Cartier (คาร์เทียร์) เป็นแบรนด์เครื่องประดับสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงยาวนานและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นเป็นเพียงร้านเพชรธรรมดาในกรุงปารีส สู่การเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของวงการจิวเวอร์รี่ในปัจจุบัน กว่า 173 ปีแล้วที่ Cartier (คาเธียร์) ได้รับขนานนามว่าเป็น “จ้าวแห่งวงการอัญมณี” ทำให้โลกได้ยลโฉมดีไซน์การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เราจะพาไปรู้จัก ประวัติแบรนด์Cartier เรียนรู้และซึมซับจิตวิญญาณแห่งนวัตกรรมความงามนับตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้ง
จุดเริ่มต้น : The House of Cartier
ประวัติแบรนด์ Cartier เริ่มต้นจาก The House of Cartier ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1847 โดย หลุยส์ ฟรองซัวร์ คาร์เทียร์ (Louis-François Cartier) เป็นร้านจิวเวอร์รี่เล็กๆ ที่ ถนน Rue Montorgueil ในปารีส เขารับช่วงกิจการต่อจาก อดอล์ฟ พิการ์ด (Adolphe Picardat) สุดยอดช่างทำนาฬิกาขณะนั้น ในขณะที่เป็นเด็กฝึกงาน หลุยส์ได้เรียนรู้เทคนิครวมถึงวิธีการต่างๆ จาก อดอล์ฟจนเชี่ยวชาญ หลังจากนั้นไม่นาน คาร์เทียร์ก็เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดัง จากฝีมือที่ไร้ที่ติ รวมถึงดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม
ในปี ค.ศ. 1874 อัลเฟรด คาร์เทียร์ (Alfred Cartier) ลูกชายของ หลุยส์ ฟรองซัวร์ คาร์เทียร์ เข้ารับช่วงกิจการต่อ เขาตั้งเป้าหมายใหญ่ในการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยได้ดำเนินการย้ายร้านไปอยู่ที่ 13, Rue de la Paix ใจกลางเมืองปารีส ซึ่งถือว่าเป็นทำเลที่ดีที่สุด โดยร้านของเขาขึ้นชื่อว่า มีทุกอย่างสำหรับลูกค้าที่ฐานะดี ในละแวกนั้นต้องการ เลยทีเดียว
ไม่นานนัก อัลเฟรด คาร์เทียร์ ได้มอบอำนาจให้ลูกชายทั้ง 3 คนของเขา หลุยส์ (Louis), ปิแอร์ (Pierre) และ ฌาคส์ (Jacques) เข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว ด้วยความสามารถของทั้ง 3 ทำให้คาร์เทียร์ แผ่ขยายชื่อเสียง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการขยายสาขาไปยังเมืองลอนดอนและนิวยอร์คอีกด้วย
3 พี่น้องตระกูล Cartier : จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่
หลังจากเข้ามารับช่วงต่ออย่างเต็มตัว 3 พี่น้องตระกูลคาร์เทียร์ เริ่มจดสิทธิบัตรให้กับเครื่องประดับต่างๆ และนาฬิกาที่พวกเขาออกแบบ โดยหลุยส์พี่คนโต จะเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาและการออกแบบสินค้าของคาร์เทียร์มากที่สุด ผลงานสร้างชื่อ คือ การออกแบบนาฬิการุ่น Santos นาฬิกาข้อมือผู้ชายรุ่นแรกของคาร์เธียร์ หน้าปัดแบน และมีกรอบสี่เหลี่ยม เขาออกแบบนาฬิกาเรือนนี้ให้กับเพื่อนนักบินชาวบราซิลของเขา นามว่า อัลแบร์โต ซานโตส-ดูมงต์ (Alberto Santos-Dumont) ในปี ค.ศ. 1904 เนื่องจากนาฬิกาแบบพกพามีขนาดเทอะทะไม่สะดวกหยิบมาดูเวลาออกบิน นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น Santos de Cartier
ในปีเดียวกัน หลุยส์ ได้รับมอบหมายให้เป็นนักออกแบบส่วนตัวให้กับ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII) ของสหราชอาณาจักร โดยมีรับสั่งให้ทำการออกแบบรัดเกล้า สำหรับพิธีบรมราชาภิเษก ถึง 27 ชิ้น อีกทั้งยังได้กล่าวชมผลงานของคาร์เทียร์ว่า “Jewellers of the King and King of Jewellers” อัญมณีสำหรับราชาและราชาแห่งอัญมณี รวมถึงได้รับหนังสือรับรองจากราชวงศ์อีกด้วย
ด้วยความที่หลุยส์ชื่นชอบศิลปะแบบ Art Nouveau เป็นพิเศษ (อาร์นูโว หรือ ศิลปะประยุกต์ โดยมีจุดเด่นคือการผสมผสานความงามจากธรรมชาติ มาใช้เป็นส่วนนึงของการออกแบบต่างๆ) เขาจึงได้นำความรู้ความชอบที่มี มาผสมผสานออกแบบเครื่องประดับ รวมทั้งนาฬิกาของคาร์เทียร์ ที่สำคัญมีการนำแพลตตินั่ม เพชร และหินมีค่า มาเป็นส่วนนึงในการออกแบบ ทำให้เครื่องประดับมีความงดงาม โดดเด่น เปล่งประกาย
ในส่วนของทายาทคนกลาง “ปิแอร์” ได้เดินทางไปนครนิวยอร์ค เมื่อปี ค.ศ. 1909 ซื้อแมนชั่นหรูที่ 653 Fifth Avenue เพื่อมาแปลงโฉมเป็นที่ตั้งของ บูทิคคาร์เทียร์ ปิแอร์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ที่นิวยอร์ค เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับที่สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในคอลเลกชั่นที่มีชื่อว่า Clou และ Love หรือ Bracelets (Cartier’s Love bracelet) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับทายาทคนสุดท้องผู้มีนามว่า “ฌาคส์” ได้ก่อตั้งบูทิคคาร์เทียร์ เมื่อปี ค.ศ.1902 ที่ ถนน New Bond Street ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 1911-1912 เขาได้เดินทางไปบุกเบิกตลาดค้ามุก สานสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ที่อ่าวเปอร์เซีย และดินแดนแถบตะวันออกกลาง เขาได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เครื่องประดับที่ทำจากมุกอันเป็นเอกลักษณ์แห่งทะเลเปอร์เซีย โดยบันทึกเรื่องราวผ่านสมุดบันทึกและภาพถ่ายไว้ตลอดระยะเวลาที่เขาเดินทาง
La Panthère : ความสง่างามกับจุดเริ่มต้นของเสือดาว
อีกหนึ่งสุดยอดตำนานของ Cartier ที่มีส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของแบรนด์ นามว่า ฌอน ทูส์แซงต์ (Jeanne Toussaint) เด็กสาวมากความสามารถจากประเทศเยอรมัน ที่เดินทางมาตามหาความฝันในปารีส จนพบกับ หลุยส์ คาร์เทียร์ และตกลงร่วมงานกันในปี ค.ศ. 1913 “La Panthère” คือฉายาของเธอผู้นี้ ด้วยความที่เธอหลงไหลในความสง่างามของเสือดาว โดยสังเกตได้จากอาภรณ์และของแต่งบ้านของเธอที่เต็มไปด้วยผลงานจากหนังเสือดาวที่เธอชื่นชอบ
ย้อนไปในสมัยศตวรรษที่ 16-17 ในช่วงเวลานั้น เทรนด์แฟชั่นเครื่องแต่งกายจากเสือดาวแพนเธอร์ได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นความสุดยอดด้านแฟชั่น รวมถึงเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของผู้คนในสมัยนั้น หลังจากที่ ฌอน ทูส์แซงต์ ได้ร่วมงานกับหลุยส์ เธอได้ใช้โอกาสจากแฟชั่นสมัยนิยมนี้ ออกแบบนาฬิกาและเครื่องประดับ แต่งแต้มลายจุดเสือบนผลงาน ผสมผสานร่วมกับงานศิลปะที่หลุยส์ถนัด ก่อเกิดเป็นนาฬิการุ่น Panthère ซึ่งประดับประดาด้วยเพชรและหิน
ในปี ค.ศ. 1917 เธอได้รับของขวัญชิ้นสำคัญจากหลุยส์ คาร์เทียร์ 2 ชิ้น ที่จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบของเธอ นั่นก็คือ Vanity Case กับ เคสใส่บุหรี่ที่ประดับด้วยเสือดำแพนเธอร์ ทำจากแพลตินั่ม เพชร และหิน เสือดาวแพนเธอร์นี้ กลายมาเป็นสัญญลักษณ์ประจำตัวของเธอ ด้วยความสามารถและรสนิยมที่เป็นเลิศ ทำให้หลุยส์ชื่นชมในตัวเธอมาก จากที่เคยเป็นแค่หัวหน้าฝ่ายเครื่องหนัง จนในเวลาต่อมาหลุยส์ได้แต่งตั้งให้เธอเป็นหัวหน้าฝ่ายเครื่องเงิน ในปี ค.ศ. 1924
ความก้าวหน้าในอาชีพการงานของ ฌอน ทูส์แซงต์ มาพร้อมกับการพัฒนาและความก้าวหน้าของ Cartier ด้วยเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1933 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์การออกแบบ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งสำคัญนี้ โดยทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ปิแย เลอมาร์คฌอง (Pierre Lemarchand) จากแนวคิดรวมถึงการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร สู่เครื่องประดับชิ้นสำคัญหลายรุ่นในศตวรรษที่ 20 เสือแพนเธอร์จึงกลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของ Cartier ไปโดยปริยาย
ในปี ค.ศ. 1948 ดยุกแห่งวินด์เซอร์ (สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักร) สั่งทำเข็มกลัดเพื่อเป็นของขวัญพิเศษ แด่ดัชเชส วอลลิส โดยมีรูปร่างเป็นเสือ ทำจากวัสดุที่เรียกว่า Emerald Cabochon (หยกอีนาเมล) มีน้ำหนักกว่า 116 กะรัต และในปี ค.ศ. 1949 Cartier ได้รังสรรค์แซฟไฟร์สีน้ำเงินจากแคชเมียร์ ที่มีน้ำหนักถึง 152.35 กะรัต พร้อมตัวเรือนที่ทำจากแพลตตินัม เพชรและทองคำ โดยดัชเชสแห่งวินเซอร์ ก็ได้ครอบครองผลงานอันเลอค่าชิ้นนี้อีกเช่นเคย
ฌอน ทูส์แซงต์ ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของ Cartier ที่นำแบรนด์ไปสู่ความเป็นสุดยอดผู้นำด้านเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำที่เสนอแนวคิดในการผลิตเครื่องประดับและสินค้าของผู้หญิงให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น จากที่เคยออกแบบเครื่องประดับสำหรับผู้ชายเป็นหลัก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ มีผลกระทบมาถึง Cartier แต่ทูส์แซงต์ก็ยังคงเดินเคียงข้างคาร์เทียร์ตราบจนวาระสุดท้ายของเธอ ในปี ค.ศ. 1978
Richemont Group : อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Cartier
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายธุรกิจโดนผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ อันเนื่องมาจากภาวะหลังสงครามครั้งที่ 2 Cartier เองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ประกอบกับการออกแบบเครื่องเพชรและเครื่องประดับอื่นๆ ไม่ค่อยหลากหลายมากเหมือนเก่า ทำให้กระแสความนิยมของ Cartier แผ่วลง
ในปี ค.ศ. 1972 โจเซฟ กานูย (Joseph Kanoui) นำกลุ่มนักลงทุน เข้าซื้อต่อกิจการของ Cartier ในปารีส รวมถึงสาขาที่ลอนดอนและนิวยอร์ค รวบกิจการทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อเกื้อหนุนในแบรนด์ให้ก้าวไปข้างหน้า จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2012 Cartier ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท Richemont Group
Cartier ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน Cartier อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Richemont Group บริษัทด้านการเงินระหว่างประเทศ สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ถูกจัดอันดับให้เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดลำดับที่ 59 ของโลกในปี ค.ศ. 2018 โดยนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) นิตยสารธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา
Cartier ถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก สร้างสรรค์ผลงานที่มีสไตล์ ทั้งอัญมณี เครื่องประดับ รวมถึงนาฬิกา น้ำหอม ผสมผสานงานศิลปะจากทั่วโลก โดยมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าแฝงไว้ในผลงานทุกชิ้น และสิ่งเหล่านี้ยังคงความสง่างามเฉกเช่นเสือดาวตราบจนทุกวันนี้
รัก
xoxo