Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลีปป์) แบรนด์นาฬิกาสวิส ที่ถูกยกย่องว่าเป็น 1 ใน Top 3 แบรนด์นาฬิกาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เป็นเจ้าของสถิติการประมูลนาฬิการาคาสูงที่สุดที่ได้เข้าบันทึกใน Guiness Book ความล้ำค่า งานฝีมือ รวมถึงประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานถึง 181 ปี อะไรที่ทำให้ Patek Philippe ก้าวมาถึงจุดสุดยอดของผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งกาลเวลาและยืนหยัดในเอกลักษณ์จนถึงทุกวันนี้
ประวัติแบรนด์ Patek Philippe เริ่มต้นขึ้นโดย อังตวน นอร์เบิร์ต เดอ ปาเต็ก (Norbert de Patek) เกิดเมื่อ ปี ค.ศ. 1812 ณ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า พิลาสกี้ (Pilaski) ปาเต็กเป็นอดีตนายทหารผู้กล้าหาญ และมากความสามารถชาวโปแลนด์ ผู้มีส่วนร่วมในการก่อกบฎโปแลนด์ต่อต้านการปกครองของรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1830 หลังจากนั้น เขารวมทหารคนอื่นๆ ที่ถูกเนรเทศให้ออกจากโปแลนด์ ไปลงหลักปักฐานที่ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1833
ในขณะนั้น เขาได้มีโอกาสฝึกฝน พัฒนาความสามารถทางศิลปะของเขากับ อเล็กแซนเดอร์ โคลามี (Alexandre Calame) ศิลปินภูมิสถาปัตยกรรม ด้วยความหลงไหลในศิลปะ ปาเต็กได้ซื้อนาฬิกาเรือนแรก ทำการตกแต่งดัดแปลงเล็กน้อย และขายมันให้กับลูกค้า ไม่นานนักเขากลายเป็นนักธุรกิจซื้อขายนาฬิกาให้กับกลุ่มลูกค้าชาวโปแลนด์ที่ทรงอิทธิพล ส่งผลให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งต่อไปที่เขาคำนึงคือการมีหุ้นส่วน และ ฟรองซัวส์ ซีซาเป็ค (Franciszek Czapek) ช่างทำนาฬิกามากความสามารถ คือคนที่เขาเลือกมาร่วมงาน
จุดเริ่มต้นธุรกิจ
ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1839 บริษัท “Patek, Czapek & Cie – Fabricants à Genève” ถือกำเนิดขึ้น โดยการร่วมหุ้นกันระหว่าง ปาเต็กและฟรองซัวส์ ซีซาเป็ค ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีการจ้างพนักงาน พวกเขาซื้ออะไหล่ในการทำนาฬิกาจากหลายๆ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านกลไกนาฬิกา ส่งประกอบตัวเรือนโดยช่างผู้ชำนาญ และที่สุดท้ายส่งกลับมาให้พวกเขาเช็คความเรียบร้อยของผลงาน ก่อนส่งออกจำหน่าย บริษัทมุ่งเน้นผลิตนาฬิกาคุณภาพสูง โดยมียอดการผลิตอยู่ปีละประมาณ 200 เรือน
ธุรกิจดำเนินมาได้เกือบ 6 ปี การเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างปาเต็กและซีซาเป็ค ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควรนัก เกิดปัญหาภายในขึ้นมากมาย เนื่องจากซีซาเป็ค ค่อนข้างไม่รับผิดชอบงานและหนีงานบ่อยครั้ง นั่นเป็นเหตุให้ปาเต็กเริ่มมองหาเพื่อนร่วมงานคนใหม่
ในปี ค.ศ. 1844 ปาเต็ก พบกับนักประดิษฐ์หนุ่มชาวฝรั่งเศส ที่งาน French Industrial Exposition นามว่า ฌอง-เอเดรียง ฟิลีปป์ (Jean-Adrien Philippe) ผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกและระบบต่างๆ ของนาฬิกา ปาเต็กไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนหุ้นส่วนทันที แม้ว่าการเลิกเป็นหุ้นส่วนกับ ซีซาเป็ก อาจทำให้เขาสูญเสียลูกค้าปัจจุบันไปมาก และอาจทำให้ล้มละลายได้ แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจแยกตัว และร่วมกันตั้งบริษัทใหม่กับ Jean-Adrien Philippe ภายใต้ชื่อ “Patek Philippe & Cie – Fabricants à Genève”
ปี ค.ศ. 1850 ฟิลีปป์ ได้เปิดตัวนาฬิกาที่ไม่ต้องใช้กุญแจไขลานเป็นครั้งแรก ความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งมาจากอัจฉริยภาพทางด้านกลไกของเขา ผลงานชิ้นนั้น สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้กับบริษัท ชิ้นส่วนหน้าปัดแรกที่ออกมา มีการประทับตัวอักษร “PP” บนสินค้า เพื่อสร้างการจดจำ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนโชคชะตาของปาเต็กไปตลอดกาล นั่นก็คือ การผลิตนาฬิกาถวาย Queen Victoria (พระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ) เป็นนาฬิกาพกพาของผู้หญิง มีขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 30 มม. พร้อมด้วยกลไก Keyless Steam-winding System
Keyless Steam-winding System คือ ระบบไขลานและตั้งเวลาของนาฬิกาด้วยเม็ดมะยมแทนกุญแจ นาฬิกาแบบเดิมจะต้องใช้กุญแจแกะด้านหลังออกเพื่อตั้งเวลา ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นและน้ำเข้านาฬิกาบ่อยครั้ง ระบบกลไกนาฬิกาแบบใหม่ของ ฟิลีปป์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผลงานของเขาถือเป็นต้นแบบของกลไกนาฬิกาแทบจะทุกเรือนบนโลกในปัจจุบัน
ปาเต็ก ได้นำนวัตกรรมใหม่นี้ ออกแสดงสู่สายตามวลชนในงาน Great Exhibition of the Works of All Nations ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ผลงานของเขากับฟิลีปป์ คือ นาฬิกาที่มีกลไกการตั้งเวลาด้วยเม็ดมะยม ถูกนำเสนอในกรอบที่ถูกแกะสลักอย่างสวยงาม เป็นจุดสนใจให้ผู้ร่วมงานนับหมื่นจับจ้อง รวมไปถึง สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียและเจ้าชายอัลเฟรด ทั้ง 2 พระองค์ประทับใจผลงานนี้มาก และได้ซื้อนาฬิกาจาก Patek Philippe ไปคนละเรือน
ชื่อเสียงของ Patek Philippe กระจายไปอย่างรวดเร็ว ลูกค้าระดับราชวงศ์และชนชั้นสูง ต่างต้องการเป็นเจ้าของจับจองนาฬิกาของพวกเขากันทั้งนั้น แต่ความสำเร็จก็คงอยู่ได้ไม่นาน ด้วยภาวะเศรษฐกิจในยุโรปขณะนั้นอยู่ในช่วงขาลง ทาง Patek Philippe จึงต้องหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ แถบอเมริกาที่เศรฐกิจกำลังเติบโต
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
การเปิดตลาดที่อเมริกา ถือว่าเป็นการเดินหมากที่ชาญฉลาดมากของ Patek Philippe เมื่อผู้บริหารบริษัทเครื่องเพชรทิฟฟานี แอนด์ โค (Tiffany & Co) นามว่า Charles Tiffany (ชาร์ล ทิฟฟานี) พบกับ Patek ที่นครนิวยอร์ค เมื่อปี ค.ศ 1851 ทั้งคู่ได้จับมือร่วมธุรกิจกัน โดยทิฟฟานีสั่งทำนาฬิการุ่นพิเศษจำนวน 150 เรือน ในชื่อรุ่น Nautilus 5711 และได้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Patek Philippe นับตั้งแต่นั้น
ด้วยสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงเป็นทุนเดิมของปาเต็ก การตระเวนไปยังหลายๆ ประเทศช่วงทำการตลาดให้กับแบรนด์ ส่งผลให้สุขภาพของเขาเริ่มทรุดลง ในปี ค.ศ. 1875 โรคโลหิตจางที่เขาเผชิญอยู่มีอาการแย่ลงมาก Cingria, Rouge and Köhn ลูกจ้างทั้ง 3 คนของเขาจึงเข้ามามีบทบาทในการอัดฉีดเงินทุนของบริษัท และกลายเป็นเจ้าของร่วมไปโดยปริยาย ปาเต็กเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี ค.ศ. 1877 อายุเพียง 65 ปีเท่านั้น
ในปี ค.ศ. 1891 ฟิลีปป์ ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 76 ปี (2 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต) ได้ส่งมอบตำแหน่งช่างทำนาฬิกาให้กับลูกชายคนเล็กของเขา โจเซฟ เอมีล ฟิลีปป์ (Joseph Emile Philippe) ในปีเดียวกันนั้นเอง Köhn ออกจากบริษัทและ Cingria ก็คืนหุ้นของเขาด้วย
ในปี ค.ศ. 1901 Patek Philippe & Cie ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Ancienne Manufacturing d’horlogerie Patek, Philippe & Cie, Société Anonyme” เป็นบริษัทร่วมทุน มีทุนสวิสฟรังก์ มูลค่า 1.6 ล้านฟรังก์ และผู้ถือหุ้นห้าในเจ็ดคนดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท A. Bénassy-Philippe ในฐานะประธานโดยมีสมาชิกคือ ฌอง-ปิแอร์ (Jean Perrier) ฟรองซัว อองตวน กงตี (François Antoine Conty) โจเซฟ เอมีล ฟิลีปป์ (Joseph Emile Philippe) และอัลเฟรด จี สแตง (Alfred G. Stein) โดยมีการจัดการและบริหารอยู่ที่สำนักงานเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่นาฬิกาแบรนด์ Patek Philippe กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ในช่วงยุคต้นศตวรรษที่ 20 อเมริกาคือชาติที่ร่ำรวย และถือเป็นมหาอำนาจทางการเงินในสมัยนั้น เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่จากยอดขายของนาฬิกา Patek Philippe มาจากชาวอเมริกันแทบทั้งสิ้น อ้างอิงจากบันทึกของบริษัทในปี ค.ศ. 1925 ที่กล่าวว่า อเมริกาทางเหนือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับพวกเขา ผลงานเลอค่าต่างๆ ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นชิ้นแล้วชิ้นเล่า สนองความต้องการของเหล่ามหาเศรษฐีไปจนถึงนักธุรกิจพันล้าน นาฬิกา Patek Philippe จึงกลายเป็นของสะสมของเหล่าคนมีเงินในทันที
หลังการเสียชีวิตของ Joseph Emile Philippe ลูกชายของเขา เอเดรียง (Adrien) ได้เข้ารับบริหารงานต่อในฐานะทายาทคนสุดท้ายของครอบครัวผู้ก่อตั้ง ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้บริษัทประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก จึงเริ่มมองหานายทุนใหม่ นั่นคือจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของแบรนด์ Patek Philippe ภายใต้การบริหารงานของตระกูล สะเติน (Stern)
อัศวินขี่ม้าขาว : Sterns
ในปี ค.ศ. 1929 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก เมื่อตลาดหลักทรัพย์ Wall Street ของสหรัฐอเมริกาตกลงอย่างฉับพลัน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ อังคารทมิฬ (Black Tuesday) เป็นวิกฤตการการเงินที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา เป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่มีผลกระทบทั่วโลก ซึ่งบริษัทนาฬิกา Ancienne Manufacture d’horlogerie Patek, Philippe & Cie SA ก็ไม่พ้นจากห้วงเหวนี้เช่นกัน
จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Depression) นาฬิกาหรูราคาแพง จึงไม่ใช่ของจำเป็นอีกต่อไป เมื่อไม่มีกำลังซื้อ ก็ไม่มียอดขาย ลูกค้าหลายรายต่างผิดนัดชำระหนี้ ทำให้บริษัทตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องเผชิญหน้ากับหายนะทางการเงินที่เกิดขึ้น
เพื่อป้องกันการถูกซื้อหุ้นโดยบริษัทคู่แข่ง ทางกลุ่มผู้บริหารได้ทำการติดต่อไปยัง พี่น้องตระกูล สะเติน (Stern) คือ ชาร์ล และ ฌอง สะเติน เจ้าของบริษัท “Cadrans Stern Frères” ผู้ผลิตหน้าปัดคุณภาพชั้นนำ ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้กับ Patek Philippe ที่ดีรายหนึ่งมานาน และมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ต่างตกลงใจร่วมกันในการที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของนาฬิกาสวิส
The Stern Brothers ไม่เพียงแต่ช่วยงาน Patek Philippe เท่านั้น แต่ยังได้ซื้อหุ้นในบริษัทด้วยในปี ค.ศ. 1932 และต่อมาได้ถือหุ้นเต็มภายในปีเดียวกัน
Patek Philippe ในปัจจุบัน
ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1839 จนถึงปัจจุบัน Patek Philippe ผลิตนาฬิกาออกมาน้อยกว่า 1 ล้านเรือน โดยแต่ละเรือนใช้ช่างฝีมือประกอบชิ้นนาฬิกาด้วยมือเท่านั้น พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่คนออกแบบระบบกลไก คนผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้น แต่ละรุ่นมีระยะเวลาผลิตที่แตกต่างกันไป เช่น รุ่น Basic ใช้เวลาผลิต 9 เดือน หรือในรุ่น Complicate ที่ใช้เวลาการผลิตถึง 2 ปี
นาฬิกาของ Patek Philippe มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าทุกปี ทั้งรุ่น Modern และ Vintage ถือได้ว่าเป็นนาฬิกาที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ดังคำกล่าวที่ว่า “You never actually own a Patek Philippe. You merely look after it for the next generation.” คุณไม่ได้เป็นเจ้าของนาฬิกา Patek Philippe จริงๆ แต่คุณแค่เก็บรักษามันไว้เพื่อคนรุ่นหลัง
สิ่งที่ทำให้ Patek Philippe ยังคงมั่นคงและยืนหนึ่งในคุณภาพระดับโลก นั่นคือความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จากรางวัลและสิทธิบัตรต่างๆก็เป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพได้อย่างดี ปัจจุบัน Patek Philippe ยังอยู่ภายใต้การบริหารงานของตระกูล Stern
และนี่คือเรื่องราวของ ประวัติแบรนด์ Patek Philippe ที่มีจุดเริ่มต้นจากทหารชาวโปแลนด์ที่ถูกเนรเทศ จนถึงจุดกำเนิดของแบรนด์ ที่ผ่านความท้าทายและความยากลำบาก จนมาถึงแบรนด์นาฬิกาเลอค่าในปัจจุบัน ที่ยังคงมั่นคงในความเป็นตัวตนดั้งเดิม