Paris Fashion Week หรือภาษาฝรั่งเศส Semaine de la mode de Paris เป็นแฟชั่นโชว์ ที่นำเสนอผลงานของดีไซเนอร์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองศูนย์กลางแฟชั่นระดับโลก โดยจะจัดในช่วง Spring/Summer และ Autumn/Winter วันที่จัดแสดงจะถูกกำหนดโดยสหพันธ์แฟชั่นฝรั่งเศส (French Fashion Federation) ซึ่งจัดขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง
กล่าวกันว่าเมืองปารีส เป็นศูนย์กลางของแฟชั่น เมืองแห่งแฟชั่นเสื้อผ้า Haute Couture (โอต์ กูตูร์) ชั้นสูง แหล่งน้ำหอมชั้นเลิศ ชื่อเสียงของเมืองนี้ สร้างขึ้นจากภาพสัญลักษณ์ของมรดกและความสง่างามโดยเฉพาะ เรื่องราวของการตัดเย็บ แรงบันดาลใจ และเรื่องราวที่ทำให้แฟชั่น ยังคงขับเคลื่อนสังคมที่เราอยู่ต่อไปได้ ประวัติของแฟชั่นวีคจากเมืองแห่งแฟชั่นระดับโลกนี้ จะมีที่มาและจุดกำเนิดจากอะไร บทความนี้ จะตอบทุกคำถามของคุณ
The Paris Fashion Show is born
แม้ว่า Fashion Week ครั้งแรกของโลกจะถูกจัดขึ้นที่นิวยอร์ก งานนี้เกิดขึ้นจาก “การแสดงซาลอน” (défilés de mode ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “ขบวนพาเหรดแฟชั่น”) ในร้านเสื้อผ้ากูตูร์ในปารีส ก่อนที่งานนี้จะเป็นที่รู้จักในนิวยอร์กซิตี้ งานแสดงแฟชั่นได้จัดขึ้นที่ปารีสในช่วงต้นทศวรรษ 1700 การแสดงในช่วงแรกนี้มีไว้สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าและแสดงบนหุ่นเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1800 การแสดงสินค้าและแฟชั่นเริ่มเปลี่ยนไป
โดยเหตุผลที่จัดแฟชั่นวีคครั้งแรก เพราะฝั่งยุโรปในช่วงนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และสื่ออเมริกันไม่สามารถเดินทางไปชมผลงานดีไซเนอร์ที่ตอนนั้นจัดโชว์ตามห้องเสื้อต่าง ๆ
ในช่วงเริ่มแรกของแฟชั่นชาวปารีเชียง นักออกแบบมีชื่อหลายท่าน ยกตัวอย่างเช่น Charles Frederick Worth ดีไซเนอร์คนแรกของโลก ที่เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแฟชั่นโอต์ กูตูร์ ในช่วงกลางปี 1800s Mme Pauline von Metternich เจ้าหญิงออสเตรียและภริยาของเอกอัครราชทูตปารีส เห็นภาพสเก็ตช์ของเวิร์ธและจ้างให้เขาทำเสื้อคลุมให้เธอ เขาได้รับการยอมรับอย่างมากจากลูกค้าที่มีอำนาจของเขาและได้เปิดกิจการเสื้อผ้าชั้นสูงของตัวเอง ในปารีส เมื่อปี ค.ศ. 1858 จำหน่ายแฟชั่นสุดหรูให้กับสุภาพสตรีชั้นสูง
หรือ Paul Poiret (ปอล ปัวเรต์) ปรมาจารย์ด้านกูตูเรียร์ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ได้ริเริ่มในการนำเสนอเสื้อผ้าที่พวกเขาทำการออกแบบ ออกสู่สาธารณะ ปัวเรต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในเรื่องการออกแบบที่หรูหรา จึงตัดสินใจผสานการค้า เข้ากับการเข้าสังคม จัดงานรื่นเริงและให้ผู้เข้าร่วมงานสวมใส่ชุดที่เค้าทำการออกแบบอย่างดี
หนึ่งในงานที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่งานกาล่า “la mille et deuxième nuit” หรือ The Thousand and Second Night ซึ่งถูกจัดขึ้นในวังสุลต่าน ที่ประดับประดาด้วยโคมไฟ และนกเขตร้อน เมื่อปี ค.ศ. 1911 โดย ปัวเรต์ นำเสนอชุดที่มีลักษณะคล้ายโป๊ะโคมไฟ (lampshade dresses) กับกางเกงทรงฮาเร็ม ซึ่งเป็นจุดเด่นดึงดูดสายตาของแขกผู้มาร่วมงานได้อย่างตราตรึง
ในช่วงทศวรรษที่ 1920s และ 1930s ปารีสได้กลายเป็นแหล่งรวมของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Chanel ,Elsa Schiaparelli หรือ Madeleine Vionnet การจัดโชว์ที่เคยเป็นงานปาร์ตี้ใหญ่โต เริ่มลดขนาดลงและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แบรนด์แฟชั่นแต่ละแห่งจะนำเสนอคอลเล็กชั่น ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนในงานอีเวนต์ที่จัดเฉพาะลูกค้าพิเศษเท่านั้น ด้วยความตระหนักถึงเรื่องการลอกเลียนแบบผลงาน โชว์เหล่านี้จึงถูกป้องกันอย่างเข้มงวด และไม่อนุญาตช่างภาพโดยเด็ดขาด
The First Model
Défilés de mode หรือ “งานแสดงแฟชั่น” จัดขึ้นที่ปารีสในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 โดยเป็นการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างลูกค้าและนักออกแบบ ในช่วงแรก เครื่องแต่งกายจะถูกนำเสนอบนหุ่นที่แข็งทื่อ ทำให้ลูกค้ามองเห็นและคาดเดาได้ยากว่า เสื้อผ้าเหล่านี้ หากสวมใส่แล้วจะออกมาเป็นอย่างไรเมื่ออยู่บนเรือนร่างที่มีชีวิตจริง
จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1850s บิดาแห่งโอต์กูตูร์ Charles Frederick Worth (ชาร์ลส์ เฟรเดอริค เวิร์ธ) ได้ริเริ่มแนวคิดในการแสดงผลงานบนเรือนร่างผู้หญิง ที่สามารถเคลื่อนไหวได้จริง หลังจากนั้นเป็นต้นมา บทบาทของนางแบบในงานแฟชั่นโชว์จึงถือกำเนิดขึ้น โดยอ้างอิงตามกฏหมายฝรั่งเศส แฟชั่นวีคไม่อนุญาตให้นางแบบที่รูปร่างผอมมากเกินไป (หรือใส่เสื้อผ้าไซซ์ 0) เข้าร่วมในการเดินแบบด้วย
Paris Fashion Week ห้ามนางแบบที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร่วมในการเดินแฟชั่นโชว์ หลังจากข้อกำหนดของแบรนด์หรูอย่าง LVMH และ Kering ระบุว่า “จะไม่มีการคัดเลือกนางแบบที่อายุต่ำกว่า 16 ปีให้เข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์หรือเซสชั่นถ่ายภาพแทนผู้ใหญ่ จากงานแฟชั่นโชว์ “The Battle of Versailles” มีนางแบบผิวดำจำนวน 11 คน จากจำนวนนางแบบทั้งสิ้น 36 คน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ด้วยความหลากหลายนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้โชว์ดังกล่าว ตรึงความสนใจและเป็นที่กล่าวขานในขณะนั้น
The New Look sets fashion show trends in Paris
ในปี ค.ศ. 1943 โรงแรม Ritzy NYC ได้มีการจัดงาน New York Fashion Week ขึ้นเป็นครั้งแรก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “press week” เนื่องจากการยึดครองฝรั่งเศสโดยพวกเยอรมนี ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าสำหรับชนชั้นสูงเกิดการชะงัก เพื่อตอบสนองต่อสื่อมวลชนในครั้งนี้ จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด การจัดแฟชั่นโชว์ในปารีส มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 1945 ทางสมาคม The Chambre Syndicale de la Haute Couture สมาคมการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง ซึ่งถูกก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1868 (ปัจจุบันคือ Fédération de la Haute Couture et de la Mode) ได้กำหนดบรรทัดฐานของแฟชั่นโอต์ กูตูร์ ให้แต่ละแบรนด์ นำเสนอผลงานอย่างน้อย 35 ชิ้น ทั้งชุดกลางวันและกลางคืน เป็นเสื้อผ้าที่ผลิตตามออเดอร์เท่านั้น โดยมีขั้นตอนการสั่งซื้อและตัดเย็บที่ยาวนาน
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่อิทธิพล อำนาจ และความนิยมของแฟชั่นฝรั่งเศส ยังคงเหนือกว่าประเทศใด ๆ ในโลก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บริษัทแฟชั่นหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการลอกเลียนแบบผลงานต่าง ๆ โดยการซื้อใบอนุญาตที่ได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมเพื่อทำเรื่องเลียนแบบเหล่านี้ ให้กลายเป็นสิ่งถูกกฏหมาย
แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงไป ในวันที่ 28 เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1973 เมื่อมีการจัดงาน Paris Fashion Week ขึ้น อย่างเป็นทางการครั้งแรก เป็นการจัดแสดงแฟชั่นโอต์กูตูร์ Ready-to-Wear และ Men’s Fashion ไว้ในกลุ่มเดียว โดยผู้รับผิดชอบหลักคือ Fédération Françoise de la Couture (ปัจจุบันคือ FHCM) ที่พระราชวังแวร์ซาย งานนี้เป็นการระดมทุนที่จัดขึ้นที่ พระราชวังแวร์ซาย เพื่อฟื้นฟูพระราชวัง จำนวนเงินที่มุ่งหวังที่จะซ่อมแซมพระราชวังนั้นอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ
งานนี้ได้รับการขนานนามว่า The Battle of Versailles ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส 5 คน (Yves Saint Laurent, Hubert de Givenchy, Pierre Cardin, Emanuel Ungaro และ Marc Bohan จาก Christian Dior) และดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน 5 คน (Oscar de la Renta, Bill Blass, Anne Klein, Halston และ Stephen Burrows) โดยมีการแสดงของโจเซฟีน เบเกอร์และลิซ่า มิเนลลี รวมทั้งผู้ร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 700 คน
โดยมีบุคคลอันทรงเกียรติอย่าง อลิซาเบธ เทย์เลอร์ และ เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก รวมถึงแอนดี้ วอร์ฮอล มาร่วมงานอีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านแฟชั่นที่แตกต่างกัน โดยที่ชาวอเมริกัน ยังคงชื่นชอบเสื้อผ้าลำลองในแบบที่เรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกับชาวฝรั่งเศสยังคงชื่นชอบเครื่องแต่งกายที่ดูเป็นทางการอยู่ โดยงานนี้ถูกระบุว่าเป็นงานที่ทำให้แฟชั่นของอเมริกาถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับระดับโลก และทำให้ปารีสแข็งแกร่งขึ้นในฐานะเมืองหลวงแฟชั่นระดับนานาชาติ
จากนั้นเป็นต้นมา การแสดงแฟชั่นโชว์ก็เริ่มมีความเป็นทางการมากขึ้น ตั้งแต่งานมหกรรมของ Thierry Mugler (เธียร์รี มูเกลอร์) ในปี ค.ศ. 1984 กลายเป็นนักออกแบบคนแรก ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้มีโอกาสเข้าชมแฟชั่นโชว์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของแฟชั่นเฮ้าส์ มูเกลอร์ได้เตรียมการแสดงบนรันเวย์อันโอ่อ่าสำหรับคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว โดยจัดขึ้นที่สนามกีฬา le Zénith ต่อหน้าผู้ชมกว่า 6,000 คน ไปจนถึงเสื้อชั้นในทรงกรวยของ Jean Paul Gaultier ซึ่งเปิดตัวในปีเดียวกัน
The Big 4
ตามหลักสากลแล้ว คำว่า “แฟชั่นวีค” มีความหมายตรงตัวคือ ในหนึ่งสัปดาห์ แต่ละเมืองจะมีการจัดแฟชั่นโชว์รวมถึงการ Presentation ต่าง ๆ เพื่อให้แบรนด์นำเสนอคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ที่จะนำมาจำหน่ายในบูทีคในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยประเพณีดั้งเดิม จะมีการเชิญสื่อมวลชนทางด้านแฟชั่น มาเข้าชมผลงานเพื่อวิเคราะห์ผลงาน หรือเลือกแบบเสื้อผ้าเพื่อนำไปถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการถ่ายแบบหรือบทความแนะนำแฟชั่น
ในปัจจุบัน Paris Fashion Week เป็นหนึ่งในกลุ่ม “The Big Four” กลุ่มประเทศที่มีการจัดแฟชั่นวีคระดับโลก เริ่มต้นด้วยมหานครนิวยอร์ค ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นวีค ตั้งแต่ปี ค.ศ.1943 ซึ่งจัดโดย Eleanor Lambert พีอาร์สาวคนเก่งที่ริเริ่มงานมหกรรม Met Gala ต่อมาในปี ค.ศ. 1853 Milan Fashion Week จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้การดูแลของหน่วยงาน National Chamber of Italian Fashion ปิดท้ายด้วย London Fashion Week ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในปี ค.ศ.1983 โดย British Fashion Council
ในทุกปี แฟชั่นวีคของทั้ง 4 เมืองหลัก จะเน้นในการนำเสนอเสื้อผ้าสำเร็จรูป Ready-to-Wear หรือภาษาฝรั่งเศสที่ว่า prêt-à-porter ของสุภาพสตรี 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม และเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ส่วนของสุภาพบุรุษอีก 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมและมิถุนายน ส่วนแฟชั่นวีคเสื้อผ้ากูตูร์ ก็จะมีอีก 2 ครั้งหลังสัปดาห์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษจบลงที่ปารีส โดยถือว่าเมืองปารีส ยังคงเป็นเมืองที่มีคนไปร่วมงานมากสุด เพราะเป็นศูนย์กลางของมหาอำนาจแบรนด์ระดับโลก
ทั้งยังเป็นที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์และเชิงพาณิชย์อย่างลงตัว โดยทุกซีซั่นจะมีสื่อมวลชนราว 2,000 คน บายเออร์ 800 คน และช่างภาพ 400 คน ซึ่งยังไม่รวมในส่วนของดารา อินฟลูเอนเซอร์ นางแบบ นายแบบ และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังตั้งแต่คนก่อสร้างฉาก ดูแลคิว พีอาร์ จนถึงช่างแต่งหน้าและทำผม
Fashion Week nowadays
การแสดงแฟชั่นโชว์ ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ภายใต้กฏเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน จนกระทั่งปี ค.ศ. 2010 เมื่อสื่อ ออนไลน์ต่าง ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทกับสังคมในยุคดิจิตัล แอพลิเคชั่นชื่อดังอย่าง Instagram ได้เริ่มมีการแบ่งปันประสบการณ์แฟชั่นวีคกับผู้คนจำนวนมาก ทำให้ทั่วโลกเข้าถึงอุตสาหกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยพิเศษ ส่วนตัวและเข้าถึงยาก ไม่มีกฏเกณฑ์เกี่ยวกับห้ามช่างภาพเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป
ทุกอย่าง ถูกแทนที่ด้วยความรวดเร็วของสื่อ ในการโปรโมตและจำหน่ายสินค้าได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ก่อนที่มันจะถูกนำไปลอกเลียนแบบ และถูกซื้อขายบน Amazon ก่อนหน้านี้ การจัดโชว์ช่วงฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว (Fall/Winter) ในเดือนกรกฎาคม ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มีเวลาเตรียมพร้อมสำหรับตีพิมพ์ข่าวสารฉบับใหญ่ประจำไตรมาส
เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่หลายต่อหลายคน ต่างปรามาส ว่าแฟชั่นวีค ได้มาถึงทางตันและอาจตายลงภายในไม่ช้า เนื่องจากวิธีการนำเสนอ อาจไม่ตรงกับวิถีการดำเนินชีวิตรวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันอีกต่อไป ใครจะรอเสื้อผ้ากูตูร์เป็นเดือน ๆ ในเมื่อคุณสามารถซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ได้ในสามคลิกหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งนั่นเป็นผลให้ดีไซเนอร์บางท่าน ทำการปรับปรุงปฏิทินแฟชั่นแบบดั้งเดิม เพื่อการนำเสนอแฟชั่นที่สดใหม่ รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Saint Laurent, Gucci และ Alexander Wang
ในปี ค.ศ. 2020 เนื่องจากการระบาดของโรคปอดอักเสบโคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 หลายธุรกิจ ที่ต้องมีการจัดแสดงได้ถูกจำกัดเพื่อควบคุมการระบาด รวมถึงการจัดงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งหลายแบรนด์แฟชั่น ได้ปรับตัวเช่นกัน จากการแสดงโชว์อันยิ่งใหญ่บนเวที ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นการนำเสนอแฟชั่น โดยใช้วิธีการบันทึกวิดิโอแบบสั้น เพื่อแสดงคอลเล็กชั่นต่าง ๆ กิจกรรมที่เคยเกิดขึ้นบนรันเวย์ทั้งหมด จะถูกบันทึกภาพและถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มชื่อดังเช่น YouTube หรือแพลตฟอร์มวิดิโออื่น ๆ
สิ่งที่น่ากังวลใจอีกประการ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของงานแฟชั่นวีค งาน Big Four Fashion Week ในแต่ละปี มีการปล่อย CO2 หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึงประมาณ 241,000 ตันต่อปี ซึ่งทำให้ Fédération de la Haute Couture et de la Mode พัฒนาเครื่องมือใหม่สองอย่างสำหรับวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะเริ่มใช้งานครั้งแรกตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง (Fall) ในปี ค.ศ. 2021
ในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดของโอต์ กูตูร์ เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือระดับปรมาจารย์ และงานแฟชั่นโชว์สมัยใหม่อย่างที่เรารู้จักกันดี จึงไม่แปลกใจ ที่เมืองแห่งแสงสีแห่งนี้ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของแฟชั่น แม้ว่างานแสดงแฟชั่นโชว์จะมีมาประมาณ 170 ปีแล้ว แต่งานแสดงแฟชั่นบนเวทีสุดอลังการที่เรารู้จักกันนั้น เพิ่งถูกปลุกขึ้นมาให้มีชีวิตชีวาในช่วงทศวรรษที่ 70 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็เปรียบเสมือนประเพณีที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ที่ปารีสมีต่อแฟชั่นและวัฒนธรรมโดยรวม
ชื่อเสียงของงาน Paris Fashion Week ยังคงปลูกฝังการแสดงละครอันโอ่อ่าตระการตาผ่านรันเวย์ที่ฉูดฉาด ฉากหลังอันยิ่งใหญ่ และแฟชั่นอันวิจิตรตระการตา ในการแสดงที่สร้างขึ้นจากเบื้องหลังของนักออกแบบเสื้อผ้าผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์หลายต่อหลายท่าน สำหรับบางคน แฟชั่นวีคเป็นการแสดงความเหลื่อมล้ำและสิ้นเปลือง แต่สำหรับบางคนมันยังคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ซึ่งรวมดีไซเนอร์มากฝีมือ นางแบบ และเหล่าบรรดาสาวกแฟชั่น ให้มารวมตัวกันภายใต้หลังคาเดียวกันเพื่อดื่มด่ำกับเสื้อผ้าชั้นสูงที่ดีที่สุด
งานแฟชั่นวีคในปัจจุบัน ได้กลายเป็นมหกรรมด้านแบรนดิ้งและมาร์เก็ตติ้งเพื่อแสดงศักยภาพของดีไซเนอร์ให้ทั้งโลกได้เห็น เพราะวงการแฟชั่นเดินหน้าอย่างรวดเร็วจนฉุดไม่อยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน พวกเราก็คงได้แต่คาดเดา ต่าง ๆ นานา ว่าแฟชั่นวีคในครั้งต่อ ๆ ไป จะอลังการงานสร้างและน่าทึ่งเพียงใดเท่านั้น
รัก
xoxo