ประวัติ Audemars Piguet (โอเดอะมาร์ส ปิเกต์) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป ภายใต้ตัวอักษรย่อ “AP” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์นาฬิกา ที่มีความเก่าแก่เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากล เป็นเวลากว่า 147 ปีแล้ว ที่ AP ได้สั่งสมความสามารถ ฝีมือและประสบการณ์ในการผลิตนาฬิกา ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปราณีตและความงดงามจากช่างผลิตนาฬิกาชั้นสูง รวมถึงยังเป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิการะดับ Holy Trinity
หลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตากันดีกับ “Royal Oak” หนึ่งในรุ่นนาฬิกาที่ขึ้นชื่อของแบรนด์ ซึ่งเป็นที่จับตาและเป็นที่ต้องการของนักสะสมนาฬิกาอย่างแพร่หลาย วันนี้ KATEXOXO จะพาคุณย้อนเวลากลับไปทำความรู้จักกับแบรนด์นาฬิการะดับตำนานนี้ให้มากขึ้น เส้นทางของ Audemars Piguet มีความเป็นมาอย่างไร อะไรที่ทำให้แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่แบรนด์นี้ ยังคงยืนหยัดและครองใจคนทั่วโลก มาจนถึงทุกวันนี้
History of Audemars Piguet
ประวัติ Audemars Piguet (โอเดอะมาร์ส ปิเกต์) เริ่มต้นขึ้น ในปี ค.ศ. 1875 โดย Jules Louis Audemars (จูลส์-หลุยส์ โอเดอะมาร์ส) และ Edward August Piguet (เอ็ดวาร์ด -ออกัสต์ ปิเกต์) ช่างนาฬิกาผู้มากความสามารถทั้งสอง ทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่ได้สนิทสนมกันจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1874 ในช่วงนั้น Audemars อายุได้ 24 ปี และ Piguet ในวัย 22 ปี เขาทั้งคู่ได้ร่วมหุ้นกับ Lesedi Selapyane และเริ่มต้นธุรกิจของพวกเขา
ในปี ค.ศ. 1881 Audemars Piguet & Cie ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ Le Brassus ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง Vallée de Joux ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทั้ง Audemars และ Piguet ต่างก็สั่งสมประสบการณ์ โดย Audemars จะทำหน้าที่ในการผลิตและออกแบบกลไกฟังก์ชั่นชั้นสูง รวมทั้งเทคนิคต่าง ๆ ให้กับนาฬิกาแบบพกพา หรือ “Pocket Watch” จนได้รับการยอมรับจากแบรนด์นาฬิกามากมาย ให้ทางแบรนด์ช่วยทำการผลิตกลไกให้
ในส่วนของ Piguet ให้ความสำคัญในด้านการขาย การจัดการ และการตลาด โดยเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในเจนีวา (Geneva) ซึ่งทำให้แบรนด์ใกล้ชิดกับลูกค้าใหม่ ๆ หลายราย โดยเจนีวายังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่เหมาะสมสำหรับการกระจายสินค้าในยุโรปและต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1885 และเริ่มทำการขยายแบรนด์ ออกสู่ต่างประเทศ โดยทำการเปิดสาขาที่กรุง London ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1888 และก้าวไปสู่การเปิดสาขาอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น New York, Buenos Aires, Berlin และ Paris ในปีต่อมา
ด้วยประสบการณ์และฝีมือที่ถูกสั่งสมมา ทำให้แบรนด์มีชื่อเสียงอย่างก้าวกระโดด โดยในปี ค.ศ. 1982 แบรนด์ได้ผลิตสร้างนาฬิกาข้อมือทวนเข็มนาทีเรือนแรก นาฬิกามีฟังก์ชั่นกลไก Minute Repeater หรือที่รู้จักกันในชื่อ ระบบกลไกตีบอกเวลาด้วยเสียง ที่ใช้กับนาฬิกาข้อมือได้เป็นครั้งแรกของโลก
และในปี ค.ศ. 1899 Audemars Piguet ก็ก้าวเข้าสู่เวทีโลกอย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดตัวนาฬิกาพก Grand Complication ซึ่งประกอบด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานอันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น ตัวทวนนาที นาฬิกาปลุก ปฏิทินถาวร วินาทีเดดบีต โครโนกราฟ และเข็มเสี้ยววินาที โดยนำเสนอผลงานนี้ ในงาน World Fair ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส บริษัทนาฬิกาของเยอรมัน ได้ซื้อนาฬิการุ่นนี้และนำไปใส่เคส โดยออกจำหน่ายภายใต้ชื่อ “The Universelle”
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900s Audemars Piguet ได้ร่วมงานกับแบรนด์เครื่องประดับที่มีชื่อเสียงหลายแบรนด์ รวมถึงร้านค้าปลีกนาฬิกาในต่างประเทศ จาก Bulgari ในกรุงโรม , Cartier ในปารีส ไปจนถึง Tiffany & Co. ในนิวยอร์ก Audemars Piguet ผลิตนาฬิกาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหราในโลกตะวันตก โดยหน้าปัดของนาฬิการุ่นพิเศษเหล่านี้จะระบุชื่อแบรนด์นั้น ๆ เพียงอย่างเดียวหรือชื่อแบรนด์คู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของแบรนด์ ให้เป็นที่รู้จักในวงสังคมชนชั้นสูงมากยิ่งขึ้น
Audemars และ Piguet ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1918 และ ปี ค.ศ. 1919 แต่กระนั้น ธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไป โดยอยู่ภายใต้การบริหารของ Paul Louis Audemars และ Paul Edward Piguet ทายาทรุ่นต่อมา ซึ่งเป็นลูกของ Audemars และ Piguet โดยทั้งคู่ต่างก็เป็นช่างนาฬิกามากฝีมือ ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พร้อมที่จะสืบสานมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษของตน เพื่อสานต่อปณิธานและความตั้งใจอันแน่วแน่ ของสองผู้ก่อตั้ง ในการสร้างสรรค์นาฬิกาที่มีความซับซ้อนคุณภาพสูง
In the hands of the next generation
ผู้นำรุ่นที่สองของ Audemars Piguet ยังคงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องโดยเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ในช่วงต้นถึงกลางปี 1900s แบรนด์ AP ก็สามารถผลิตคิดค้นนาฬิกา ที่ขึ้นชื่อว่า “ที่สุดของโลก” ออกมาทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกัน โดยในปี ค.ศ. 1921 ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือแบบ Jumping-Hour เรือนแรกของโลก เปิดตัวควบคู่ไปกับนาฬิกาพก นาฬิกาทั้งสองเรือนใช้ระบบกลไก HPVM10
ถัดมาคือ Caliber 17SVF#5 ซึ่งเป็นชื่อของกลไกนาฬิกาพกที่มีขนาดบางที่สุด โดยมีความบางเพียง 1.32 มิลลิเมตร และสุดท้ายตามด้วยกลไกทวนสัญญาณ Minute Repeater ที่เล็กที่สุดในโลก ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 15.8 มิลลิเมตร ตัวเรือนในจี้แพลตตินั่ม นาฬิกาทั้งเรือนมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 21.1 มม. และผลิตขึ้นสำหรับประธานบริษัท Tiffany & Co. ในขณะนั้นโดยเฉพาะ
ในขณะที่ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Patek Philippe , Rolex และ Cartier ดำเนินรอยตามแบบสมัยนิยม โดยในปี ค.ศ. 1930 แบรนด์นาฬิกาหลายแบรนด์ได้ทำการปลุกกระแส นาฬิกาแบบ “Jump Hour Display” มากขึ้น ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า Audemars Piguet เป็นผู้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสไตล์ที่แท้จริง
นอกเหนือจากนาฬิกาข้อมือแบบ Jumping-Hour เรือนแรกของโลกแล้ว ผู้ผลิตหลายรายได้มุ่งความสนใจไปที่นาฬิกาข้อมือแบบ Minute Repeater ด้วย อีกทั้งทางแบรนด์ยังได้นำเอากลไก pendant repeaters ที่เคยอยู่ในนาฬิกาผู้หญิง มาใส่ในนาฬิกาข้อมือสำหรับผู้ชาย ในเวลาเดียวกัน
Dark times
แต่แล้วแบรนด์ AP ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก จากการล่มสลายของตลาดหุ้น Wall Street ในปี ค.ศ. 1929 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ นั่นหมายถึงจุดเริ่มต้นของช่วงเวลายากลำบากในสายการผลิต การสูญเสียลูกค้าที่สำคัญที่สุดในสหรัฐอเมริกาบางราย รวมถึงยอดขายที่ลดลงทั่วโลก ด้วยความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยน้อยลง ในปีนั้นเอง บริษัทเกือบต้องปิดตัวลงเลิกจ้างพนักงานเกือบทั้งหมด โดยเหลือช่างทำนาฬิกาเพียง 3 คน และมีการผลิตนาฬิกาออกมาแค่เรือนเดียว
น่าเสียดายที่ประวัติของแบรนด์ในช่วงเวลานี้ไม่ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี ว่ากันว่าตลอดช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Audemars Piguet ผลิตนาฬิกาได้ทั้งหมดเพียงสามเรือนเท่านั้น คาเมรอน ไวส์ อดีตช่างซ่อมนาฬิกาของ Audemars Piguet ได้บันทึกว่าแบรนด์นี้ผลิตนาฬิกาที่ซับซ้อนอย่างน้อยหนึ่งเรือนทุกปีนับตั้งแต่เปิดตัว บางทีนี่อาจเป็นการไล่ตามคำทำนายที่มีเกียรติที่สุดที่ทำให้แบรนด์ ยังคงยืนหยัดได้อยู่ ในยุคที่มืดมนที่สุด
แต่อุปสรรคครั้งนี้ ก็ไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่นและความต้องการที่จะพัฒนาการผลิตนาฬิกาของ Audemars Piguet ลงได้ ในปี ค.ศ. 1934 ทางแบรนด์ได้ทำการเปิดตัวนาฬิกาข้อมือแบบ Skeleton ของแบรนด์ซึ่ง ว่ากันว่าเป็นเรือนแรกของโลกด้วย นาฬิกาแบบ Skeleton จะมีหน้าปัดและฝาหลังแบบโปร่งทำให้สามารถมองเห็นระบบกลไกภายในได้ โดยกระบวนการผลิตจะต้องอาศัยความชำนาญและความปราณีตในการรังสรรค์ชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ผลงานออกมาสวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุด
หลังวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลาย พร้อมกับสถานการณ์ของแบรนด์เริ่มดีขึ้น ทาง Audemars Piguet ได้เดินหน้าเปิดตัวกลไก Calibre 9ML ในปี ค.ศ. 1938 ซึ่งกลายเป็นกลไกนาฬิกาข้อมือที่บางที่สุดในโลก ณ เวลานั้น โดยมีความหนาเพียง 1.64 มิลลิเมตร และตัวกลไกนี้เอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกัน ระหว่างแบรนด์ Audemars Piguet กับ Jaeger-LeCoultre และ Vacheron Constantin ซึ่งมีชื่อเสียงในยุคนั้นอีกด้วย
Introducing The Royal Oak
ในช่วงปี 1970s เป็นช่วงที่ตลาดนาฬิกาสวิส ต้องเผชิญกับ Quartz Crisis อันเป็นวิกฤติการณ์นาฬิกาควอตซ์ญี่ปุ่น ไล่ทุบนาฬิกาสวิส จนเกือบปิดตำนาน สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นาฬิกาหลายแบรนด์ ต้องปิดตัวลง ส่วนแบรนด์ที่ยังเหลือ ก็ต้องทำการต่อสู้ โดยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอดของแบรนด์ Audemars Piguet ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ยังยืนหยัดต่อสู้ โดยการทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาความต้องการของตลาดนาฬิกาในขณะนั้น
ในช่วงนั้น นาฬิกาที่ตัวเรือนทำจาก Stainless Steel กำลังได้รับการสนใจ ทางแบรนด์จึงลองทำนาฬิกาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยมีจุดประสงค์ให้นาฬิกามีความแปลกใหม่ โดดเด่นและแปลกตากว่านาฬิการุ่นอื่น ๆ Audemars Piguet ได้ร่วมมือกับ Gerald Genta นักออกแบบนาฬิกาลูกครึ่งสวิส-อิตาเลียน ซึ่งมีชื่อเสียงในแวดวงการผลิตนาฬิกา เพื่อมาร่วมกันออกแบบ ซึ่ง Gerald Genta ได้ตอบตกลงในทันที
Gerald Genta ใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในการร่างแบบนาฬิการุ่น Royal Oak ซึ่งมีความแตกต่างจากนาฬิการุ่นอื่น ๆ ที่ปรากฏในตลาดนาฬิกาในสมัยนั้น ฉีกกรอบดีไซน์แบบเดิม ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง นาฬิกาสไตล์ Sport Luxury มาพร้อมกับหน้าปัดทรงกลมภายในกรอบแปดเหลี่ยม หน้าปัดสีน้ำเงินลายตาราง Petite Tapisserie มีตัวน็อตทรงหกเหลี่ยม 8 ตัวทำจากทองประดับอยู่ทุกมุมบนกรอบหน้าปัด การออกแบบที่น่าสนใจนี้ ทำให้ Royal Oak ได้กลายเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่โดดเด่นที่สุดและยังคงเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด
ที่มาของชื่อรุ่น Royal Oak มีที่มาจากต้นโอ๊คเก่าแก่ ที่พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ใช้สำหรับหลบซ่อนตัวจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐสภาช่วงภาวะสงครามกลางเมือง Worcester ทำให้ต้นโอ็คต้นนั้น ถูกขนานนามว่า Royal Oak และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องและความปลอดภัยตั้งแต่นั้นมา โดย Audemars Piguet ได้นำชื่อดังกล่าว มาตั้งเป็นชื่อของรุ่นนาฬิกา ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความหรูหราของแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน
แบรนด์ได้ทำการเปิดตัว Royal Oak ในปี ค.ศ. 1972 ในงาน Swiss Watch Show (หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันในชื่องาน Baselworld) โดยราคาเปิดตัวอยู่ที่ 3,300 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 110,000 บาท ซึ่งแพงกว่านาฬิกาเรือนทองของ Patek Philippe และแพงกว่า Rolex Submariner ถึง 10 เท่าในขณะนั้น สร้างเสียงฮือฮาในเรื่องของการออกแบบที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร โดยในช่วงแรก ทาง AP ได้ทำการผลิตและจำหน่าย Royal Oak จำนวน 1,000 เรือน ภายใต้รหัส Ref. 5402 หรือ “A-series”
หลังจากเปิดตัวได้ 3 ปี นาฬิกา Royal Oak จึงได้รับการยอมรับ และได้รับความสนใจจากเหล่าบรรดานักสะสมมากขึ้น ด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากนาฬิกาทั่วไป ทำให้ Audemars Piguet “Royal Oak” กลายเป็นนาฬิกาที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหากรรมนาฬิกาเป็นอย่างมาก
หลังจากกระแสความนิยมของนาฬิการุ่น Royal Oak แบรนด์ก็ยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาและทำการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เสมอ ในปี ค.ศ. 1986 Audemars Piguet ก็ได้สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว Audemars Piguet 25643 Ultra Thin Automatic Tourbillon พร้อมกลไก Calibre 2870 นาฬิกากลไกออโตเมติกทูร์บิญองที่บางเฉียบที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ซึ่งมีความบางเพียง 4.8 มิลลิเมตร และนั่นทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์โด่งดังมากขึ้นไปอีก
ในปี ค.ศ. 1993 ได้ถือกำเนิดนาฬิการุ่น Royal Oak Offshore ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากนาฬิการุ่น Royal Oak โดยจุดประสงค์เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนที่มีสไตล์เป็นของตัวเองและไม่ชอบความจำเจ ในครั้งนี้ ทางแบรนด์ได้ว่าจ้างนักออกแบบรุ่นใหม่ นามว่า Emmanuel Gueit เพื่อทำการออกแบบนาฬิกา Royal Oak Offshore
Royal Oak Offshore โดดเด่นด้วยความเป็นสปอร์ตที่อัดแน่นอยู่ในตัว มาพร้อมกับหน้าปัดที่มีขนาดใหญ่ 42 มิลลิเมตร ภายใต้เอกลักษณ์กรอบแปดเหลี่ยมแบบดั้งเดิม เพิ่มเติมคือภาพลักษณ์ที่ดูแข็งแกร่งดุดัน จนได้รับการขนานนามว่า “The Beast” กับดีไซน์ที่ได้รับการออกแบบอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นส่วนโค้งที่เชื่อมสายข้อมือ ปุ่มกดด้านข้าง เม็ดมะยมติดซีลยางที่มีดีไซน์แบบร่วมสมัย หน้าปัดลายตาราง Tapisserie อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์
นาฬิการุ่น Royal Oak Offshore ได้รับการตอบรับ และสร้างกระแสนิยมได้เป็นอย่างดีเช่นเคย โดยถูกสวมใส่บนข้อมือดารานักแสดง นักกีฬา ศิลปินแร็ปเปอร์ และนักสะสมที่ชื่นชอบแฟชั่น เรียกได้ว่าเป็นนาฬิกาเข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ได้อย่างแท้จริง
Pricing and Collectibility of an Audemars Piguet
ราคาของ Audemars Piguet นั้นแตกต่างกันไปตามคอลเล็กชั่น วัสดุ และอัญมณีใด ๆ เช่นเดียวกับการซื้อจากบูติกหรือในตลาดซื้อขายมือสอง ในตลาดมือสอง ราคาของนาฬิกาจะมีราคาตั้งแต่ 7,950 ถึง 300,000 เหรียญสหรัฐ Audemars Piguet ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Holy Trinity of Watches ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดของนาฬิกาสวิส ควบคู่ไปกับ Vacheron Constantin และ Patek Philippe นาฬิกามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีระดับของงานฝีมือที่ไม่มีใครเทียบได้
การได้เป็นเจ้าของนาฬิกา Audemars Piguet นับว่าเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดของนักสะสมนาฬิกาหลายคน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าการขายปลีกรองของ Royal Oak ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความต้องการของตลาด ปัจจุบัน ในตลาดรอง Royal Oak รุ่น Steel มีการซื้อขายมากกว่ามูลค่าการขายปลีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความจริงที่ว่าอุปสงค์มีมากกว่าอุปทานนั่นเอง และอาจสืบเนื่องมาจากการประกาศว่า Royal Oak รหัส 15202ST จะหยุดผลิตในปี 2022
ปัจจุบัน แบรนด์ Audemars Piguet ยังคงสร้างสรรค์และมีการพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยยังคงคอนเซ๊ปการผลิตนาฬิกาที่มีคุณภาพสูงและมีความซับซ้อน ด้วยการใช้วัสดุแปลกใหม่ สร้างความแตกต่างให้ผสมกลมกลืนไปได้ทุกยุคทุกสมัย แบรนด์ยังคงสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมนาฬิกาในด้านการออกแบบ วัสดุ และความซับซ้อน โดยยังคงเป็นธุรกิจอิสระที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัว ทั้งหมดนี้คือ ประวัติ Audemars Piguet
รัก
xoxo