หากพูดถึง ประวัติแบรนด์ Louis Vuitton (หลุยส์ วิตตอง) เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง Luxury Brand เครื่องหนังอันหรูหรา สัญลักษณ์ของความฟู่ฟ่าที่เราคุ้นหูคุ้นตากันดี แต่จุดเริ่มต้นของ Monsieur Louis Vuitton ผู้ก่อตั้งแบรนด์นั้น ไม่ได้สวยหรูและราบรื่นดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน วันนี้เราจะพาทุกคนนั่งไทม์แมชีนย้อนอดีตไปเมื่อ 162 ปีที่แล้ว ไปทำความรู้จักกับ มองซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง อย่างละเอียด อะไรที่ทำให้คนธรรมดาคนนึงจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน ประสบความสำเร็จ และก่อนจะมาเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว มีประวัติอะไรน่าสนใจบ้าง
ประวัติแบรนด์ Louis Vuitton เริ่มต้นจาก มองซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง (Monsieur Louis Vuitton) เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ในปี ค.ศ.1821 ที่เมือง Anchay (อังเชย์) เมืองชนบทเล็กๆ เขต Jura ในหุบเขาทางด้านตะวันออกของฝรั่งเศส ครอบครัวของหลุยส์เป็นชนชั้นแรงงาน บิดาชื่อ ฟรานเซียส ซินเวียร์ วิตตอง (François Xavier Vuitton) มีอาชีพเป็นชาวไร่ มารดาชื่อ มารี โคโรน เจอร์ราท (Marie Coroné Gaillard) เป็นช่างทำหมวกผู้หญิง
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 ขณะที่หลุยส์ อายุได้เพียง 10 ขวบ แม่ของเขาก็มาด่วนจากไป ไม่นานนักหลังการเสียชีวิตของแม่ พ่อของเขาก็แต่งงานใหม่ และชีวิตที่เป็นดั่งละครน้ำเน่า ปัญหาแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงได้เกิดขึ้นกับตัวเขา หลุยส์เบื่อเต็มทีกับชีวิตที่ซ้ำซากจำเจเช่นนี้ จึงตัดสินใจครั้งใหญ่ ครั้งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงชีวิตเค้าไปตลอดกาล
ออกเดินเท้าสู่กรุงปารีส
ในปี ค.ศ.1835 เด็กชาย หลุยส์ วิตตอง ในวัยเพียง 14 ปี ออกเดินเท้าจากบ้านเกิดในเมืองอังเซย์ ไปเริ่มชีวิตใหม่ที่กรุงปารีส โดยจากอังเซย์ถึงปารีสมีระยะทางประมาณ 292 ไมล์ เขาใช้เวลาเดินทาง 2 ปี โดยทำงานพิเศษระหว่างทางเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ และอาศัยหลับนอนพักผ่อนตามเพิงเท่าที่จะหาได้ หลุยส์เดินทางถึงมหานครปารีส เมื่อปี ค.ศ. 1837 ในขณะนั้นเขามีอายุ 16 ปี
ระหว่างการเดินทาง หลุยส์ได้มีโอกาสฝึกงานกับ มองซิเออร์ มาแชล (Monsieur Marechal) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นช่างทำกล่องและหีบขนของที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น ด้วยความที่เขาเป็นคนขยันและใฝ่รู้ เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการทำหีบสำหรับบรรจุสัมภาระ ฝึกฝนจนทำให้ฝีมือพัฒนาจนถึงระดับที่มีชื่อเสียง และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมไปถึงมีโอกาสได้รู้จักกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายอาชีพด้วย
ชื่อเสียงและจุดเปลี่ยนในชีวิต
เวลาผ่านไปไม่นานนัก ขณะนั้นกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 (Napoleon Bonaparte) ปกครองประเทศ ด้วยชื่อเสียงที่เริ่มแผ่กว้างไปของหลุยส์ ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปถวายงานให้กับราชินี ยูจีเนียร์ เดอ มอนติโจ (Eugenia de Montijo) ชายาในกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1852 ในขณะที่หลุยส์อายุได้ 30 ปี โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลกล่องเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับเสื้อผ้าราคาแพงของเธอ และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของหลุยส์
หลังจากนั้น ชื่อของ “หลุยส์ วิตตอง” ก็กลายเป็นที่รู้จักของเหล่าชนชั้นสูงในฝรั่งเศสในฐานะคนทำกระเป๋าเดินทางสุดหรู นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มีโอกาสรับใช้และบริการลูกค้าระดับราชวงศ์และชนชั้นสูงมากมาย หีบเก็บของที่ทำขึ้นโดย หลุยส์ วิตตอง กลายเป็นของที่มีราคาและถูกตีค่าเป็นสัญญลักษณ์ของความหรูหราและมีระดับ ไม่นานนัก ชื่อเสียงของหลุยส์ก็โด่งดังเปรี้ยงปร้างเป็นที่รู้จักทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว
การแต่งงานและการเริ่มธุรกิจ
ในปี ค.ศ. 1854 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย เป็นปีที่หลุยส์ ได้พบเจอกับคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของเขา Clemence-Emilie Parriaux สาวน้อยวัย 17 ปี หลุยส์กับเอมิลี่ แต่งงานกันเมื่อ วันที่ 22 เมษายน ปี ค.ศ. 1854 หลังจากแต่งงานไม่กี่เดือน หลุยส์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของ มอลซิเออร์ มาแชล (รวมเวลาทั้งหมดที่ทำงานร่วมกับมาแชลเป็นเวลาทั้งสิ้น 17 ปี)
หลุยส์ได้เปิดธุรกิจทำหีบของเขาเอง ที่ถนนเนิฟ เด คาปูซีน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ โอเปร่าเฮ้าส์ ปารีส) โดยมีป้ายติดหน้าร้านเป็นการโฆษณาว่า “Securely packs the most fragile objects. Specializing in packing fashions.” ทั้งนี้ หลุยส์และเอมิลี่มีโซ่ทองคล้องใจด้วยกัน 3 คน ได้แก่ จอร์จ วิตตอง (Georges Vuitton) และน้องชายฝาแฝด ปิแอร์ (Pierre) และ จีน (Jean)
ในสมัยนั้น การคมนาคมหลักๆยังใช้การเดินทางด้วยรถม้า การโดยสารทางเรือ และการเดินทางโดยรถไฟอยู่ ทำให้การเคลื่อนย้ายสัมภาระยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระเป๋าเก็บสัมภาระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ทำให้สิ่งของเกิดความเสียหายระหว่างเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้นักเดินทางสมัยนั้น มองหาหีบที่สามารถจัดเก็บเสื้อผ้าและเครื่องประดับหรูหราราคาแพงได้อย่างปลอดภัย
ซึ่งหีบของหลุยส์ วิตตองตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี นั่นทำให้หีบของเขาได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยการออกแบบหีบที่ไม่เหมือนใคร โดยในปี ค.ศ. 1858 ได้มีการเปิดตัวหีบรุ่นใหม่ Grey Trianon Canvas ที่ทำจากผ้าใบสีเทาแทนการใช้หนัง ทำให้หีบมีน้ำหนักเบาขึ้นแถมยังสามารถกันน้ำและป้องกันกลิ่นอีกด้วย อีกอย่างหนึ่งที่เป็นจุดขายคือ ตัวหีบมีรูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนหีบแบบเก่าที่เป็นรูปโดม ฝาหีบและก้นหีบแบนราบ เพื่อความสะดวกในการนำมาวางซ้อนกัน และง่ายต่อการขนส่งเคลื่อนย้ายระหว่างเดินทาง
การตอกหมุดยึดผ้าใบเข้ากับหีบ ก็ทำได้อย่างสวยงาม เก็บรายละเอียดการเข้ามุมหีบด้วยโลหะเพื่อเสริมความแข็งแกร่งป้องกันการกระแทก อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ประทับใจและหันมาให้ความสนใจกับหีบของหลุยส์ นั่นก็คือ การออกแบบภายในของหีบที่แบ่งเป็นสัดเป็นส่วน ง่ายต่อการจัดเก็บสัมภาระและสามารถนำของออกมาใช้ได้อย่างสะดวกสบาย กล่าวได้ว่า หีบของหลุยส์ วิตตอง เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางสมัยใหม่เลยทีเดียว
ความสำเร็จของกิจการหีบหลุยส์ วิตตองเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการคมนาคมที่ทันสมัยมากขึ้น ก่อเกิดความต้องการใช้หีบเดินทางมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้หลุยส์ตัดสินใจขยายกิจการของเขา โดยในปี ค.ศ. 1859 เขาได้เปิดโรงงานผลิตที่ใหญ่ขึ้น ณ เมือง Asnieres ไม่ไกลจากประตูปารีสนัก (the gates of Paris) และแน่นอน ธุรกิจของเขาดังเปรี้ยงปร้าง ลูกค้าของเขาไม่ได้มีแค่ราชวงศ์หรือผู้สูงศักดิ์ในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Isma’il Pasha ซึ่งเป็นอุปราชของอียิปต์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1870 ธุรกิจของหลุยส์ก็ต้องหยุดชะงักเนื่องจากสงครามนองเลือด Franco-Prussian ที่ทำลายอาณาจักรฝรั่งเศส และเมื่อมันสิ้นสุดเมื่อวันที่ 28 มกราคม ปี ค.ศ. 1871 ผลกระทบของสงครามครั้งนี้ทำให้โรงงานของหลุยส์เสียหาย ลูกน้องกระจัดกระจายสาบสูญ อุปกรณ์การทำกระเป๋าของเขาถูกขโมย แทบจะไม่เหลืออะไรเลย แต่ถึงกระนั้น ด้วยความดื้อดึงและไม่ยอมแพ้ จิตวิญญาณนักสู้ทำให้หวนนึกถึงวันที่เขาเดินเท้าจากบ้านเกิดมาเกือบ 300 ไมล์เพื่อทำตามความฝันเมื่ออายุ 14 ปี
และนั่นทำให้ไฟในตัวเขาลุกโชนขึ้นมาและสู้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อ ในเวลาไม่ถึงเดือน ร้านใหม่ของเขาก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ที่ 1 Rue Scribe ในเมื่อเปิดร้านขึ้นมาใหม่ ฉะนั้นวิสัยทัศน์ก็ต้องใหม่ตามไปด้วย ด้วยความที่ตั้งของร้านอยู่ใจกลางเมืองปารีสใหม่ รายล้อมไปด้วยกลุ่มคนไฮโซและกลุ่มคนชั้นสูง ในปี ค.ศ. 1872 หลุยส์จึงตัดสินใจออกแบบหีบใหม่ ผสมผสานกับผ้าใบสีเบจตัดกับสายคาดสีแดง เรียบง่ายและดูดี หีบดีไซน์ใหม่ของเขาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสัญญลักษณ์ของความหรูหราทันที
หลุยส์ วิตตอง ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์ Louis Vuitton ที่ 1 Rue Scribe เขาได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนาคุณภาพและความหรูหราต่อมาอีก 20 ปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1892 สิริรวมอายุได้ 70 ปี แต่ถึงแม้ว่าตัวจะจากไป แต่ชื่อของ “หลุยส์ วิตตอง” ไม่ได้ตายไปกับเขาด้วย ด้วยการรับช่วงบริหารงานต่อของลูกชายของเขา จอร์จ วิตตอง ผู้ซึ่งออกแบบลาย Monogram (โมโนแกรม) จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้หลุยส์ วิตตอง เติบโตเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
Monogram Canvas : หลีกหนีการลอกเลียนแบบ สู่ลายเอกลักษณ์ของ LV
ในปี ค.ศ. 1896 จอร์จ วิตตอง (George Vuitton) ได้ออกแบบลวดลาย Monogram (โมโนแกรม) ที่ในปัจจุบันจะเรียกได้ว่าเป็น สัญลักษณ์ของแบรนด์หลุยส์ วิตตองเลยก็ว่าได้ โดยเหตุที่ทำให้ต้องคิดค้นลายนี้ขึ้นมา เนื่องจากหีบของหลุยส์สมัยแรกๆ ไม่มีลวดลาย และง่ายต่อการลอกเลียนแบบ หลังจากถือกำเนิดลาย Damier เมื่อปี ค.ศ. 1888 ก็ยังแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้มากนัก
ดังนั้น จอร์จ วิตตอง จึงได้ออกแบบลายที่ละเอียดมากขึ้น และยากแก่การลอกเลียนแบบในสมัยนั้น แรกเริ่มเดิมทีใช้วิธีการทอ ต่อมาเปลี่ยนเป็นคัดลอกลวดลายโดยใช้แผ่นฉลุ และมาถึงยุคปัจจุบันที่ใช้วิธีปริ้นส์ลงบนแผ่นผ้าใบ โดยได้มีการจดทะเบียนการค้าเกี่ยวกับลวดลายเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย
ลายโมโนแกรม ประกอบด้วยสัญลักษณ์ 4 อย่างคือ ตัวอักษร LV ที่เป็นตัวย่อของแบรนด์ , รูปดอกไม้ 4 กลีบแบบทึบ , รูปดอกไม้ 4 กลีบแบบโปร่ง และสัญลักษณ์คล้ายมงกุฏที่สะท้อนถึงความคลาสสิคได้เป็นอย่างดี
จากหีบเก็บของสู่กระเป๋าแบรนด์เนมสุดหรู
ในปี ค.ศ. 1901 Louis Vuitton ได้เปิดตัวกระเป๋าหนังนิ่มออกมารุ่นแรก โดยให้ชื่อว่า “steamer bag” ตัดเย็บจากผ้าใบขึ้นรูปเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สามารถพับเก็บในหีบได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนธุรกิจจากที่ผลิตแค่หีบใส่ของอย่างเดียว หลังจากนั้นกระเป๋ารุ่นต่างๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นลำดับ
กระเป๋าที่มีชื่อเสียงหลักๆ ได้แก่ รุ่น Keepall กระเป๋าเดินทางรูปหมอนที่เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 1924 ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น “multi-use soft luggage” ที่เหมาะกับทุกโอกาส กระเป๋ารุ่น Alma ที่มีต้นแบบมาจากออเดอร์พิเศษจากดีไซเนอร์ชื่อดัง Coco Chanel นอกจากนี้กระเป๋ารุ่น Speedy ที่เกิดจากการรีเควสของดาราชื่อดัง Andrey Hepburn (ออเดรย์ แฮปเบิ้น) หรือจะเป็นกระเป๋ารุ่น Noe กระเป๋าทรงขนมจีบสุดฮิตตลอดกาล มีที่มาที่ไปจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกในการถือแชมเปญหลายๆขวด
เป็นดั่งเช่นเมื่อคราวผลิตหีบใส่ของ หลุยส์ วิตตอง มีการพัฒนาสินค้าให้เข้ากับยุคสมัย ผสมผสานระหว่างความดั้งเดิมและนวัตกรรมใหม่ๆ แต่สิ่งนึงที่แบรนด์ไม่เคยละเลยและใส่ใจเป็นพิเศษ คือ คุณภาพของสินค้าที่มีมาตรฐานสูง โดยกระเป๋าบางรุ่นใช้เวลาผลิตถึง 45 ชั่วโมง เป็นงานแฮนด์เมทที่ต้องใช้ความประณีตและต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องหนังอีกด้วย
อะไรที่ทำให้ Louis Vuitton เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน
หลุยส์ วิตตอง มีการพัฒนาสินค้าต่อเนื่องอยู่เสมอ สินค้าของ หลุยส์ วิตตอง จึงเป็นสินค้าสุดคลาสสิค ที่ไม่ตกเทรนด์ ปัจจุบันมีการนำแฟชั่นวินเทจที่เคยได้รับความนิยมในอดีต มาดัดแปลงให้เข้ากับกระแสแฟชั่นในปัจจุบัน ที่สำคัญ หลุยส์ วิตตองเข้าถึงคนทุกระดับ ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายของตนได้ตรงจุด สินค้าของหลุยส์ วิตตองทุกชิ้น จะผลิตขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านงานฝีมือโดยเฉพาะซึ่งจะต้องใช้เวลาในการผลิต จึงทำให้สินค้าทุกชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นต้นฉบับทั้งสิ้น
หลุยส์ วิตตอง ให้ความสำคัญอย่างมากกับคำว่า “คุณค่าของแบรนด์” ดังจะเห็นได้ว่า หลุยส์ วิตตอง ไม่เคย มีการจัดโปรโมชั่นการลดราคา ไม่มีการโฆษณาทางโทรทัศน์ ไม่เคยมีการเลหลังสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือที่เราเรียกว่า Outlet ของที่ไม่ได้มาตรฐานจะถูกนำไปทำลายหมดทั้งสิ้น
หนึ่งในความลับที่ทำให้หลุยส์ วิตตอง ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ ช่องทางการโปรโมทสินค้าที่ชาญฉลาด เช่น การโฆษณาตามสื่อนิตยสารสิ่งพิมพ์ที่มีชื่อเสียง การเป็นสปอนเซอร์ให้กับงาน Event ใหญ่ๆ อย่างงาน Motor Sport หรืองานแข่งเรือยอร์ช หรือแม้กระทั่งการร่วมมือกับหลากหลายแบรนด์ดังระดับโลก เพื่อออกคอลเลกชั่นพิเศษเป็น Limited Edition เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบัน แบรนด์หลุยส์ วิตตอง ถูกจัดให้อยู่อันดับ 1 แบรนด์ไฮเอนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก (จัดอันดับโดย The world’s most Valuable Brands) โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 47.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยผลการจัดอันดับมาจากมูลค่าการเติบโตของแบรนด์ มีไลน์การผลิตสินค้าตั้งแต่เครื่องหนัง กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางค์ เครื่องหอม ไปจนถึงจิวเวอร์รี่
กว่าจะยืนหยัดแข็งแกร่งดังเช่นปัจจุบัน ก็ผ่านอุปสรรคมาไม่น้อย แต่เพราะหัวใจนักสู้ของเขา ทำให้ หลุยส์ วิตตอง ยังคงเป็นแบรนด์หรูที่ยืนอยู่จุดสูงสุดของวงการสินค้า Luxury กลายเป็นตำนานและสัญลักษณ์ของความหรูหรา ปัจจุบัน Louis Vuitton อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทแม่อย่าง LVMH (Louis Vuitton Moet Hennessy) และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สินค้าเข้ากับทุกยุคทุกสมัย จนสามารถขึ้นแท่นแบรนด์หรูที่มีมูลค่าบริษัทสูงสุดในปี 2019
รัก
xoxo