To top
9 May

Tiffany & Co. ราชาแห่งเพชรและเฉดสีที่เป็นเอกลักษณ์

tiffany

“เฉดสีแห่งเกียรติยศ” สีฟ้าอันเป็นเอกลักษณ์ (รหัสสีแพนโทน 1837) ของแบรนด์เครื่องประดับหรูหราที่เป็นไอเทมในฝันของหญิงสาวหลาย ๆ คน Tiffany & Co. ยังได้รับฉายาว่า ‘King of Diamond’ หรือ ราชาแห่งเพชร ด้วยสินค้าแต่ละชิ้นที่ทำขึ้นนั้นมีสไตล์อันคลาสสิก รวมถึงรูปแบบเฉพาะที่เป็นซิกเนเจอร์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ครองใจเหล่าผู้คนทั่วโลกมานานกว่า 183 ปี ในบทความนี้จะพาคุณย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1837 เพื่อรับรู้ถึงเรื่องราวและประวัติของ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค.

The History of Tiffany & Co.

ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ (Charles Lewis Tiffany)

เรื่องราวของแบรนด์ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. (Tiffany & Co.) นั้นเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1837 โดยความร่วมมือกันระหว่างช่างทำอัญมณี นามว่าชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ (Charles Lewis Tiffany) และเพื่อนของเขา จอห์น บี ยัง (John B. Young) ในเริ่มแรกก่อตั้ง ใช้ชื่อว่า Tiffany & Young เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเขียนและสินค้าแฟนซี พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยในปี ค.ศ. 1841 พวกเขาได้มีหุ้นส่วนเพิ่มมาอีก 1 คน นั่นก็คือ เอลลิส (Ellis)

tiffany-co.

ในปี ค.ศ. 1845 ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ ได้จัดทำแคตตาล็อกสั่งซื้อทางไปรษณีย์ที่เรียกว่า Blue Book โดยใช้เฉดสีฟ้าจางประกายเขียว คล้ายไข่นกโรบินส์ และกลีบดอกไม้ฟอร์เก็ต มี น็อต อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ หลังจากการตีพิมพ์แคตตาล็อก “Blue Book” แบรนด์ยังคงใช้แคตตาล็อกเป็นกลยุทธ์การโฆษณา ซึ่งเป็นหนึ่งในแคตตาล็อกที่พิมพ์ด้วยสีเต็มรูปแบบ ต่อมาในปี ค.ศ. 1853 ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ ได้เข้ามาควบคุมและดูแลบริษัท แต่เพียงผู้เดียวในและได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Tiffany & Co. ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

ในปี ค.ศ. 1870 แบรนด์ได้สร้างอาคารแห่งใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ที่ 15 Union Square West, Manhattan ซึ่งอาคารถูกออกแบบโดย จอห์น เคลลัม (John Kellum) มีมูลค่าราว 500,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ได้อธิบายเกี่ยวกับอาคารแห่งนี้ว่าเป็น “พระราชวังแห่งอัญมณี” Tiffany & Co ดำเนินกิจการอยู่ที่อาคารแห่งนี้จนถึงปี ค.ศ. 1906

tiffany-co.

ที่ร้านแห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมด้านแฟชั่นและเครื่องประดับของเหล่าชนชั้นสูงในนิวยอร์ก เอกลักษณ์การออกแบบของ ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ เป็นที่รู้จักจากเครื่องเงินสไตล์ญี่ปุ่น และเครื่องเพชรอัญมณีของ ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี ก็ได้กลายเป็น “ราชาแห่งเพชร” ในปี ค.ศ. 1878 ทางแบรนด์ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ได้ทำการซื้อ Tiffany Diamond มีลักษณะเป็นเพชรสีเหลืองขมิ้น และเมื่อเจียระไนแล้วมีน้ำหนักมากถึง 128.54 กะรัต เรียกได้ว่าเป็นเพชรสีเหลืองขนาดมหึมา ที่ได้มาจากแอฟริกาใต้

ในปี ค.ศ. 1886 ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ได้เปิดตัวแหวนเพชร Diamond Solitaire Ring เมื่อปี ค.ศ. 1889 ผลงานการออกแบบเครื่องประดับของแบรนด์ได้รับรางวัลจากงานนิทรรศการระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในกรุงปารีส ซึ่งชุดเครื่องประดับนี้ออกแบบโดย พอลดิ้ง ฟาร์นแฮม (Paulding Farnham) และในเวลาต่อมาหัวหน้านักอัญมณีศาสตร์ชื่อดังของแบรนด์อย่าง จอร์จ เฟรเดอริก คุนซ์ (George Frederick Kunz) ก็ได้จัดแสดงเครื่องประดับแบบอเมริกัน ซึ่งประกอบด้วย วัสดุที่ใช้แล้ว อัญมณีและไข่มุก

Louis Comfort Tiffany

หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี่ (Louis Comfort Tiffany)

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1902 หลังจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ลูกชายของเขา หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี่ (Louis Comfort Tiffany) ได้เข้ามาดูแลกิจการทั้งหมด โดยได้ทำหน้าที่ดูแลในด้านการออกแบบของแบรนด์ด้วย ส่งผลให้เขาได้กลายเป็น Design Director คนแรกของ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ความงามแบบอเมริกันของแบรนด์นั้นบานสะพรั่งในช่วงเวลาของศิลปะสไตล์ Art Deco

tiffany-co.

ในปี ค.ศ. 1940 แบรนด์ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ได้ย้ายไปที่ถนน Fifth Avenue และที่นี่ก็ได้กลายเป็นที่ตั้งของร้าน Flagship Store ซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับค้าปลีก ถือได้ว่าเป็นร้านมีการตกแต่งหรูหราและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต่อมาในปี ค.ศ. 1956 ขณะที่ วอลเตอร์ โฮวิ่ง (Walter Hoving) ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. เขาได้เชิญ ฌอง ชลุมเบกเยร์ (Jean Schlumberger) นักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเครื่องประดับมาร่วมงานเปิดร้านที่ Flagship Store แห่งนี้ด้วย

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จอห์น ลอริง (John Loring) ผู้ดำรงตำแหน่ง Design Director ของแบรนด์ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ในขณะนั้น ได้เชิญนักออกแบบเครื่องประดับฝีมือดีอย่าง เอลซะ เปเรตติ (Elsa Peretti) นักออกแบบเครื่องประดับ และยังเป็นอดีตนางแบบแฟชั่นชาวอิตาลี เข้าร่วมงานกับแบรนด์ในปี ค.ศ. 1974 อีกทั้งยังได้เชิญ พาโลม่า พิแคสโซ่ (Paloma Picasso) แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสมาทำงานด้านการออกแบบเครื่องประดับให้กับแบรนด์ในปี ค.ศ. 1980

ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. ในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การดูแลของ รีด คราคอฟฟ์ (Reed Krakoff) นักออกแบบแฟชั่นชาวอเมริกัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Artistic Director ของแบรนด์ ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. มีชื่อเสียงในแวดวงสินค้าหรูหรา โดยเฉพาะเพชร และเครื่องประดับเงินแท้ นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย ได้แก่ เครื่องเงิน เครื่องประดับคริสตัล เครื่องเขียน น้ำหอม ขวดน้ำ นาฬิกา รวมไปถึงเครื่องประดับและเครื่องหนัง

รัก
xoxo

khwanchanok