To top
15 Feb

ประวัติแบรนด์ Gucci หนึ่งศตวรรษ กับความ Luxury ระดับโลก

ประวัติแบรนด์ Gucci – ในปัจจุบันน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักแบรนด์หรู เจ้าของโลโก้ GG ที่คุ้นตา รวมทั้งดีไซน์การออกแบบที่หรูหรา เป็นเอกลักษณ์มานานเกือบศตวรรษ Gucci เป็นแบรนด์ Luxury สัญชาติอิตาลี ที่มีไลน์การผลิตสินค้าตั้งแต่กระเป๋า เครื่องประดับ น้ำหอม รวมไปถึงนาฬิกา ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่กว่าจะกลายมาเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นดังเช่นปัจจุบันนี้ แบรนด์ Gucci จะต้องผ่านประสบการณ์มาอย่างมากมาย วันนี้เรามาร่วมย้อนเวลาหาคำตอบพร้อมกัน

Gucci Brand

Gucci Brand

 

The Story Begins

กุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci) เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี ค.ศ. 1881 ณ เมือง Florence (ฟลอเรนซ์) ประเทศอิตาลี ในครอบครัวของช่างฝีมือทำเครื่องหนัง แต่การเป็นช่างผลิตเครื่องหนังนั้น ยังไม่ค่อยตรงกับความชอบของเขาในช่วงนั้นเท่าใดนัก กุชชี่จึงเดินทางไปตามล่าความฝันที่เมืองลอนดอนประเทศอังกฤษ โดยได้ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ตั้งแต่พนักงานล้างจาน เด็กเสิร์ฟ พนักงานบริการในลิฟท์ จนกระทั่งมาลงเอยทำงานที่โรงแรมซา-วอย (Savoy) ในตำแหน่งพนักงานยกกระเป๋า

กุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci)

กุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci)

การทำงานในโรงแรมนั้น ทำให้เขาได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงได้เห็นกระเป๋าหลากหลายแบบของแขกที่มาพักที่โรงแรม ใบแล้วใบเล่า นั่นทำให้เขาหลงสเน่ห์ความงามของกระเป๋าและเครื่องหนังโดยไม่รู้ตัว เป็นเหตุให้ กุชชี่ ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ กลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่ประเทศอิตาลี โดยช่วงแรกที่กลับไปนั้น เขาได้ทำงานให้กับ ฟรานซิ (Franzi) เจ้าของบริษัทผลิตกระเป๋าเดินทางแบรนด์ Tony

ในปีถัดมา หลังจากฝึกฝนงานฝีมือจนมีความชำนาญพอสมควรแล้ว กุชชี่ จึงตัดสินใจที่จะเปิดกิจการเป็นของตัวเอง ในที่สุด อาณาจักร Gucci จึงได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก ใน ปี ค.ศ. 1921 ณ เมืองฟลอเรนซ์ บ้านเกิดของเขานั่นเอง เพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องหนัง โดยขณะนั้น กุชชี่ มีอายุได้ 40 ปี

ในแรกเริ่ม ธุรกิจหลักของ Gucci คือการผลิตอานม้า และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับนักขี่ม้า ซึ่งทุกชิ้นผลิตจากวัสดุหนังอิตาลีที่มีคุณภาพสูงสุด การออกแบบของเขายังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับโลก โดยชนชั้นสูงของอังกฤษหลายๆ คน ได้กลายมาเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์การค้ารุ่นใหม่มาแรงอย่าง Gucci สามารถสังเกตได้จากการสร้างสรรค์ที่ทันสมัยของแบรนด์ รวมถึงรายละเอียดของแถบผ้าทอสีแดงและสีเขียว ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ที่ได้แรงบันดาลใจจากรายละเอียดของอานม้า

แถบผ้าทอสีแดงและสีเขียวที่เป็นเอกลักษณ์

แถบผ้าทอสีแดงและสีเขียวที่เป็นเอกลักษณ์

 

กิจการเครื่องหนังดำเนินไปอย่างตะกุกตะกักในช่วงกลางทศวรรษ 1930s เนื่องจากการคว่ำบาตรสินค้าเครื่องหนังจากอิตาลี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เกิดผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในยุโรป และเป็นสาเหตุประการหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 Gucci จึงได้เริ่มขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ นำไปสู่การกำเนิดลายสัญลักษณ์ของ Gucci เป็นครั้งแรก คือลายข้าวหลามตัด โดยมีมุมทั้ง 4 ด้านเปนตัว G 2 ตัวต่อเนื่องสลับกันบนผืนผ้าใบสีน้ำตาลเข้ม ถักทอจากผ้าใยกัญชง (tan hemp fabric)

รวมถึงการถือกำเนิดกระเป๋า Iconic Bamboo Bag ของ Gucci ใน ปี ค.ศ. 1947 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัสดุสำหรับผลิตกระเป๋าขาดแคลน ช่างฝีมือของ Gucci จึงต้องดิ้นรนค้นหาวัสดุอื่นๆเพื่อนำมาผลิตกระเป๋า และค้นพบว่าพวกเขาสามารถใช้ไม้ไผ่ญี่ปุ่นเพื่อสร้างสรรค์กระเป๋าที่ไม่เหมือนใครได้ โดยมีกรรมวิธีการผลิตและเก็บรักษาแบบพิถีพิถัน รวมถึงได้รับการจดสิทธิบัตร จนหูจับแบบไม้ไผ่นี้ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกระเป๋า Gucci ในเวลาต่อมา

ร่างแบบกระเป๋า Bamboo Bag

ร่างแบบกระเป๋า Bamboo Bag

โดยการดัดไม้ไผ่นั้น ต้องใช้ความชำนาญ ก่อนจะเกลาไม้ไผ่ให้เรียบ ดัดไม้ไผ่ทีละน้อยด้วยไฟ และไม่มีสารเคมีเจือปน บวกกับขั้นตอนการประทับตัวหนังสือสีทองลงบนกระเป๋า ใช้แผ่นทองคำ 24K ในการปั๊มทำให้ไม่เลือนง่าย ไม่น่าเชื่อว่าไอเดียอันชาญฉลาด ในการนำวัสดุมาปรับใช้เพื่อแก้ไขเหตุการณ์การขาดแคลนวัสดุในครั้งนั้น จะประสบความสำเร็จอย่างมาก กระเป๋า Bamboo Bag ของ Gucci นั้น ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงปัจจุบัน

กุชชี่ และภรรยาของเขา ไอด้า คาลเวลลิ (Aida Calvelli) มีลูกด้วยกันถึง 5 คน เป็นลูกชาย 4 คนและผู้หญิง 1 คน แต่มีเพียงลูกชายทั้ง 3 คนของเขา อัลโด (Aldo)  วาสโค่ (Vasco) และ โรโดลโฟ่ (Rodolfo) เท่านั้น ที่เขาได้ชวนเข้าร่วมธุรกิจในปี 1938 ทั้ง 3 ได้รับมอบหมายให้ขยายกิจการของแบรนด์โดยการนำ Gucci ไปเปิดสาขาที่โรม ในปี ค.ศ. 1950 และมิลานใน ค.ศ. 1951 โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

The original Bamboo Bag.

The original Bamboo Bag.

 

Age of Coming

ในปี ค.ศ. 1953 กุชชี่ ได้เปิดร้านสาขาแรกที่เมือง Manhattan ซึ่งถือว่าเป็นร้านเครื่องหนังระดับสูงของอิตาลีร้านแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนั้นเพียง 15 วัน กุชชิโอ กุชชี่ ก็ได้เสียชีวิตลง ในวันที่ 2 มกราคม อาณาจักร Gucci จึงตกเป็นของ 3 พี่น้องอย่างเต็มตัว โดยมี อัลโด (Aldo) เป็นหัวเรือหลัก ร่วมมือกับพี่น้อง ช่วยกันโปรโมตแบรนด์ไปสู่ความเป็นสากล โดยมีสาขาทั้ง ที่ลอนดอน, ปารีส และนิวยอร์ค รวม 13 สาขา รวมถึง 46 ร้านแฟรนไซร์ทั่วโลก

Aldo Gucci

Aldo Gucci ในวัยชรา

Gucci ได้กลายเป็นที่กล่าวขานเพียงแค่ชั่วข้ามคืน เมื่อกระเป๋าไม้ไผ่ปรากฏในภาพยนตร์ของ โรแบทโต้ โรเซลลินิ (Roberto Rossellini ) ในปี ค.ศ. 1954 เรื่อง “Viaggio in Italia” สัญลักษณ์ GG ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น กลายมาเป็นที่โปรดปรานของดาราฮอลลีวู้ดรวมถึงราชวงศ์ยุโรปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันแรกที่มีการเปิดสาขาที่อเมริกา อัลโด ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารบริษัทเครื่องหนัง “Made in Italy” แห่งแรกในประเทศ โดยได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีจอห์นเอฟเคนเนดี (John F Kennedy) มาเป็น Ambassador ให้กับแฟชั่นจากอิตาลีเป็นท่านแรก

สัญญลักษณ์ GG เอกลักษณ์ของ Gucci

สัญญลักษณ์ GG เอกลักษณ์ของ Gucci

เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จาก The City University of New York หลังจากนั้นได้ทำการเปิดสาขาเพิ่มที่ ชิคาโกปาล์มบีช และเบเวอร์ลี่ฮิลล์ ก่อนที่จะขยายสาขาไปยังโตเกียว ฮ่องกง รวมถึงเมืองต่างๆ ทั่วโลกผ่านเครือข่ายแฟรนไชส์ระดับโลก กว่า 30 ปีที่เขาทุ่มเทให้กับการขยายตัวของกุชชี่ พัฒนาบริษัทให้เป็นธุรกิจแบบครบวงจร มีทั้งโรงฟอกหนัง โรงงานผลิต และร้านค้าปลีกของตัวเอง

กิจการดำเนินไปจนถึงทายาทรุ่นที่ 3 นามว่า เปาโล ซึ่งเป็นลูกชายของ อัลโด แนวคิดทางธุรกิจที่แหวกแนวของเขาก็คือ การขยายไลน์การผลิตสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก เพื่อเจาะกลุ่มตอบสนองความต้องการของลูกค้าวัยหนุ่มสาว ภายใต้ชื่อ “Paolo Gucci Collection” แต่แนวความคิดนี้กลับไม่เป็นที่ถูกใจของครอบครัวกุชชี่เท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผลที่ว่าการผลิตไลน์สินค้าราคาถูก จะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์เสื่อมเสีย เป็นเหตุให้เกิดการขัดแย้งกันเองภายในครอบครัว

ความดื้อรั้นของ เปาโล ทำให้เขาดิ้นรนจนสามารถสร้างไลน์สินค้าตามแบบที่เขาต้องการภายใต้ชื่อของเขาจนสำเร็จ นั่นทำให้ อัลโดผู้เป็นพ่อ เมื่อทราบข่าวถึงกับประกาศไล่เปาโล ออกจากการเป็นผู้บริหารบริษัท และทำการสั่งห้ามซัปพลายเออร์ที่ติดต่อทำธุรกิจกับบริษัทกุชชี่ทุกราย ทำธุรกิจร่วมกับเปาโล ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวกุชชี่อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่อย่างมาก

ในปี ค.ศ. 1986 อัลโด ในวัย 81 ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 1 วัน เนื่องจากการหลีกเลี่ยงภาษีของเขา โดยต้องจ่ายภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนเงิน 7 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 212 ล้านบาท นั่นทำให้ ลูกพี่ลูกน้องของเปาโล (ลูกของ Rodolfo ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ของเปาโล) นามว่า มาอุริซิโอ (Maurizio) ได้เข้ามารับช่วงต่อกิจการครึ่งหนึ่ง เขารู้สึกอึดอัดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจยึดกิจการไว้เสียเองทั้งหมด

Maurizio Gucci

Maurizio Gucci

Maurizio (มาอุริซิโอ) เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของ Rodolfo ที่เขาได้ทิ้งหุ้นไว้ให้ 50% ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต อีกทั้งยังมีศักดิ์เป็นหลานรักของ Aldo ที่ได้รับการไว้วางใจเป็นอย่างมาก มาอุริซิโอ ตามติดคดีที่ Aldo ถูกลูกชายฟ้องข้อหาไซฟอนเงินของบริษัทอย่างเงียบ ๆ ในที่สุด เขาก็ยืมมือ Paolo เพื่อทำการโค่นพ่อแท้ ๆ ของตัวเอง ด้วยการให้เปาโลมาเป็นพันธมิตรในบอร์ดกุชชี่ โดยยุบบอร์ดชุดปัจจุบันที่มี Aldo ทิ้ง นั่นทำให้เขาขึ้นแท่นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของกุชชี่ แทนลุงแท้ ๆ ของเขา

มาอุริซิโอ มาพร้อมกับนักลงทุนกลุ่มใหม่ โดยให้บริษัท อินเวสต์คอร์ป (Investcorp) ดำเนินการซื้อหุ้นกิจการที่เหลือจากญาติพี่น้องของเขา ในปี ค.ศ. 1987 โดยเปาโล เป็นบุคคลแรกในครอบครัวที่ยอมขายหุ้นในมือ เป็นมูลค่ากว่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมเวลา 66 ปี ที่กุชชี่ดำเนินกิจการภายในครอบครัว ก่อนถูกขายให้อินเวสต์คอร์ป อัลโด กุชชี่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มกราคม ปี ค.ศ. 1990 ด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สิริรวมอายุได้ 84 ปี อีก 5 ปีต่อมา Paolo ลูกชาย ก็ล้มละลาย และเสียชีวิตตามไป

 

The New Empire

ในที่สุด มาอุริซิโอ กุชชี่ ได้ทำการฟื้นฟูกิจการ และภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของ Gucci คืนกลับมา โดยความร่วมมือของผู้ช่วยคนสำคัญ โดเมนิโก เดอ โซเล (Domenico De Sole) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นทนายความของเขา ผู้รับผิดชอบดูแลกิจการของ Gucci America รวมทั้ง ดอน เมลโล (Dawn Mello) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bergdorf Goodman (ห้างสรรพสินค้าอันหรูหรา ตั้งอยู่ ณ เมืองนิวยอร์ค) ซึ่งถูกดึงตัวมารับผิดชอบด้วยอีกคน ในตำแหน่ง Creative Director

นอกจากนั้น ยังมีการว่าจ้าง ทอม ฟอร์ด (Tom Ford) เข้ามารับตำแหน่งเป็น Junior Designer อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารงานแรก ๆ มิได้ราบรื่นดังที่หวังไว้เท่าไหร่นัก เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องการควบคุมและจัดการบัญชีค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงส่งผลให้บริษัท Gucci ประสบปัญหาขาดทุน มาอุริซิโอ ได้ทำการทุ่มเงินถึง 12 ล้านดอลล่าสหรัฐเพื่อหวังฟื้นฟูกิจการ และทำการปรับปรุงสำนักงานใหญ่ที่ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

แต่ถึงกระนั้น ในช่วง ค.ศ. 1991 – 1993 กิจการกลับมียอดขาดทุนรวมราวๆ 120 ล้านดอลล่าสหรัฐ จนในที่สุด บริษัท อินเวสต์คอร์ป ได้กดดันให้ มาอุริซิโอ ขายหุ้นทั้งหมด และทำการย้าย โดเมนิโก เดอ โซเล (ผู้ช่วยของเขา) ไปบริหารงานที่ฟลอเรนซ์ จนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1995 มาอุริซิโอ ถูกลอบยิงเสียชีวิต ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งเขาอายุเพียงแค่ 46 ปีเท่านั้น โดยการลอบสังหารในครั้งนั้น ผู้อยู่เบื้องหลังคือ ภรรยาเก่าของเขา นามว่า ปราติสเซีย รีจานี่ (Patrizia Reggiani)

ในช่วงปี ค.ศ. 1994 ถือว่า บริษัท Gucci ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ด้วยผลประกอบการที่ติดลบ อีกทั้งยังต้องแบกรับหนี้สินที่นับวันจะยิ่งมากขึ้น เป็นผลให้ซัปพลายเออร์ เริ่มขาดความเชื่อมั่นในตัวบริษัท ทำให้ โดเมนิโก เดอ โซเล ในฐานะ CEO ของ Gucci ในขณะนั้น ต้องทำการเดินสายเจรจากับเหล่าซัปพลายเออร์ทั้งหลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เขาสามารถที่จะผลักดันกิจการให้ฟื้นตัว และกลับมามีกำไรได้

Domenico De Sole

โดเมนิโก เดอ โซเล CEO ของ Gucci

จนในที่สุด ในปี ค.ศ. 1999 Gucci ได้กลับมาผงาดอีกครั้ง จากการที่บริษัท Pinault-Printemps-Redoute หรือกลุ่ม PPR โดยการบริหารงานของ ฟรองซัว ปีโน่ (François Pinault) เข้ามาซื้อหุ้นของ Gucci จำนวน 42% คิดเป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการทำให้ Gucci รอดพ้นจากการถูกซื้อกิจการจากบริษัทอื่นๆ ที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้ง ปิโนลต์ ยังได้ทำการซื้อกิจการ ซาโนฟี่ โบเต้ (Sanofi Beaute) เจ้าของแบรนด์ชื่อดัง Yves Saint Laurant (YSL) และทำการขายให้กับ Gucci อีกด้วย

การยื่นมือเข้ามาของกลุ่ม PPR ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ Gucci กลับมาโด่งดังอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังมีผลทำให้ บริษัท Gucci กลายเป็นบริษัทที่สร้างรายได้มหาศาล รวมถึงมีแบรนด์สินค้าอื่นเข้ามาร่วมในเครือมากมายอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น Bottega Veneta ,Yves Saint Laurent รวมถึง Sergio Rossi, Stella McCartney และ Alexander McQueen

 

Then & Now

Gucci ในช่วงศตวรรษที่ 21 หลังจากมรสุมกว่า 80 ปีที่ต้องเผชิญมา แบรนด์ Gucci ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้การบริหารงานของ PPR ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 2017 Gucci สามารถทำรายได้สูงถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยมีมูลค่ามากถึง 132,700 ล้านบาท นอกจากนี้ นิตยสาร Forbes ของอเมริกา ยังได้ทำการจัดอันดับให้แบรนด์ Gucci มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 47 ของโลก และติดอันดับที่ 44 จากการจัดอันดับ World’s Most Valuable Brands ด้วยมูลค่าแบรนด์ที่สูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

Marco Bizzarri

Marco Bizzarri CEO คนล่าสุดของ Gucci

นอกจากนี้ Gucci ยังได้ดึงตัว อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน (Alexander McQueen) อดีตดีไซเนอร์มากฝีมือจากแบรนด์ Givenchy เข้ามาร่วมงานด้วย ทำให้ปัจจุบัน ภายใต้การบริหารงานของ Marco Bizzarri CEO คนล่าสุด นอกจากภาพลักษณ์ที่แสดงถึงความหรูหรา งานฝีมือที่รังสรรค์ออกมาอย่างตั้งใจ ด้วยวัสดุคุณภาพเยี่ยมแล้ว ไม่แปลกใจเลยว่า แบรนด์ Gucci จะติดอันดับแบรนด์หรูที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก และทั้งหมดนี้คือ ประวัติแบรนด์ Gucci กับความ Luxury ที่ยืนหยัดมาถึง 1 ศตวรรษ

รัก
xoxo

KATE