประวัติการผลิตนาฬิกาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้ง KATEXOXO จะพาย้อนเวลาไปทำความรู้จักกับแบรนด์เรือนเวลาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี้พร้อมกัน

 

Early history

เรื่องราวของเรือนเวลา Vacheron Constantin (วาเชอรอง คอนสแตนติน) เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1755 โดย Jean-Marc Vacheron (ฌอง มาร์ค วาเชอรอง) ช่างซ่อมนาฬิการะดับปรมาจารย์ ผู้ผลิตนาฬิกาอิสระในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 24 ปี ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะต่อยอดและส่งต่อทักษะอันเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาที่มีคุณภาพสูงให้กับรุ่นต่อ ๆ ไป

Jean-Marc Vacheron

Jean-Marc Vacheron

ฌอง มาร์ค วาเชอรอง เป็นเพื่อนสนิทของนักปรัชญาการตรัสรู้ชั้นนำ Jean-Jacques Rousseau (ฌอง-ฌาค รุสโซ) และ Voltaire (วอลแตร์) เนื่องมาจากความสนใจร่วมกันในด้านปรัชญา วิทยาศาสตร์ และการผลิตนาฬิกา โดยวาเชอรองได้สร้างสรรค์ Pocket Watch ที่โดดเด่นด้วยตัวเรือนสีเงิน ลงนาม “J.M: Vacheron A GENEVE” บนตัวกลไก และเป็นนาฬิกาเพียงเรือนเดียวที่มีการระบุชื่อผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นมรดกตกทอดของแบรนด์ Vacheron Constantin และเป็น Pocket Watch ที่เก่าแก่ที่สุดของแบรนด์

ในปี ค.ศ. 1785 บริษัทอยู่ภายใต้การบริหารของรุ่นลูกคือ Abraham Vacheron (อับราฮัม วาเชอรอง) ต่อมาในปี ค.ศ. 1810 Jacques-Barthélemy Vacheron ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของผู้ก่อตั้ง ก็ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารกิจการของครอบครัวสืบต่อมา ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่เริ่มการส่งออกของบริษัทไปยังฝรั่งเศสและอิตาลี โดยทางแบรนด์ ได้เริ่มต้นผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นาฬิกาพก Quarter Repeater  ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โลกแห่งการผลิตเรือนเวลาอันยิ่งใหญ่

Jacques-Barthélemy Vacheron

Jacques-Barthélemy Vacheron

ต่อมา Jacques-Barthélemy ตระหนักว่าเขาไม่สามารถจัดการธุรกิจเพียงลำพังได้ เพื่อที่จะเดินทางไปต่างประเทศและขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท เขาต้องการพันธมิตรหรือหุ้นส่วนในการร่วมทำธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี โดยเขาได้มีโอกาสพบกับ François Constantin (ฟร็องซัว คอนสแตนติน) นักธุรกิจมากประสบการณ์ หลังจากพูดคุยและได้ทำข้อตกลงในการทำธุรกิจร่วมกัน  ในปี ค.ศ. 1819  ฟร็องซัว คอนสแตนติน จึงได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วน โดยตั้งชื่อบริษัทใหม่เป็น “Vacheron et Constantin”

François Constantin (ฟร็องซัว คอนสแตนติน)

François Constantin (ฟร็องซัว คอนสแตนติน)

ในวันที่ 5 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1819 ระหว่างการเดินทางไป Turin ประเทศอิตาลี François Constantin ได้เขียนจดหมายถึง Jacques-Barthélémi Vacheron ผู้เป็นหุ้นส่วนธุรกิจ โดยมีใจความว่า “Faire mieux si possible, ce qui est toujours possible” หรือภาษาอังกฤษคือ “Do better if possible, and that is always possible ซึ่งหมายถึง ทำให้ดีขึ้นถ้าเป็นไปได้ และมันก็เป็นไปได้เสมอ” และประโยคนี้เอง ก็กลายเป็นสโลแกนสำคัญของแบรนด์ Vacheron Constantin มาจนถึงทุกวันนี้

François Constantin เดินทางไปทั่วโลกและทำการตลาดนาฬิกา ตลาดหลักในขณะนั้นคืออเมริกาเหนือ โดยในปี ค.ศ. 1833 Vacheron และ Constantin ได้ว่าจ้างให้ Georges-Auguste Leschot (จอร์ช-โอกุสต์ เลสโชต์) เข้ามาทำหน้าที่ดูแลการผลิต ความเป็นนักประดิษฐ์และการสร้างสรรค์ของ Leschot เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสำเร็จให้กับบริษัท สิ่งประดิษฐ์ของเขาส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาโดยทั่วไป และเขาเป็นคนแรกที่กำหนดมาตรฐานกลไกการเคลื่อนไหวของนาฬิกาให้เป็นระบบ Calibers

Georges-Auguste Leschot (จอร์ช-โอกุสต์ เลสโชต์)

Georges-Auguste Leschot (จอร์ช-โอกุสต์ เลสโชต์)

ในช่วงยุค 1800 นาฬิกาพก เป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการบอกเวลาอันเป็นที่นิยมในขณะนั้น ซึ่งทางแบรนด์ก็ได้ผลิตนาฬิกาพก โดยเน้นที่การออกแบบอันหรูหราและสวยงาม อีกทั้งในช่วงนั้นก็เป็นยุคของการเดินเรือและการเดินทาง ดังนั้น เครื่องมือเชิงคำนวนในการเดินทาง จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ก่อกำเนิดสิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า “Marine Chronometer” อันมีความแม่นยำเพื่อใช้กำหนดทิศทางในการเดินเรือ

ในปี ค.ศ. 1844 จอร์ช-โอกุสต์ เลสโชต์ได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมศิลปะแห่งเจนีวา (The Arts Society of Geneva) ซึ่งชื่นชมอุปกรณ์แพนโทกราฟี (pantographic device) ของเลชอตอย่างสูง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถแกะสลักชิ้นส่วนนาฬิกาและหน้าปัดขนาดเล็กด้วยเครื่องจักรได้

 

Re-organization

หลังการเสียชีวิตของ ฟร็องซัว คอนสแตนติน ในปี ค.ศ.1854 และ ฌาค-บาร์เตเลมี วาเชอรอง ในปี ค.ศ. 1863 บริษัทได้ถูกบริหารโดยทายาทหลายรุ่น โดยในปี ค.ศ. 1862 บริษัท Vacheron Constantin ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับวัสดุที่ไม่ใช่แม่เหล็ก (the Association for Research into non-magnetic materials)

ในปี ค.ศ. 1877 Vacheron & Constantin, Fabricants, Geneve ได้กลายมาเป็นชื่อทางการของบริษัท โดยในปี ค.ศ. 1880 บริษัทเริ่มใช้ไม้กางเขนมอลตาเป็นสัญลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก ส่วนประกอบของลำกล้องปืนซึ่งมีรูปทรงกากบาทและใช้เพื่อจำกัดความตึงภายในสปริงหลักมีส่วนช่วยให้นาฬิกาเดินได้เที่ยงตรงมากขึ้น อันแสดงให้เห็นถึงปณิธาน ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสรรค์นาฬิกาที่มีความแม่นยำอย่างสูงสุด

ปี ค.ศ. 1887 Vacheron & Constantin ได้มีการจัดระเบียบบริษัทใหม่ เป็นบริษัทร่วมทุน (joint-stock company) ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง นาฬิกา Vacheron Constantin Lady ได้ถูกบรรจุลงใน Fabergé’s 1887 Third Imperial Egg ไข่ทองคำเคลือบเพชร อันเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Peter Carl Fabergé (ปีเตอร์ คาร์ล แฟเบอร์เช) หนึ่งในสุดยอดช่างทอง ช่างอัญมณีที่มีชื่อเสียงในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จอันโดดเด่นของบริษัท

Fabergé's 1887 Third Imperial Egg

Fabergé’s 1887 Third Imperial Egg

ในช่วงยุคสมัยนั้น นาฬิกาข้อมือ จะถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี ในขณะที่สุภาพบุรุษจะใช้งานนาฬิกาพกเป็นส่วนใหญ่ ทางแบรนด์จึงเกิดไอเดียในการสร้างสรรค์นาฬิกาข้อมือ เพื่อตอบสนองความนิยมของสุภาพสตรีในขณะนั้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1889 ก็ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือสำหรับสุภาพสตรี มีการแกะสลักประกอบขึ้นอย่างปราณีตบนสร้อยข้อมือพร้อมประดับประดาด้วยเพชรล้อมรอบขอบตัวเรือน เพื่อให้เกิดความแตกต่าง ทางแบรนด์จึงตัดเม็ดมะยมออก ให้ตั้งเวลาโดยการหมุนขอบหน้าปัดแทน

นอกจากนี้ Vacheron & Constantin ยังได้รับเหรียญทอง ในงาน Swiss National Exhibition ในกรุงเจนีวาในปี ค.ศ. 1887 และได้เริ่มเข้าสู่ตลาดโลกอย่างเต็มตัว โดยในปี ค.ศ. 1906 แบรนด์ได้ทำการเปิดบูทีคแห่งแรกที่ Quai de L’Ile ในเมืองเจนีวา ปีถัดมาแบรนด์ได้ทำการเปิดตัวนาฬิกาพก Royal Chronometer เรือนแรก ที่มีความโดดเด่นในเรื่องความทนทาน ซึ่งสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างรวมทั้งมีความแม่นยำระดับสูง ส่งผลให้นาฬิกาพกรุ่นใหม่นี้ ได้รับความนิยมในระดับสากลอย่างรวดเร็ว

ในปี ค.ศ. 1921 บริษัทมีความคิดที่จะตีตลาดอเมริกา จึงได้ทำการออกแบบนาฬิกาข้อมือที่ตัวเรือนมีรูปทรง Cushion ด้วยความที่ในสมัยนั้น นาฬิกาพกยังได้รับความนิยมอย่างสูง นาฬิกาข้อมือจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความทันสมัยและความสำเร็จ โดยออกแบบให้มีเอกลักษณ์ จุดของเม็ดมะยมจะอยู่ที่ 11 นาฬิกา เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับตั้งค่าสำหรับผู้สวมใส่ที่ถนัดทั้งข้างซ้ายและข้างขวา (ปัจจุบันเม็ดมะยมถูกย้ายไปอยู่บริเวณ 1 นาฬิกาแทน)

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Vacheron & Constantin พบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในปี ค.ศ. 1936 Charles Constantin (ชาร์ลส์ คอนสแตนติน) เข้ารับดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปี 1850 ที่ตัวแทนจากตระกูลคอนสแตนตินได้ดำรงตำแหน่งประธานของบริษัท อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1940 Georges Ketterer ได้หุ้นส่วนใหญ่ของ Vacheron & Constantin จาก Charles Constantin

นอกจากนี้แบรนด์ยังมีสัมพันธภาพอันดีกับราชวงศ์ต่าง ๆ ทั่วโลก  เช่น มหาราชาแห่ง PATIALA ในประเทศอินเดีย แต่เรือนที่ถือว่าเป็นนาฬิกาที่ซับซ้อนที่สุดเรือนหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 20 ก็คือ เรือนที่รังสรรค์ให้กับลูกชายของ King Fuad I แห่งอียิปต์ เพราะแบรนด์ใช้เวลาถึง 5 ปี ในการผลิตผลงานชิ้นเอกนี้ให้แล้วเสร็จโดยมีความซับซ้อนถึง 14 อย่าง และมีฟังก์ชันสุดซับซ้อนอย่าง Carillon Minute Repeater, Split-seconds Chronograph, Perpetual Calendar, Moonphase และ Moon Age Indicator

นาฬิกาพก Vacheron Constantin หมายเลข 402833 (1929) ซึ่งเป็นเจ้าของโดย King Fuad I แห่งอียิปต์ จัดอันดับให้เป็นหนึ่งในนาฬิกาที่แพงที่สุดที่เคยขายในการประมูล โดยเรียกเงิน 2.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกรุงเจนีวาเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี ค.ศ. 2005

King Fuad I แห่งอียิปต์

King Fuad I แห่งอียิปต์

ปี ค.ศ. 1969 Georges Ketterer เสียชีวิตลง ลูกชายของเขา Jacques Ketterer ได้รับช่วงต่อในการบริหารบริษัทจนประสบความสำเร็จ และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Vacheron Constantin” อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1970 หลังจาก Jacques Ketterer เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1987 บริษัทกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตควอตซ์ (Quartz Crisis) หรือวิกฤตินาฬิกาใส่ถ่าน Luxury Sport Watch ได้กลายเป็นที่นิยม ช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 Vacheron Constantin ได้เปลี่ยนมือบริหารอีกครั้ง

โดยบริษัทตกอยู่ในมือของ Sheik Ahmed Zaki Yamani อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียและนักสะสมนาฬิกาตัวยง กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งต่อมาได้พับ Vacheron Constantin ไว้ในพอร์ตการลงทุนส่วนตัวของเขา และในปี ค.ศ. 1996 กลุ่มบริษัท Swiss Richemont Group จึงได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ Vacheron Constantin

Sheik Ahmed Zaki Yamani

Sheik Ahmed Zaki Yamani

Vacheron Constantin หันมาตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ของนาฬิกา Steel แนวสปอร์ต ด้วยการเปิดตัวนาฬิการุ่น 222 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 222 ปีของแบรนด์ ออกแบบโดย Jörg Hysek ดีไซเนอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งมีดีไซน์ที่แตกต่างจากรุ่นดั้งเดิมเป็นอย่างมาก

Vacheron Constantin 222

Vacheron Constantin 222

โดยนาฬิกาเป็นแนวสปอร์ตที่ทำจาก Steel ตัวเรือนเป็นทรง Tonneau ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงปี 1970 ขอบหน้าปัดเป็นรอยหยักพร้อมโครงสร้างแบบ Monobloc ซึ่งทนทานต่อการสึกหรอเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน และด้วยลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์นี้ จึงกลายเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ Overseas คอลเล็กชั่นยอดนิยมของแบรนด์ในเวลาต่อมา

ในปี ค.ศ. 2004 Vacheron Constantin ได้เปิดสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมือง Plan-les-Ouates กรุงเจนีวา อาคารสำนักงานใหญ่ของ Vacheron Constantin ในเจนีวาได้รับการออกแบบโดย Bernard Tschumi และได้รับการยกย่องจากความสำคัญทางสถาปัตยกรรม

เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2005 Richemont Group ได้แต่งตั้ง Juan Carlos Torres เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ปัจจุบัน บริษัทเป็นสมาชิกอย่างแข็งขันของสหพันธ์อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส FH และผลิตนาฬิกาประมาณ 20,000 เรือนต่อปี มีพนักงานประมาณ 1,200 คนทั่วโลกในปี ค.ศ. 2018

 

Watch manufacturing

ความสำเร็จของ Vacheron Constantin กับสิ่งประดิษฐ์กลไกนาฬิกาที่เรียกว่า World Time ได้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1932 โดยความร่วมมือของ Louis Cottier เพื่อสร้างสรรค์นาฬิกาที่แสดง 31 โซนเวลา ขึ้นเป็นเรือนแรกของโลก โดยหน้าปัดนาฬิการอบนอกจะเขียนชื่อเมืองสำคัญในประเทศต่าง ๆ ทั้ง 31 เมือง เพื่อให้สามารถบอกเวลาได้อย่างครบถ้วน

first world time pocket watch

first world time pocket watch

ในปี ค.ศ. 1955 ทางแบรนด์ได้เปิดตัวThe Ultra-Thin wristwatch นาฬิกาข้อมือที่บางเฉียบเพียง 1.64 มิลลิเมตร เนื่องในโอกาสครบรอบ 200 ปีของแบรนด์ ซึ่งมีความบางเท่ากับเหรียญ 20 เซนต์ฟรังก์สวิสฯ ทำให้มันกลายเป็นเรือนเวลาที่มีกลไกไขลานที่บางที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ถัดมาในปี ค.ศ. 1957 สไตล์คลาสสิกของ Vacheron Constantin ก็ถือกำเนิดขึ้น เนื่องจากทางแบรนด์ เน้นผลิตนาฬิกาทรงกลมแบบธรรมดาที่บางเฉียบ ไม่มีการตกแต่งภายนอกและเน้นการออกแบบที่เรียบง่ายโดยดึงเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ทำให้นาฬิกาดูสะอาดงดงามเหนือกาลเวลา และด้วยความคลาสสิกนี้เอง ทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นจุดกำเนิดของคอลเลกชัน Patrimony

และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอันแรงกล้า ทำให้แบรนด์มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี ค.ศ. 1992 Vacheron Constantin ก็ประสบความสำเร็จในการผลิตกลไก Calibre 1755 ที่มีความบางเพียง 3.28 มิลลิเมตรเท่านั้น และทำให้มันกลายเป็นกลไก Minute Repeater ที่บางที่สุดในโลกในขณะนั้น

หลังจากที่กลุ่ม Vendôme Luxury Group หรือ Richemont Group ในปัจจุบัน ได้เข้าซื้อกิจการของ Vacheron Constantin ในปี ค.ศ. 1996 ทางแบรนด์ก็ได้คลอดคอลเล็กชั่น Overseas โดยนาฬิกาเรือนแรกในคอลเล็กชั่นมีขนาดหน้าปัด 37 มิลลิเมตร รูปทรงตันพร้อมกรอบร่องหน้าปัดที่ชวนให้นึกถึงไม้กางเขนมอลตา เส้นสายแบบไดนามิกที่สามารถขยายได้ ทำให้ Overseas กลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของแบรนด์ และเป็นรุ่นยอดฮิตที่นักสะสมมีไว้ในครอบครอง

ในปี 2015 เนื่องในโอกาสครบรอบ 260 ปีของแบรนด์ ทางแบรนด์จึงถือโอกาสเปิดตัวนาฬิกา Reference 57260 ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานถึง 8 ปี เพราะมีความสลับซับซ้อนรวมทั้งหมดถึง 57 กลไกด้วยกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาและความเข้าใจในศาสตร์แห่งกลไกเรือนเวลาอย่างแท้จริง

 

Vacheron Constantin ในปัจจุบัน

ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทางแบรนด์ก็ได้เปิดตัว Égérie คอลเล็กชันใหม่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เป็นการผสมผสานศิลปะของ Haute Couture (โอต กูตูร์) เข้ากับ Haute Horlogerie (โอต ออร์โลเฌรี) โดยมีจุดเด่นที่ลวดลายเส้นบนหน้าปัด ซึ่งผลงานนี้เป็นการสร้างสรรค์นาฬิกาสำหรับผู้หญิงในมุมมองของ Vacheron Constantin ที่มองเห็นถึงความงามและความอ่อนหวานที่มีอยู่ในตัวผู้หญิงทุกคน

ปิดท้ายด้วยนาฬิกาสุดพิเศษอย่าง Les Cabinotiers Westminster Sonnerie – Tribute to Johannes Vermeer ที่ออกมาในปี 2021 นาฬิกาพกเรือนเดียวในโลกที่มีภาพชื่อดังของศิลปินชาวดัทช์ โยฮานเนส เวอร์เมียร์ ถ่ายทอดลงบนฝาหลังของนาฬิกา ซึ่งทางแบรนด์ใช้เวลานานถึง 8 ปีในการสร้างสรรค์เรือนเวลาชิ้นเอกนี้ขึ้นมา

โดยเกิดจากการหลอมรวมทักษะขั้นสูงในการสร้างสรรค์นาฬิกาและศิลปะการตกแต่งเข้ามาไว้ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ตกแต่งด้วยเทคนิคลงยา เขียนสีขนาดเล็กซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของเจนีวาและเป็นมรดกของแบรนด์ Vacheron Constantin ที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 266 ปี

ความแม่นยำ งานฝีมือที่พิถีพิถัน การออกแบบที่หรูหรา รวมถึงเทคนิคและความสมบูรณ์แบบของนาฬิกา ล้วนเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ Vacheron Constantin สามารถครองความยิ่งใหญ่ และสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำด้านเทคนิคแห่งวิทยาการนาฬิกาโลกได้สำเร็จ แบรนด์ที่เดินทางจากความเรียบง่าย มาสู่จุดสูงสุดของผู้ผลิตเครื่องบอกเวลาที่มีความซับซ้อนที่มีความเก่าแก่ที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่ง

จิตวิญญาณนิรันดร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ Vacheron Constantin เป็นที่จดจำของเหล่านักสะสมนาฬิกาและโดดเด่นในด้านดีไซน์ ที่ยากจะหาใครเทียบเคียงได้ ความอดทนและความมุ่งมั่นที่สืบทอดจิตวิญญาณของช่างทำนาฬิกา ดั่งปรัชญาของแบรนด์ “Do better if possiblend it is always possible” และทั้งหมดนี้คือเรื่องราว ประวัติ Vacheron Constantin 267 ปี เรือนเวลาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

รัก
xoxo

KATE