“I have a gift for recognising talent in other” ฉันมีพรสวรรค์สำหรับการยอมรับความสามารถพิเศษของคนอื่น ด้วยคำกล่าวนี้ทำให้การขับเคลื่อนของแบรนด์ Chloé (โคลเอ) เต็มไปด้วยพลังความคิดของคนรุ่นใหม่ ความสดใสของวัยหนุ่มสาว สร้างแบรนด์ให้มีเสน่ห์ และเอกลักษณ์เฉพาะตัว Chloé เป็นแฟชั่นเฮ้าส์หรูหราสไตล์ฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่า Maison (เมซง) แบรนด์เสื้อผ้าหรูพร้อมสวมใส่ที่ก่อตั้งโดย กาบี อากียง (Gaby Aghion)
เราจะพาคุณไปพบกับเรื่องราวของ ประวัติแบรนด์ Chloé ถูกขีดเขียนขึ้นจากผลงานการออกแบบของ เหล่าดีไซเนอร์หนุ่มสาวยุคใหม่ ของ Gaby Aghion พวกเขาสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์เปรียบเสมือนกับหญิงสาวผู้อ่อนหวานที่เดินทางผ่านยุคต่างๆ จนกระทั่งเติบโตกลายเป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์รู้จักเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง
จุดเริ่มต้น
ประวัติแบรนด์ Chloé เริ่มต้นจาก กาบี อากียง (Gaby Aghion) แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เกิดที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ เธอเป็นลูกสาวของผู้จัดการโรงงานบุหรี่ และได้พบกับ เรย์มอนด์ อากียง (Raymond Aghion) สามีของเธอ ตอนอายุ 7 ขวบที่โรงเรียนประถมศึกษา เรย์มอนด์เกิดในครอบครัวผู้มั่งคั่งที่ทำธุรกิจส่งออกฝ้าย ทั้งคู่เป็นชาวยิวและแต่งงานกันตอนอายุ 19 ปี เมื่อเริ่มมีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้น ชาวอียิปต์ที่มีแนวคิดแบบชาตินิยมเริ่มต่อต้านชาวยิว ทำให้ชาวยิวจำนวนมากถูกบังคับให้ออกจากเมือง
พวกเขาทั้งคู่จึงต้องลี้ภัย และได้ย้ายไปอยู่ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 1945 แม้ว่าเธอจะมีชีวิตที่สะดวกสบายแต่เธอก็มุ่งมั่นที่จะบอกกับสามีเธอว่า เธอต้องการทำงานและแฟชั่นก็เป็นสิ่งที่เธอเลือก เธอเริ่มตัดเย็บชุดผ้าฝ้ายขึ้นภายในอพาร์ตเม้นต์ของเธอ พร้อมกับใช้ชื่อของเพื่อนเธอเป็นชื่อแบรนด์ว่า Chloé และได้ถูกเปิดตัวขึ้นในปี 1952
แบรนด์เสื้อผ้า Chloé เป็นอีกทางเลือกของความโดดเด่น ทันสมัย หรูหรา ตามแบบฉบับของแฟชั่น โอต์ กูตูร์ ตัวแบรนด์ได้นำเสนอชุดเสื้อผ้าที่หรูหราทันสมัย ตัดเย็บด้วยผ้าเนื้อดีคุณภาพสูงและรายละเอียดที่สละสลวย Gaby Aghion ไม่ชอบรูปแบบความเคร่งขรึมของแฟชั่นในช่วงยุค 1950 เธอได้ออกแบบเสื้อผ้าโดยเน้นความอ่อนหวานและสรีระของผู้หญิง ที่สร้างจากผ้าเนื้อดีมันถูกเรียกว่า “Luxury-prêt-à-porter” หรือ ชุดหรูหราที่พร้อมสวมใส่
ในปี 1953 Gaby Aghion ร่วมมือกับ ชาคส์ เลอนัวร์ (Jacques Lenoir) เขาช่วยจัดการด้านธุรกิจอย่างเป็นทางการให้กับ Chloé และด้านความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบของแบรนด์ดูแลโดย Gaby Aghion แฟชั่นโชว์ครั้งแรกของ Chloé คือ Spring Summer Collection 1958 จัดขึ้นที่ร้าน Café de Flore ที่ซึ่งเป็นจุดนัดพบ ที่รวมตัวกันของเหล่าบรรดาศิลปินที่มีชื่อเสียง และเป็นศูนย์กลางทางปัญญาของบรรดาหนุ่มสาวชาวปารีส
จากตอนนั้นจนถึงช่วงกลางยุค 1960s แบรนด์ Chloé จะจัดแฟชั่นโชว์ในร้านกาแฟอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น การจัดแฟชั่นโชว์ที่ des Lilas ร้านกาแฟชื่อดัง โดยจัดที่นั่งสื่อมวลชนไว้อยู่รอบๆ และบนโต๊ะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่ม café au lait ในขณะที่ชมการแสดงโชว์ของบรรดานางแบบที่เดินเข้ามา และผ่านออกไปจากโต๊ะที่สื่อมวลชนนั่งอยู่
ช่วงเวลาของหนุ่มสาวนักออกแบบ
การออกแบบที่โรแมนติกและเย้ายวนใจของแบรนด์ Chloé นั้นเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากบรรดาหญิงสาว แนวคิดในการออกแบบนี้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เป็นไปตามความคาดหมายของ Gaby Aghion ที่ได้ตั้งข้อกำหนดแบรนด์ไว้ โดยที่เธอมีความเชื่อมั่นในพรสวรรค์ของคนรุ่นใหม่ และไว้วางใจให้ เชอราร์ด ปิปาร์ท (Gérard Pipart) ดีไซน์เนอร์รุ่นเยาวน์คนแรกๆ เข้ามาเป็นผู้สานต่อวิสัยทัศน์ของแบรนด์ Chloé
จากนั้น เธอก็ได้จ้างนักออกแบบหนุ่มสาวไฟแรง อย่าง แม็กซิม เดอ ลอ ฟาเลซ (Maxime de La Falaise), มิเชเล่ โรซี่ (Michéle Rosie), กราเซียล่า ฟอนตาน่า (Graziella Fontana) และ คาร์ล ลาการ์เฟด (Karl Lagerfeld) มาร่วมทำงานกับเธอ พวกเขาทำงานร่วมกัน เติบโต และผลิบานภายใต้การกำกับดูแลของ Gaby Aghion
Gaby Aghion และ Maxime de La Falaise ออกแบบชุด Shirt-Dress ที่โดดเด่น โดยที่ตัวของ Gaby Aghion เองได้ให้ความเห็นในการออกแบบชุดนี้ว่า “การออกแบบชุดกระโปรงที่เหมือนเสื้อยืดนั้นดูทันสมัย” และชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้รับกระแสตอบรับที่ดี สไตล์เสื้อผ้าแบบใหม่นี้ เป็นส่วนสำคัญที่เผยให้เห็นทัศนคติอันทันสมัยของแบรนด์ Chloé
Karl Lagerfeld นักออกแบบอัจฉริยะ
หลังจากที่ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ได้เข้ามาทำงานกับ Chloé ได้เพียง 1 ปี เขาก็ได้ออกแบบชุด Tertulia สำหรับ spring summer collection ปี 1966 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะการวาดลวดลายด้วยมือ Art Nouveau หรือ นวศิลป์ มีจุดเด่น คือ ใช้รูปแบบธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกไม้ นำมาทำเป็นลวดลายเส้นโค้งที่อ่อนช้อย ลวดลายและโทนสีของชุดสร้างความสง่างาม ความหรูหรา ในสไตล์ Chloé และอีกคอลเล็กชั่นที่โด่งดังคือ ชุด Rachmaninoff ที่มีลวดลายกราฟฟิกสีขาวดำ และผ้าที่พันอยู่รอบศีรษะ เป็นแบบอย่างของชาวโบฮีเมียน และกลุ่มคนเรร่อนในยุค 1970 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมเช่นกัน
Karl Lagerfeld พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นนักออกแบบที่มากด้วยความสามารถ และเป็นดีไซเนอร์อัจฉริยะเพียงคนเดียวของ Chloé ในขณะนั้น ชุดที่โดดเด่นของเขาในช่วงยุค 1970 คือ ชุดผ้าไหมอ่อนนุ่มที่แสดงถึงความเป็นผู้หญิง เสน่ห์ความเย้ายวนใจด้วยการปักลูกไม้บนชุดผ้าไหมอย่างประณีต ต่อมาในปี 1972 ร้านบูติกแห่งแรกของ Chloé เปิดให้บริการที่มุมถนน rue de Bac และ Rue de Gribeauval
ต่อมาได้มีการเปิดตัวผ้าคลุมแบรนด์ Chloé ในปี 1974 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเสื้อโค้ทแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ผ้าคลุมผืนเปรียบเสมือนการเล่าเรื่องผ่านบทกวี ถูกตีความอย่างไม่รู้จบตลอทศวรรษ 1970 ผ้าคลุมที่แสดงถึงความรู้สึกลื่นไหลและอิสระในการเคลื่อนไหว ตามสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่ง Chloé ได้ทำผ้าคลุมออกมา 2 แบบด้วยกัน ผืนแรกคือผ้าคลุมสำหรับฤดูร้อน ด้วยลักษณะพิเศษของผ้าคลุมจะเผยให้เห็นแสงสะท้อนของแพรไหมที่ซ่อนอยู่ในตัวของผ้าคลุม ชนิดที่ 2 คือ ผ้าคลุมฤดูหนาว ที่ถูกออกแบบให้มีการบุด้วยขนแกะที่อ่อนนุ่ม เพื่อมอบความอบอุ่นให้แก่ผู้สวมใส่
ในช่วงต้นของยุค 1980 เรื่องราวของแฟชั่นเปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นที่สามารถค้นพบแรงบันดาลใจได้ในเกือบทุกแห่ง ในแต่ละคอลเล็กชั่น สามารถดึงทุกสิ่งรอบตัวมาตีความเป็นคอนเซปในการออกแบบได้อย่างสนุกสนาน นอกจากจะออกแบบ Theme หลักเป็นเรื่องราวสำคัญ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ แล้ว แรงบันดาลใจเหล่านี้ยังนำไปสู่แฟชั่นโชว์ที่งดงาม และมีชีวิตชีวาบนรันเวย์อีกด้วย การจัดแสดงโชว์แต่ล่ะครั้งของ Chloé จึงมีสีสัน ความสนุกสนานราวกับผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งในงานปาร์ตี้ของแบรนด์เลยก็ว่าได้
สำหรับคอลเล็กชั่น Spring-Summer 1983 Karl Lagerfeld ออกแบบชุด Angkor ที่มีชื่อเสียงโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสียงเมโลดี้ที่สนุกสนานของเครื่องดนตรี ตัวชุดมีพื้นเป็นสีดำและใช้เทคนิคการปัก Rhinestone สีอทองเป็นรูปไวโอลินที่ตัวเสื้อ และเพื่อนสนิทของเขา อันโตนิโอ โลเปซ (Antonio Lopez) ตีความของการออกแบบของ Karl Lagerfeld ด้วยการวาดภาพประกอบ โดยใช้ลายเส้นที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานราวกับจังหวะดนตรีของไวโอลินพร้อมกับแต่งแต้มสีน้ำให้รูปภาพมีสีสันสดใส
และคอลเล็กชั่น Spring-Summer 1984 Karl Lagerfeld ออกแบบชุด Ciseaux มีการปักลวดลายเป็นรูปกรรไกรบนชุด การออกแบบคอลเล็กชั่นนี้มาในคอนเซ็ปต์ที่สื่อว่า “สิ้นสุดของการร่วมมือระหว่างเขากับ Chloé” ซึ่งมีความยาวนานมากว่าสองทศวรรษ และตัวของ Gaby Aghion ยังคงดูแล Chloé อยู่ จนกระทั่งปี 1985 แบรนด์จึงได้ถูกซื้อโดย อัลเฟรด ดันฮิล (Alfred Dunhill)
หลังจากที่ Karl Lagerfeld ได้แยกตัวออกไปทำแบรนด์เป็นของตัวเอง ในปี 1987 ทำให้ มาร์ทีน ซิตบอน (Martin Sitbon) ถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าดีไซเนอร์ของแฟชั่นเฮ้าส์แห่งนี้ เวลาห้าปีที่เธอดำรงตำแหน่งนี้เธอใช้เทคนิคการออกแบบที่เล่นกับความอ่อนหวานของผู้หญิง ผสมผสานกับลักษณะเฉพาะของเสื้อผ้าผู้ชายในอดีต และความแววาวของโลกคาบาเรต์
Karl Lagerfeld กลับมาร่วมงานกับ Chloé อีกครั้งในปี 1992 เขาก็ได้รวบรวมเอาวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่ยุคคลาสสิคไปจนถึงวัฒนธรรมป็อปมาไว้สำหรับใส่ในผลงาน หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เขาก็ได้เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ที่สดใสมากขึ้น ซึ่ง Fashion Show ครั้งนี้ ถูกทำให้มีชีวิตชีวาด้วยการรวมตัวซูเปอร์โมเดลชื่อดังแห่งยุคมาไว้บน Runway คอลเล็กชั่น Spring-Summer 1994 มาในแนวคิดของความบางเบาและความโรแมนติค ชุดผ้าแบบโปร่งมีลวดลายการวาดด้วยมือ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิตกรรมฝาผนังแหล่งโบราณคดีบนเกาะซานโตรินี่ หมู่เกาะกรีก
ความสำเร็จของดีไซเนอร์จากเกาะอังกฤษ
สเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ (Stella McCartney) เป็นชื่อของครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ที่จบการศึกษามาจาก Central Saint Martins โรงเรียนศิลปะระดับอุดมศึกษาในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอเข้ามาทำงานที่ Chloé เมื่อตอนอายุ 25 ปี นับว่า สเตลล่า เป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่แบรนด์เคยจ้างมา ภายใต้การกำกับดูแลของเธอ ได้มีการรวบรวมเอาความเซ็กซี่ ความร็อคแอนด์โรล ความโรแมนติกนำมาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบ
สเตลล่า ได้นำเอาความทะเล้นอ่อนเยาว์ และความเย้ายวนของผู้หญิงเข้ามาสู่แบรนด์ คอลเล็กชั่นของเธอเผยให้เห็นอิทธิพลของการผสมผสานที่ครอบคลุม ตั้งแต่สไตล์บริทป็อป การดึงเอาคอนเซ็ปต์ Girl Power มาใช้ในการออกแบบ ความมั่นใจ ความเป็นอิสระและความเข้มแข็งของสตรี สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นคอลเลคชั่นใหม่ เพื่อตอบรับความต้องการของเหล่าแฟนๆ วัยรุ่นของแบรนด์
เมื่อ สเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ ลาออกจาก Chloé ในปี 2001 ผู้ช่วยมือขวาและเพื่อนสนิทของเธออย่าง ฟีบี ฟีโล (Phoebe Philo) ก็ได้เข้ามาสานต่อและประสบความสำเร็จในฐานะครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ หลังจากการรับตำแหน่งที่แฟชั่นเฮ้าส์แห่งนี้ เธอก็เริ่มทำงานออกแบบกับเครื่องหนัง และในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2005 Chloé ปล่อยคอลเล็กชั่นกระเป๋า Paddington ที่มากับแม่กุญแจขนาดใหญ่ไซ้ซ์ XXL ซึ่งเป็นหัวใจของกระเป๋า เป็นครั้งแรกที่ ‘It Bag’ (กระเป๋าถือที่ต้องมีประจำซีซั่นนั้นๆ) ได้กำเนิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่น
ต่อมา แฮนน่า แม็คกิบบอน (Hannah MacGibbon) ถูกแต่งตั้งให้เป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของ Chloé และในปี 2009 Hannah MacGibbon ได้นำเอาความงามอันบริสุทธิ์และความซับซ้อน มาใช้เป็นแนวคิดหลัก โดยคอลเล็กชั่นของเธอปลดปล่อยความเปล่งปลั่งความกระจ่างใส และความนุ่มนวล ให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับในช่วงยุค 1970 ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ถูกสร้างไว้เป็นเวลานานหลายทศวรรษจากเหล่าครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของ Chloé
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมามีดีไซเนอร์สาวชาวอังกฤษสามคนที่ประความสำเร็จในตำแหน่งครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ได้แก่ Stella McCartney, Phoebe Philo และ Hannah MacGibbon ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์แบบใหม่ ทำให้แฟชั่นเฮ้าส์ของ Chloé เกิดแรงขับเคลื่อน ซึ่งแบรนด์มีการเปิดตัวเครื่องประดับต่างๆ รวมไปถึง กระเป๋าหนังใบเล็ก และรองเท้า โดยในปี 2010 แบรนด์ได้เปิดตัวกระเป๋า Marcie ในฐานะ iconic day bag โดยที่รูปทรงโค้งมนของกระเป๋า ที่เปรียบเหมือนสรีระความเป็นผู้หญิงบ่งบอกถึงความรู้สึกอิสระ
การมาของ แคลร์ เวท เคลเลอร์ (Clare Waight Keller) ปี 2010 ในฐานะครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ทำให้แบรนด์เด่นชัดมากขึ้น ภายใต้การดูแลของเธอ คาแรคเตอร์ของแบรนด์จะถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคอลเล็กชั่นใหม่นี้ยังเต็มไปด้วยสะดวกสบายที่ทันสมัย บวกกับความคิดที่ผ่อนคลาย อิสระ นอกจากนี้เธอยังสร้างคอลเล็กชั่นกระเป๋ารูปแบบใหม่ The Drew และ The Faye ที่เป็นสัญลักษณ์กระเป๋าสายคลาสสิคของแบรนด์
ครบรอบ 60 ปี ของ Chloé
เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 60 ของแบรนด์ Chloé ได้เฉลิมฉลองด้วยการจัดนิทรรศการ the ‘Chloé Attitude’ ขึ้นที่ Palais de Tokyo ภายในงานมีการจัดแสดงชุดจากคอลเล็กชั่นต่างๆตั้งแต่ในอดีตจวบจนถึงคอลเล็กชั่นปัจจุบัน เปรียบเสมือนการเล่าเรื่อง ประวัติแบรนด์ Chloé ผ่านการออกแบบชุดในคอลเล็กชั่นต่างๆ หลังจากนิทรรศกาลจบลงไม่นาน แบรนด์ก็ได้เปิดตัวกระเป๋า The Drew ซึ่งเป็น Item ที่โดดเด่นโดยการรวบรวมเอาเสน่ห์และจิตวิญญาณในช่วงยุค 1970 เป็นหลักสำคัญในการออกแบบซึ่งเสน่ห์นี้เป็นหัวใจสำคัญของ Chloé
ภายหลังจากการฉลองครั้งยิ่งใหญ่ครบรอบ 60 ปีของ Chloé ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gaby Aghion ก็ได้รับรางวัลกองทหารเกียรติยศแห่งฝรั่งเศส French Legion of Honor ในปี 2013 เหตุเพราะเธอเคยเข้าร่วมกับกองกำลังทหารเมื่อครั้งที่เธอย้ายมาอยู่ในปารีสช่วงแรกๆ อีกหนึ่งปีให้หลังเธอก็เสียชีวิตลงที่ปารีสเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2014 และในปีเดียวกันนั้นเองแบรนด์ได้เปิดตัว the Faye กระเป๋าสำหรับวันสำคัญและเป็นกระเป๋าที่สง่างามถูกวางมากับคอลเล็กชั่น Spring-Summer 2015
ทิศทางของ Chloé ที่ปราศจาก Gaby Aghion
เดือนมีนาคม ปี 2016 ในคอลเล็กชั่น Fall-Winter 2016 Clare Waight Keller เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากการผจญภัยของชีวิตบนท้องถนนที่เปิดกว้าง การออกแบบเผยให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสาว Chloé ที่สวมใส่กางเกงหนัง และเสื้อแจ็คเก็ต ลายเส้นแข่งรถที่เป็นลักษณะเฉพาะของคอลเล็กชั่นนี้ และในปีเดียวกันนั้น แบรนด์ได้เปิดตัวธุรกิจออนไลน์หรือ e-commerce ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีดี
ในปี 2017 Chloé ได้ประกาศแต่งตั้งให้ นาทาชา แรมซี่ย์ ลีวาย (Natacha Ramsay-Levi) เป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของแบรนด์ เธอได้สร้างแนวคิดของการออกแบบที่เป็นส่วนผสมของความสง่างาม ความสนุกสนาน และความหรูหรา สะท้อนความเป็นสาวยุคใหม่ตามแบบฉบับสาวปารีส ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Chloé ซึ่งนาทาชายังได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “ฉันต้องการสร้างแฟชั่นที่ส่งเสริมบุคคลิกภาพของผู้หญิงที่สวมใส่ ต้องการแฟชั่นที่สร้างบุคคลิกและกิริยาท่าทาง โดยปราศจากการกำหนดรูปลักษณ์”
ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ Chloé ตั้งอยู่ใน Avenue Percier ในกรุงปารีส ควบคุมโดย Richemont Group และมีสำนักงานในเขตภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และดูไบ ด้วยการบริหารงานของ Richemont Group ทำให้แบรนด์ขยายสาขาไปในหลายทวีป จนสร้างรายได้ต่อปีสูงถึง 110 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราวๆ 3,386 ล้านบาท
ถือว่า Chloé นั้นประสบความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียงในด้านการออกแบบ และด้านการดำเนินธุรกิจ โดย Gaby Aghion เองได้ให้นิยามความสำเร็จของแบรนด์ไว้ว่า “ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราทำเงินได้มากมายมหาศาลจากการทำงาน แต่มันขึ้นอยู่กับความภาคภูมิใจที่เราบอกกับคนทั้งโลกว่าเราได้ทำสิ่งนี้” ทั้งนี้แบรนด์ Chloé จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างยั้งยืนและเติบโต ถึงแม้ว่า Gaby Aghion จะได้จากไปแล้วก็ตาม