To top
30 May

Yayoi Kusama จากภาพหลอนที่กลายเป็นสุดยอดศิลปะ

Yayoi Kusama (ยาโยอิ คุซามะ) ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันเป็นอย่างดีทั่วโลก ศิลปินผู้หลงไหลคลั่งไคล้ในลวดลายจุด (Polka Dot) จนนำมาถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะมากมาย หนึ่งในนั้นคือผลงาน ที่ได้ร่วมมือกับแบรนด์ Louis Vuitton ในการออกแบบคอลเล็กชั่นพิเศษ มีชื่อว่า “Louis Vuitton – Yayoi Kusama” เมื่อปี ค.ศ. 2012 นั่นทำให้ลายจุด “Dot Infinity” ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก

แต่เบื้องหลังของความสำเร็จนั้น แฝงไว้ด้วยความเศร้า ประวัติของยาโยอิ คุซามะ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เรียบง่ายสวยหรูอย่างที่ใคร ๆ คิด มีคำกล่าวไว้ว่า มีเส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างความเป็นศิลปินกับคนบ้า เธอเป็นใครกันแน่ ? ศิลปินเอก หรือผู้ป่วยทางจิต ? คนบ้า หรือคนดัง ? ผู้หญิงหัวรุนแรง หรือผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว ? ไปทำความรู้จักกับเธอ พร้อมหาคำตอบว่า อะไร อยู่เบื้องหลังศิลปะลายจุดอันน่าพิศวงนี้

Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

Yayoi Kusama

 

Yayoi Kusama

ยาโยอิ คุซามะ เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี ค.ศ. 1929 ที่เมือง Matsumoto (มัตสึโมโตะ) จังหวัด Nagano (นากาโนะ) ประเทศญี่ปุ่น เป็นลูกสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน ครอบครัวของเธอค่อนข้างมีฐานะ และเคร่งครัดในประเพณี มีธุรกิจของครอบครัวคือธุรกิจฟาร์มเมล็ดพันธุ์พืช แต่ชีวิตในวัยเด็กของเธอไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากปัญหาภายใน ด้วยความที่บิดาของเธอเป็นเสือผู้หญิงจอมเจ้าชู้ เป็นเหตุให้มารดาของคุซามะเกิดความเครียด และมักจะให้เธอไปคอยสอดแนมพ่อกับชู้รักอยู่เสมอ ๆ

Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023-family-japan

สิ่งนั้น ทำให้คุซามะ เกิดปมในจิตใจ ความขัดแย้งเรื่อง “เพศ” ในใจของคุซามะ ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่ของเธอ สภาพสังคมของญี่ปุ่นในอดีตที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวแต่เพศหญิงถูกกดขี่ ภาพที่เธอเห็นอยู่บ่อยครั้งคือภาพของพ่อและชู้รักกำลังร่วมสัมพันธ์สวาท ปลูกฝังให้คุซามะเกลียดชังในเรื่องเพศ โดยเฉพาะเรือนร่างและอวัยวะเพศชาย กลายเป็นความขัดแย้ง สร้างบาดแผลในใจที่ไม่อาจลบเลือน

Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

เมื่ออายุได้ 10 ขวบ คุซามะ เริ่มมองเห็นภาพหลอนเป็นครั้งแรก เธอใช้การวาดภาพอธิบายสิ่งที่เธอมองเห็นในหัว เธออธิบายลักษณะของสิ่งที่เธอเห็น ว่าเป็น “แสงแฟลชวูบวาบ แสงออร่า จุดหนาทึบ และดอกไม้” โดยผลงานชิ้นแรก ๆ ในช่วงมัธยมปลาย มักจะเป็นภาพวาดคน สัตว์ สิ่งของ ที่เธอมองเห็นรอบ ๆ ตัว หลังจากนั้น ในวัย 19 ปี เธอได้เข้าศึกษาต่อด้านศิลปะที่ Kyoto Municipal School of Arts and Crafts โดยเลือกวิชาเอกคือการเขียนภาพญี่ปุ่นดั้งเดิมหรือ Nihonga แต่สุดท้ายก็พบว่า มันยังไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบเท่าไหร่นัก

ผลงานช่วงต้นของ ยาโยอิ (1948)-Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

ผลงานช่วงต้นของ ยาโยอิ (1948)

เมื่ออายุได้ 21 ปี การสร้างสรรค์ผลงานของคุซามะเริ่มเด่นชัดมากขึ้น โดยการสร้างเอกลักษณ์ผ่านผลงานชุด Infinity Nets ซึ่งเธอใช้แรงบันดาลใจมาจากความทรงจำที่มีในวัยเด็ก เธอเรียกการปลดปล่อยพัฒนาการของตัวเองจากความกลัวที่จะต้องเห็นภาพหลอนแบบไม่สิ้นสุดนี้ว่า “การลบเลือนตัวเอง (self-obliteration)” เธอสร้างสรรค์ผลงานด้วยลวดลายรูปแบบซ้ำ ๆ ดังเช่นตัวอย่างผลงาน NO.2 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานชุด Infinity Nets เกิดจากการใช้แปรงวาดและทิ่มลงบนผ้าใบเป็นร่องจุด ๆ ซ้ำ ๆ กัน

ผลงาน No.2 ถูกประมูลในปี 2008 ในราคาประมาณ 186,872,625 บาท-Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

ผลงาน No.2 ถูกประมูลในปี 2008 ในราคาประมาณ 186,872,625 บาท

หลังจากเรียนจบ คุซามะยังคงทำงานอยู่ในโตเกียว เธอเยียวยาหัวใจอันแตกสลายของเธอด้วยงานศิลปะ แต่น่าเสียดายที่งานศิลปะยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมญี่ปุ่นในขณะนั้น แม่ของเธอก็ไม่เห็นด้วยกับงานของเธอ อีกทั้งยังเคยฉีกผลงานทิ้งด้วยมือตัวเอง กรอบความคิดที่ว่าผู้หญิงต้องแต่งงานเป็นแม่บ้านเริ่มทำร้ายจิตใจเธออีกครั้ง ผลงานของเธอในช่วงนั้นจึงแฝงไว้ด้วยความขบถ ความหม่นหมอง และเธอต้องการปลดแอกตัวเองออกจากสังคมเหล่านี้

ครอบครัวไม่ยอมรับ สังคมที่ปฏิเสธงานศิลปะ ความอึดอัดทั้งหมดได้รับการปลดเปลื้อง เมื่อวันหนึ่งคุซามะเดินผ่านร้านหนังสือมือสองแถวบ้าน เธอสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่งที่มีรูปวาดของ Georgia O’Keeffe (จอร์เจีย โอคีฟ) ศิลปินชาวอเมริกัน ศิลปะแบบอาวองการ์ด (Avant-garde) ซึ่งสร้างความประทับใจให้คุซามะเป็นอย่างมาก เธอตัดสินใจเขียนจดหมายไปหาจอร์เจีย หลังจากได้รับจดหมายตอบกลับ คุซามะตัดสินใจทันทีว่า เธอจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

Influence on American Art 

ในปี ค.ศ. 1957 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุซามะในวัยสาว ตัดสินใจรวบรวมความกล้า เดินหน้าหนีสังคมกับความเชื่อเดิม ๆ ไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ที่เธอเชื่อว่าจะได้พบกับเสรีแห่งความคิด และได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยเธอนำผลงานภาพวาดของเธอกว่าสองพันชิ้นติดตัวเธอไปด้วยเพื่อขายยังชีพ และได้ตัดสินใจเผาภาพที่เหลือหลายร้อยชิ้น ซึ่งเก็บอยู่ที่บ้านในเมืองมัตสึโมโตะทั้งหมด แต่ทว่าอุปสรรคมันยังไม่จบเพียงเท่านี้

สังคมในสหรัฐอเมริกา ยังคงบดขยี้จิตใจหญิงสาวจากซีกโลกตะวันออกผู้นี้อยู่ดี หลังสงครามประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศคู่สงคราม เธอจึงไม่เป็นที่ต้อนรับเท่าใดนัก หลายต่อหลายครั้งที่ผลงานของเธอ ถูกปฏิเสธการจัดแสดง ผลงานที่เคยสร้างชื่อให้เธออย่าง Infinity Net ถูกขายได้ในราคาเพียง $200 บางวันเธอต้องนอนริมถนน หรือคุ้ยถังขยะเพื่อหาเศษอาหารเพื่อยังชีพ

ความโหดร้ายของสังคมยังคงกดดันเธออย่างต่อเนื่อง แต่เธอก็ไม่เคยยอมแพ้ เธอยังยืนยันที่จะส่งผลงานของเธอไปตามแกลอรี่ต่าง ๆ เพื่อแสดงผลงานท่ามกลางศิลปะของบุรุษเพศมากหน้าหลายตา สหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เป็นพื้นที่อพยพของผู้ลี้ภัยบางกลุ่ม มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นแหล่งรวมศิลปินต่างแดนมากมาย ผลงานที่เป็นภาพวาดส่วนมากของเธอได้รับอิทธิพลมาจาก ศิลปะแบบนามธรรม (Abstract Art) รวมถึงหลงไหลในศิลปะแนวป๊อปอาร์ต (Pop Art)

Infinity Mirrored Room – Phalli’s Field-Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

Infinity Mirrored Room – Phalli’s Field

เธอใช้ศิลปะเพื่อบำบัดความกลัวและภาพหลอนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ผลงานที่เต็มไปด้วยลายจุดซึ่งเธอเองก็ให้คำตอบไม่ได้เช่นกันว่าเพราะอะไร แต่เคยให้สัมภาษณ์ว่ามันคือรูปร่างของพระอาทิตย์และพระจันทร์ งานศิลปะอีกชิ้นที่สร้างชื่อให้เธอคือ Infinity Mirrored Room – Phalli’s Field หรือห้องกระจกลายจุด คือการใช้กระจกสร้างมิติการเห็น และขยายพื้นที่ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบเสมือนยืนอยู่กลางดงลึงค์ที่มีลายจุดสีแดงสะท้อนกลับไปกลับมาจนสุดสายตา

สิ่งที่สร้างความฮือฮาแบบสุด ๆ คือ งานแฮพเพนนิ่ง (Happening) หรือ Art Perfomance เพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม ด้วยการเปลือยกายเหล่าผู้ร่วมงาน วาดลวดลายจุดบนตัว หรือเสื้อผ้าที่ถูกตัดเป็นรอยโหว่ตามจุดสำคัญของร่างกาย เป็นการตั้งคำถามทางสังคม ในเรื่องของ “สงครามเย็น” ว่าการกระทำของทางสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นสมควรหรือไม่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

Naked Happening ที่ Brooklyn Bridge, New York ปี 1968-Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

Naked Happening ที่ Brooklyn Bridge, New York ปี 1968

การกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้คุซามะถูกจับกุม และถูกประเทศญี่ปุ่นตีตราและกล่าวหาว่าการกระทำของคุซามะเป็นความอับอายของประเทศ ครอบครัวของเธอถึงกับต้องไปกว้านซื้อนิตยสารทั้งหมดที่มีการตีพิมพ์ผลงานครั้งนี้ เพื่อนำไปซ่อน คุซามะยังแสดงความเป็นขบทของเธออีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้นักศิลปะบางท่านตั้งข้อกังหากับความเป็นศิลปินของเธอ

Walking Piece ปี 1966-Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023

Walking Piece ปี 1966

ภาวะที่เกิดจากความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งความเจ็บช้ำที่เกิดขึ้นเป็นบาดแผลในจิตใจในวัยเด็ก รวมถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่เธอต้องเผชิญอย่างเดียวดาย ทำให้เธอกลายเป็น ผู้ทุพพลภาพทางจิต ความแปลกแยกและโดดเดี่ยวนั้นสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดในผลงาน Walking Piece ภาพที่เธอสวมใส่กิโมโนสีสดใส เดินกางร่มประดับด้วยดอกไม้พลาสติกไปทั่วเมืองใหญ่ เป็นจุดสนใจให้กับเหล่าอเมริกันชน ท้ายที่สุดแล้วในปี ค.ศ. 1973 คุซามะตัดสินใจเดินทางกลับญี่ปุ่น หลังจากใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกามานานถึง 16 ปี

 

Return To Japan

สามเดือนแรกที่เธอกลับมาญี่ปุ่น คุซามะเป็นที่รู้จักในฐานะ “ผู้หญิงไร้ยางอาย” ที่เปลือยกายตามท้องถนนทั้งในนิวยอร์กและโตเกียว เป็นเหตุให้ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายของเธอย่ำแย่ลง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1977 เธอได้เข้ารักษาอาการทางจิต ที่โรงพยาบาล Seiwa ต่อมาเธอตัดสินใจพำนักอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเป็นการถาวร แต่เธอก็ไม่หยุดยั้งในการสร้างผลงานศิลปะแต่อย่างใด โดยยังคงทำงานศิลปะอยู่ที่สตูดิโอใกล้ ๆ กันในย่านชินจูกุ เมืองโตเกียว ซึ่งเธอได้เริ่มงานเขียนวรรณกรรมและนิยาย

ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเธอคือ “ฟักทองลายจุด” ในปี ค.ศ. 1994 คุซามะ ออกจากการทำผลงานแนว installation มาทำ sculpture ในพื้นที่สาธารณะ  โดยผลงานชิ้นนั้น ได้กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของเธอมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งนั้นคือ “Yellow Pumpkin” ซึ่งตั้งตระหง่านหันหน้าประชันกับทะเลแห่งเกาะนาโอชิมะ

Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023-ฟักทองลายจุด

ฟักทอง เปรียบเสมือนตัวแทน ภาพหลอนจากวัยเด็ก เนื่องจากธุรกิจของครอบครัวเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ คุซามะ จึงมีโอกาสตามคุณตากับคุณยายของเธอไปตามแปลงปลูกผัก และที่แห่งนั้นที่เธอเกิดภาพหลอน ว่าพืชผักเหล่านั้นกำลังพูดคุยกับเธอ ฟักทอง ไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนความทรงจำวัยเด็กของเธอเท่านั้น คุซามะเคยกล่าวว่า ที่เธอเลือกฟักทองเป็นเพราะรูปร่างที่ตลกของมัน อีกทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่น และมีความคล้ายคลึงมนุษย์อีกด้วย

งานศิลปะมากมายของคุซามะ ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ได้แก่ Museum of Modern Art (1998) Whitney Museum (2012) Tate Modern (2012) และ Hirshhorn Museum (2017) โดยในปี ค.ศ. 2006 เธอได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จาก Women’s Caucus for Art ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติมอบให้สตรีที่ประสบความสำเร็จในด้านงานศิลปะ อีกทั้งยังได้รับรางวัลเกียรติยศอีกมากมายในญี่ปุ่นอีกด้วย

Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023-lv-louis vuitton

ในปี ค.ศ. 2012 คุซามะ ได้ร่วมมือกับแบรนด์ลักชัวรี่แบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Louis Vuitton ออกคอลเล็กชั่นพิเศษ ที่มีชื่อว่า “Louis Vuitton – Yayoi Kusama” โดยมีการตกแต่งร้านบูทีค สาขาในห้าง Selfridges ณ กรุง London ด้วยคอนเซปลายจุด ตามแบบฉบับของคุซามะ นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอีกมากมาย อย่าง Coca-Cola และ Lancôme

ลวดลายจุดอันน่าพิศวงนี้ นอกจากจะปรากฏตามนิทรรศการหรือภาพวาดแล้ว มันยังถูกนำไปใช้เป็นลวดลายการตกแต่งภายใน ผ้าใบคลุมตึก แพ็กเกจผลิตภัณฑ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

Louis Vuitton – Yayoi Kusama-yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023-lv-louis vuitton

ปัจจุบัน กับอายุ 91 ปี ในฐานะศิลปิน ผู้ยึดมั่นและทุ่มเทกับสิ่งที่รัก ยาโยอิ คุซามะ ได้กลายมาเป็นต้นแบบให้ใครต่อหลายคนในเรื่องของความหลากหลายและอิสระทางด้านความคิด อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างการหลุดพ้น การฉีกกฏเกณฑ์กรอบประเพณีแบบดั้งเดิมที่ว่า “หน้าที่ของผู้หญิงคือการเป็นแม่และภรรยาเท่านั้น” ซึ่งเธอก็ได้พิสูจน์ให้ทั้งโลกเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งความเชื่อมั่น ความศรัทธา อุดมการณ์อันแรงกล้า และรักแท้ที่เธอมอบให้กับทุก ๆ ผลงานศิลปะที่เธอสร้างสรรค์ออกมาได้

เส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่าง “ความบ้า” และ “อัจฉริยะ” ด้วยสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ ทำให้งานศิลปะของเธอมีความซับซ้อนชนิดหาจับตัวยาก ซึ่งนอกจากพรสวรรค์ทางด้านศิลปะแล้ว เธอยังเป็นทั้งนักออกแบบ นักประพันธ์ นักเขียนและกวี ในเวลาเดียวกัน ด้วยความเชี่ยวชาญในศิลปะหลายแขนง สร้างความสุดโต่งและหล่อหลอมความเป็นอัจฉริยะในตัวเธอ โดยผลงานของเธอจะสอดแทรกเรื่องราว เนื้อหาเกี่ยวกับ เซ๊กส์ อัตชีวประวัติ และจิตวิทยา

yayoi kusama louis vuitton-yayoi kusama art-yayoi kusama louis vuitton 2023-lv-louis vuitton

ผลงานของ ยาโยอิ คุซามะ สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังมากมาย เป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากในวงสังคม ฉายา The Princess of Polka Dots กับภาพลักษณ์คุณป้าที่มาพร้อมกับหน้าม้าสีแดงสด ผลงานที่เกิดจากจิตใต้สำนึก ความนึกคิด ความขบถ และความพิเศษที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผู้หญิงคนนี้ ผู้ไม่เคยยอมแพ้ในโชคชะตา ตลอดชีวิตที่เดินบนเส้นทางศิลปะอันไร้ขีดจำกัด ทุกองค์ประกอบยังคงถูกจารึกในความทรงจำ ถ่ายทอดออกมาเป็นเอกลักษณ์และสร้างตัวตนให้เธอ มาจนถึงทุกวันนี้

รัก
xoxo
KATE