To top
31 May

History of Chanel Tweed Suit กำเนิดสูทผ้าทวีตระดับตำนาน

History of Chanel Tweed Suit – หากจะกล่าวถึงแฟชั่น อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Chanel ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำของเหล่าบรรดาเหล่าแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก นอกจากกระเป๋า 2.55 และ Classic Bag ภายใต้ตัวอักษร CC ไขว้อันคุ้นตาแล้ว อีกหนึ่งไอเทมที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ เมื่อพูดถึงแบรนด์ลักชัวรี่ระดับโลกแบรนด์นี้ นั่นก็คือ แจ็กเก็ตผ้าทวีต ไอเทมที่ไม่ว่าใครบนโลกแฟชั่น ก็ต้องรู้จัก ตั้งแต่แรกเห็น

แจ็กเก็ตผ้าทวีตนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของแฟชั่นมาทุกยุคทุกสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนความอิสระของผู้หญิงทั่วโลก การแต่งกาย ที่ไม่ต้องจำกัดอยู่ในกรอบเดิม ๆ อันแสนน่าเบื่อ โดยในทุกคอลเล็กชั่น ทางชาแนลยังคงนำเสนอชุดสูทในตำนานนี้ ให้ดูสดใหม่อยู่เสมออย่างต่อเนื่อง ตราตรึงสะกดทุกสายตาทุกซีซั่น ร่วมย้อนประวัติศาสตร์ของแจ็กเก็ตอันเปรียบเสมือนไอคอนของชาแนลนี้ ไปพร้อมกัน

 

Fashion History

นักออกแบบแฟชั่นมากความสามารถ ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในศตวรรษที่ 20 รวมถึงได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างสรรค์ความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจาก Gabrielle Chanel ซึ่ง Karl Lagerfeld มักจะพูดถึงเธอเสมอในแง่ของการเป็นผู้นำแฟชั่นที่มีแนวคิดแบบร่วมสมัย

แนวคิดเหล่านี้ ประกอบไปด้วยความเรียบง่ายของวัสดุ “ที่ไม่หรูหรา” เส้นสายที่ดูสะอาดตาของชุดสูทของสุภาพบุรุษแบบดั้งเดิม ซึ่งแฝงเอาไว้ด้วยความหรูหรา เป็นสิ่งที่ชาแนลเรียกว่า “poverty deluxe” (ความยากจนแบบหรูหรา) ทุกแง่มุมของความคิดเหล่านี้ เชื่อมโยงกับชีวประวัติของเธอ แสดงถึงสุนทรีภาพของ House of Chanel ตั้งแต่ถือกำเนิด แรงบันดาลใจในการออกแบบ จากผู้ชายที่มีบทบาทในชีวิตของเธอ

ไม่ว่าจะเป็น Étienne Balsan, Arthur ‘Boy’ Capel , Grand Duke Dmitri Pavlovich แห่งรัสเซีย และ Duke of Westminster ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อรสนิยมของเธอ ชาแนลกล่าวว่า เธอมักจะขอยืมเสื้อผ้าของบรรดาคนรักของเธอมาสวมใส่อยู่เสมอ ซึ่งเธอได้เน้นย้ำว่า ไม่มีอะไร ที่จะแสดงถึงความเป็นหญิงสาวได้ดีไปกว่าเสื้อผ้าของสุภาพบุรุษ แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะการที่เธอได้มีโอกาสรู้จักใกล้ชิดกับ Hugh Richard Arthur Grosvenor และ Duke of Westminster ที่ 2

Chanel with her friend near Lochmore

Chanel with her friend near Lochmore

ชาแนลค้นพบว่า ชุดคลาสสิกของสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการล่าสุนัขจิ้งจอก , การล่าหมูป่า , กีฬา เช่น คริกเก็ตเทนนิส หรือโปโล ล้วนตัดเย็บขึ้นจากผ้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนั่นทำให้เธอได้สัมผัสและรู้จักกับผ้าทวีต ได้เห็นความหลากหลายของผ้าชนิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตที่โรงงานสิ่งทอลายทแยงของสก็อตแลนด์ (Scottish twill mills) และตกหลุมรักมันในทันที

เช่นเดียวกับผ้าเจอร์ซีย์ ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมากจากคนรักของเธอ Boy Capel และการค้นพบผ้า Scottish tweed ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในอาชีพการงานของเธอ และทั้งหมดนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้น ของตำนานเสื้อแจ็กเก็ตทวีต ซึ่งจะกลายมาเป็นไอเทมแห่งประวัติศาสตร์ของ Chanel ที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงมากที่สุด

The Chanel Tweed

ในปี ค.ศ. 1925 ชาแนล ได้ใช้ความคิดสุดบรรเจิด ริเริ่มการนำผ้าทวีตมาใช้ในการตัดเย็บ แปลงโฉมเสื้อผ้า Menswear ให้กลายเป็นเสื้อผ้าดีไซน์โดดเด่นตามแบบฉบับของเธอ จากการผสมผสานความคิดแบบดั้งเดิมของความเป็นชายและหญิง โดยชาแนลได้รับแรงบันดาลใจจากชุดกีฬาและเสื้อผ้าบุรุษที่ดยุคแห่งเวสต์มินสเตอร์ (Duke of Westminster) ซึ่งเป็นแฟนหนุ่มของเธอสวมใส่

ชุด Cardigan-jacket ปรากฏโฉมครั้งแรก ในคอลเล็กชั่นของเธอ ในปี ค.ศ. 1925 ทันทีหลังจากที่ชาแนลได้พบกับ Duke โดยนิตยสาร American Vogue ฉบับเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1927 มีบทความชื่อ “Scottish Tweed is a New Godchild of French Couturiers” พร้อมด้วยภาพคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าของชาแนล ที่สวยงาม เรียบง่าย และใช้งานได้จริง ผ้าทวีตเริ่มมีบทบาทสำคัญเมื่อชาแนลอายุได้ 70 ปี ในปี ค.ศ. 1954 เมื่อเธอตัดสินใจเดินทางกลับปารีส และเริ่มงานตัดเย็บเสื้อผ้าอีกครั้ง

ความคิดที่อยากปฏิวัติการแต่งกายของหญิงสาวในยุคนั้น สืบเนื่องจาก ชาแนลมีความคิดที่ว่าเสื้อผ้าของผู้หญิง ถูกออกแบบมา เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายมากเกินไป เธอต้องการปลดปล่อยผู้หญิงจากเครื่องแต่งกายอันเทอะทะและกระโปรงยาว ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเบลล์เอพอค Belle Époch (ช่วงปี ค.ศ. 1871 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914) ให้ผู้หญิงแสดงออกถึงความสง่างามอีกทั้งต้องมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระด้วย

ชาแนลกับชุดที่เธอ ออกแบบเอง ในปี 1931

ชาแนลกับชุดที่เธอ ออกแบบเอง ในปี 1931

เธอเล็งเห็นปัญหาของเสื้อผ้าผู้หญิงในยุค 1950s จึงตัดสินใจแหกกฏของช่างตัดเสื้อในสมัยนั้น หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านบูทีคของเธอเปิดทำการอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1954 เธอจึงทำการออกแบบและตัดเย็บชุดสูท โดยเลือกใช้เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย คล่องตัว ว่ากันว่าเริ่มแรกเธอใช้เพียงผ้าเจอร์ซีย์ ที่มีคุณสมบัตินุ่ม เบา ยับยาก มีความยืดหยุ่นสูงก่อน

จากความหลงไหลในผ้าทวีตของเธอ ซึ่งเป็นตัวแทนของความอ่อนหวาน เปี่ยมเสน่ห์ในแบบเฟมินีน จึงเป็นการพัฒนาต่อยอดในการใช้ผ้าทวีตในการตัดเย็บบวกกับการใส่แพทเทิร์นแบบแมน ๆ เข้าไป พัฒนาส่วนผสมของทวีตกับไหมและขนสัตว์ เพื่อสร้างผ้าที่มีน้ำหนักเบาและขัดเงามากขึ้น ผลลัพท์ที่ได้คือ งานนวัตกรรมชั้นเยี่ยมที่เปิดหน้าประวัติศาสตร์การแต่งกายให้กับผู้หญิงในยุคนั้น

ด้วยหลักการออกแบบ บวกกับโครงสร้างเฉียบคมเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ ที่ว่า “ความสง่างามของเครื่องแต่งกาย มาพร้อมกับอิสระในการเคลื่อนไหว” สะท้อนผ่านโครงเสื้อแนวตรง การเย็บของอย่างปราณีต ด้านหน้าถูกประกอบให้ขนานกับเกรนผ้า เย็บไปตามแนวของริมผ้าโดยไม่มีการตีเกล็ดที่หน้าอกอย่างเด็ดขาด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นไม่ให้เสื้อเสียรูปทรง ซับในมีจำนวนชิ้นเท่ากับแพทเทิร์นด้านนอก แขนเสื้อถูกออกแบบให้อยู่เหนือไหล่เพื่อความสบายในการสวมใส่

เติมความสมบูรณ์แบบด้วยการใช้สายโซ่ทองเหลือง สอดเข้าไปในตะเข็บของซับใน เพื่อให้ตัวเสื้อแจ็กเก็ตทิ้งตัวลงมาอย่างสวยงาม รวมไปถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลายถักเปียที่ทริมไปตามโครงสร้าง ขอบกระเป๋า ขอบแขนเสื้อ อีกทั้งตัวกระดุม ก็เปรียบเสมือนอัญมณีที่ดัดแปลงมาจาก “พลาสติกที่สวยที่สุด” อย่าง galalith , เรซิ่น หรือเหล็ก ที่ตกแต่งด้วยหัวสิงโต , ฝักข้าวสาลี , ดอกคามิเลียหรือโลโก้ C ไขว้ของแบรนด์

Chanel jacket ในยุค 60

Chanel jacket ในยุค 60

หลังจากนั้นไม่นาน แจ็กเก็ตของชาแนล ที่ได้รับการขนานนามว่า “Chanel’s uniform” ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก จากสุภาพสตรีผู้ทรงอิทธิพลจากหลากหลายวงการ หนึ่งในนั้นคือ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง Jackie Kennedy ภริยาของประธานาธิบดี John F. Kennedy แห่งสหรัฐอเมริกา  ซึ่งสวมชุดแจ็กเก็ตผ้าทวีตชาแนลสีชมพู ในวันที่สามีของเธอถูกลอบสังหาร ณ เมืองเท็กซัส เมื่อปี ค.ศ. 1963 ชุดแจ็กเก็ตที่เธอสวมใส่นั้น เป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่น Chanel Haute Couture Fall / Winter 1961

ชุดแจ็กเก็ตกระดุมสองแถว สีชมพูสตรอเบอร์รี่ มาพร้อมกับหมวกทรงกระบอกตามแบบฉบับแฟชั่นของ Jackie O หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร ชุดดังกล่าว ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ จากการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่เผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ ในปี ค.ศ. 2003 เป็นเวลา 9 ปี หลังการเสียชีวิตของมารดา Caroline Kennedy ได้มอบชุดดังกล่าว ให้กับทางการสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบัน ได้เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (National Archives) และไม่เปิดให้เข้าชมจนกระทั่งปี ค.ศ. 2013

ในปี ค.ศ. 1983 คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) เข้ามารับช่วงต่อ โดยเขาได้ทำการชุบชีวิตให้กับไอเทมอันงดงามนี้ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการผสมผสานเทรนด์ปัจจุบันเข้ากับความต้องการของผู้หญิง ปรับลูกเล่นให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งผลงานชิ้นแรกถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1985 กับแจ็กเก็ตที่ถูกนำมามิกซ์แมทช์เข้ากับกางเกงยีนส์ และเสื้อยืดลายทางแนวสปอร์ต ความขบถในการออกแบบของคาร์ล เป็นการปลุกชีวิตให้กับแจ็กเก็ตในตำนานนี้อีกครั้ง และสร้างกระแสฮือฮาไม่น้อย
KARL LAGERFELD กับภาพสเก๊ตคอลเล็กชั่นแรกของเขา CHANEL HAUTE COUTURE เดือนมีนาคม 1984

KARL LAGERFELD กับภาพสเก๊ตคอลเล็กชั่นแรกของเขา CHANEL HAUTE COUTURE เดือนมีนาคม 1984

หลังจากนั้น แจ็กเก็ตชาแนล ก็ถูกตีความใหม่ คิดค้นและดัดแปลงใหม่เรื่อย ๆ ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคอลเล็กชั่น ไม่ว่าจะเป็นด้านรูปทรง ความสั้น , ยาว , วอลลุ่ม , และช่วงไหล่ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มีการปรับเปลี่ยนคัตติ้งและดีเทลต่าง ๆ ก่อกำเนิดคอลเล็กชั่น Métiers d’art ที่สนับสนุนให้ช่างตัดเสื้อทุกคน ได้แสดงฝีมือประชันกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ คาร์ลยังได้ร่วมมือกับ House of Lesage เพื่อทอผ้าพิเศษสำหรับแบรนด์ Chanel โดยเฉพาะอีกด้วย
ในยุคของคาร์ล ผลงานการออกแบบของเขา ส่วนใหญ่จะสื่อถึงเอกลักษณ์ของแบรนด์ ความเป็นผู้หญิง ที่ร่ำรวยและดูมีอำนาจ โดยเขาได้นำตราสัญลักษณ์ CC ไขว้ มาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือ ไปจนถึงบรรดาเครื่องแต่งกายต่าง ๆ ทำให้ตัวอักษร CC ไขว้นี้ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลทั่วโลก แบรนด์ชาแนลได้กลายมาเป็นแบรนด์ที่ยังคงรักษาความดั้งเดิมอันคลาสสิกเอาไว้ ในขณะเดียวกันนั้น ยังสร้างความประทับใจให้กับสาวกแฟชั่น ยุคปัจจุบัน
ในแต่ละคอลเล็กชั่น คาร์ลจะใส่ความสนุกสนานเข้าไป โดยไม่ทิ้งความคลาสสิกดั้งเดิมอันเป็นสเน่ห์ของแจ็กเก็ตทวีตนี้ จากแนวทางที่เขายึดถือมาอย่างต่อเนื่อง รวมเข้ากับจินตนาการอันไร้ขอบเขต ผนวกกับความรู้ความสามารถที่เขามี ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้าของชาแนล สัดส่วนของเสื้อผ้า ซึ่งคาร์ลไม่เคยกลัว ที่จะก้าวไปลองสิ่งใหม่ ๆ ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งมุมมองและสไตล์แบบดั้งเดิม
ด้วยทักษะชำนาญการ (Savoir-Faire) และนวัตกรรมของผลงานเมติเยร์ ดาร์ท(Metiers D’art) เขาจึงสามารถนำเสนอลายเปียอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมจากมาดมัวแซวชาแนล ได้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงผ้าทวีตที่ทอโดยร้านเลอซาจ (Lesage) และกระดุมคริสตัล โดยกล่าวว่า “มีบางสิ่งที่ไม่เคยหลุดจากความนิยมของแฟชั่น นั่นก็คือกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ตสีขาว และเสื้อแจ็คเก็ตชาเนล”
Karl Lagerfeld และนางแบบ Stella Tennant ในโชว์ Chanel คอลเลกชั่น Metiers D'Art Show เมื่อปี 2011

Karl Lagerfeld และนางแบบ Stella Tennant ในโชว์ Chanel คอลเลกชั่น Metiers D’Art Show เมื่อปี 2011

 

Virginie Viard ‘s Era

มาถึงยุคของ เวอร์จินี วิอาร์ด (Virginie Viard) อาร์ทิสติกไดเร็กเตอร์คนปัจจุบันของแบรนด์ ก็ยังคงสืบสานเจตนารมณ์แรกของผู้ก่อตั้งอย่าง Gabrielle Chanel ที่ว่าผู้สวมใส่เครื่องแต่งกายของชาแนล จะสามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงดีเอ็นเอปารีเซียนที่ Karl Lagerfeld เคยฝากฝังไว้ โดยเธอได้ทำการปรับแต่งแจ็กเก็ตออกมาหลากหลายรูปแบบ แต่ยังคงความละเอียดอ่อน เพิ่มเติมลูกเล่น ผสมผสานกับความทันสมัยไว้ได้อย่างลงตัว

ในคอลเล็กชั่น Chanel Cruise 2019/20 เธอก็ยังคงเอกลักษณ์ของแจ็กเก็ต ไอเท่มพิเศษนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันก็เพิ่มลูกเล่นและความสนุกตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นแจ็กเก็ตแบบกระเป๋า 2 ช่อง 4 ช่อง หรือ 6 ช่อง , แจ็กเก็ตชายเสื้อแบบตรงและโค้ง , กระดุมแบบ 2 แถว รวมทั้งการเลือกใช้สีสันของผ้าทวีต ที่มีทั้งสีธรรมชาติ สีม่วง สีเขียว สีชมพูฟูเชีย หรือโทนสีสะท้อนแสง และคอมพลีตลุคด้วยเข็มขัดโซ่ที่สานเข้ากับหนัง

Chanel Cruise 2019/20

Chanel Cruise 2019/20

สำหรับคอลเล็กชั่น Ready-to-Wear ฤดูกาล Spring-Summer 2020 เวอร์จินี ได้ดึงความอ่อนหวานเย้ายวน เสน่ห์ของความเป็นผู้หญิงอันชวนฝัน แจ๊กเก็ตสุดไอคอนิค ถูกเสนอในรูปแบบที่นุ่มนวล โดยใช้ผ้าทวีตที่มีน้ำหนักเบา มีการเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ เข้าไป ไ่ม่ว่าจะเป็นการตกแต่งปกและปลายแขนในเดรสผ้าพลีต เพลย์สูทที่ดูเด็กขึ้น

พร้อมกับซับในโทนสีสดใส ตกแต่งด้วยกระดุมพิเศษ หรือ กุ๊นขอบด้วยเลื่อมที่ถักเป็นเปีย แมตช์กับกางเกงขาสั้น , กางเกงทรงเบอร์มิวดา และกระโปรงบาน ตัวแจ็กเก็ตถูกดัดแปลงเป็นรูปแบบคัลเลอร์บล็อก , ทูโทน , สีรุ้ง , ลายทาง และ ผ้าลายตาราง

Ready-to-Wear ฤดูกาล Spring-Summer 2020

Ready-to-Wear ฤดูกาล Spring-Summer 2020

ตัวชูโรงของคอลเล็กชั่น Paris–31 rue Cambon 2019/20 Métiers d’art นั่นก็คือ แจ็กเก็ตทูโทน อันเป็นซิกเนเจอร์ของชาแนล โดยเวอร์จินี ได้ดัดแปลงไอเท่มในตำนานชิ้นนี้ ให้ทันสมัยขึ้น มาในเวอร์ชั่นมัดย้อมในหลากโทนสีชมพู อันได้แรงบันดาลใจมาจากสูทผ้าทวีตสีชมพูที่ตกแต่งด้วยซับในไล่สี รังสรรค์โดยฝีมือชาแนล เมื่อปี ค.ศ. 1960 กับแจ็กเก็ตตัวสั้นที่เข้ากันได้ดีกับกระโปรงเอวต่ำ ประดับด้วยเข็มขัดตกแต่งด้วยอัญมณี กระดุมที่เรียงแถวอยู่ด้านข้างของแจ๊กเก็ต และแพตช์เวิร์กที่ปักประดับด้วยเลื่อมหลากสีมากกว่า 23,000 ชิ้น

Paris – 31 rue Cambon 2019/20 Métiers d’art

Paris – 31 rue Cambon 2019/20 Métiers d’art

ในคอลเล็กชั่น Ready-to-Wear ในฤดูกาล Fall-Winter 2020/21 เวอร์จินี ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจาก Casaque (แจ็กเก็ตของนักกีฬาจ๊อกกี้) ซึ่งสวมใส่โดยนักกีฬาแข่งม้าของชาแนล นามว่า Romantica ซึ่งถูกตกแต่งด้วยแถบผ้าซาตินสีขาว อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในการนำกระดุมสแน๊ปมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชุด เพื่อสื่อถึงความมีชีวิตชีวา โดยแจ็กเก็ตเหล่านี้ถูกปักลวดลายเลขาคณิตโดยฝีมือ Montex รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งด้วยลายลูกไม้ 715, แผงกระดุมเสื้อสองแถว และแม้แต่ขนนก

Ready-to-Wear ฤดูกาล Fall-Winter 2020/21

Ready-to-Wear ฤดูกาล Fall-Winter 2020/21

ผ้า Tweed ของชาแนล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. Fantacy Tweed : เป็นผ้าทวีต ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากด้ายหลากสี ซึ่งไม่มีวัสดุหรือเส้นด้ายพิเศษเข้ามาผสม ขั้นตอนการทอไม่ยุ่งยาก พื้นผิวของผ้าไม่ซับซ้อน ไม่มีมิติหรือความนูนมากนัก ใช้เวลาในการทอไม่เกิน 24 ชั่วโมง ปัจจุบัน ถูกนำมาใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ซึ่งมีราคาสูงกว่า Plain Tweed อีกทั้งยังเป็นลิขสิทธิ์ของชาแนล ที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

Fantacy Tweed

Fantacy Tweed

2. Lesage Tweed : ทำการออกแบบโดย Maison D’ Art Lesage มีส่วนผสมของเปลือกหอย เลื่อมและขนสัตว์ ใช้เวลาทอ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ด้วยเส้นด้ายมากกว่า 60 เส้น มีความหรูหราด้วยวัสดุที่นำมาทอแตกต่างจากเส้นด้ายปกติ ส่งผลให้มีราคาค่อนข้างสูง โดยราคาจำหน่ายเริ่มตั้งแต่ 400,000 ไปจนถึง 1,000,000 บาท

Lesage Tweed

Lesage Tweed

3. Plain Tweed : ผ้าแบบดั้งเดิม เรียบง่าย โดยใช้ด้ายแบบและสีเดียวกัน เป็นผ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาผ้า Tweed ที่มีอยู่หลากหลายแบบ เนื่องจากราคาที่จับต้องได้ รวมถึงความโก้หรู เรียบง่าย ซึ่งทาง Chanel ยังถือลิขสิทธิ์ Plain Tweed ทำให้แบรนด์อื่น ๆ ไม่สามารถซื้อผ้าแบบเดียวกันกับที่ ชาแนล ต้องการได้ นับว่าผ้า Plain Tweed เป็นไอคอนิกของแบรนด์เลยก็ว่าได้

Plain Tweed

Plain Tweed

ปัจจุบันแจ็กเก็ตทวีตของชาแนล ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่นเฮาส์ในอดีต ที่ถูกนำมาปรับปรุงใหม่ ให้เข้ากับสมัยนิยมและทุกฤดูกาล ความคลาสสิกที่ได้รับการจดจำในฐานะแฟชั่น ที่ผสมผสานระหว่างความสะดวกสบาย ความหรูหราและความสง่างาม โดยคงไว้ซึ่งหลักการออกแบบเดียวกันกับที่ Coco คิดค้นไว้เมื่อ 90 ปีที่แล้ว รักษาบทบาทในฐานะเอกลักษณ์ที่แท้จริง ของวงการแฟชั่น เป็นดั่ง Iconic ไอเท่มที่เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ที่สวมใส่ได้ กลายเป็นสัญลักษณ์หลักของ House of Chanel ที่จะยังคงอยู่อีกหลายทศวรรษ

รัก

KATE