To top
10 Oct

31 Rue Cambon – The Chanel Story Behide The Facade

31 Rue Cambon เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปและมีชื่อเสียง ในฐานะอาคารซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ Chanel Boutique Studio สถานที่ทำการออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า โอต์ กูตูร์ ของแบรนด์ชาแนล ซึ่งยังคงรูปแบบดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน อาณาจักรที่ Gabrielle Chanel ได้ทำการสร้างสรรค์ขึ้น ที่ที่เธอได้เริ่มไอเดียแนวคิดของบูทีคสมัยใหม่ ความเป็นมาและประวัติของตึกแห่งประวัติศาสตร์นี้ จะมีที่มาอันน่าสนใจอย่างไรบ้าง ต้องผ่านเหตุการณ์อะไรบ้าง ก่อนจะยืนหยัดเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้ ร่วมเดินทางย้อนอดีตเพื่อหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

THE STORY BEHIND THE FACADE

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณช่วงศตวรรษที่ 18 ถนน rue Cambon และถนนหลายสายในแถบนี้ ถูกสร้างขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ชื่อ Cambon ถูกตั้งชื่อตามนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อเสียงจากการได้รับเลือกให้เข้าร่วมการประชุมแห่งชาติ ซึ่งมีบิดาเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจการผลิตผ้า

อาคารต่าง ๆ รูปทรง Convent de la ถูกทุบทิ้ง คงเหลือแต่โบสถ์ Notre Dame de I’Assomption ซึ่งยังคงยืนหยัดอยู่จนถึงปัจจุบัน สิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นในเวลาต่อมา ได้รับอิทธิพลจากความคลาสสิก อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยเส้นสายบริสุทธิ์

โคโค่ ชาแนล (Coco Chanel) หรือชื่อเต็ม กาเบรียล บอนเนอร์ ชาแนล (Gabrielle Bonheur Chanel) หญิงสาวชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1883 ที่เมือง ซูเมอร์ (Saumur) ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวยากจน และมีพี่น้องชายหญิงรวมทั้งหมด 5 คน ภายหลังจากมารดาของเธอเสียชีวิตด้วยโรคหลอดลมอักเสบ บิดาของเธอจึงพาเธอและพี่น้องซึ่งเป็นผู้หญิงอีก 2 คน ไปทิ้งไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า Aubazine (โอบาซีน) และไม่เคยเหลียวแลพวกเธออีกเลยนับจากนั้น

ตลอดระยะเวลาที่ชาแนลใช้ชีวิตอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนั้น เธอได้มีโอกาสเรียนรู้ และฝึกฝนเทคนิกการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเธอได้ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว บวกกับการที่เธอเป็นเด็กใฝ่รู้และกระตือร้น ทำให้เธอได้ใช้ความรู้ความสามารถประกอบอาชีพ หารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ เวลาว่างจากการตัดเย็บเสื้อผ้า เธอยังมีรายได้เสริมจากการร้องเพลงตามคาบาเร่ ร่วมกับเพื่อน ๆ ของเธออีกด้วย

ในปี ค.ศ. 1905 ขณะที่ชาแนลมีอายุได้ 23 ปี เธอได้มีโอกาสได้พบกับ เอเตียน บัลซอง (Etienne Balsan) อดีตทหารม้าและทายาทเศรษฐีอุตสาหกรรมสิ่งทอผู้มั่งคั่ง และตกเป็นหนึ่งในเมียลับ ๆ ของเขา เธอได้อาศัยอยู่กับบัลซองในคฤหาสน์ชานเมืองอันใหญ่โต ที่แห่งนั้นเอง ที่ชาแนลได้สัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ราคาแพง รวมถึงได้ทำความรู้จักคลุกคลีกับบุคคลชั้นสูงผู้มีชื่อเสียงมากมาย

ชาแนลในช่วงวัย 26 ปี

ชาแนลในช่วงวัย 26 ปี

บัลซอง สอนให้ชาแนลได้เรียนรู้ความสวยงามและความหรูหราจากข้าวของราคาแพงเหล่านี้ ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน ชาแนลเริ่มตัดเย็บหมวกให้กับบรรดาคุณหญิงคุณนายที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนคฤหาสน์ของบัลซอง และได้รับความนิยมชื่นชอบพอสมควร จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1909 เมื่อชาแนลเดินทางไปที่มหานครปารีส บัลซองให้ชาแนลยืมพื้นที่ตึกของเขา ซึ่งตั้งอยู่ที่ 160 Boulevard Malesherbes เพื่อใช้เปิดเป็นร้านของเธอใน Deauville อีกทั้งยังแนะนำให้ชาแนลรู้จักบุคคลผู้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลอีกหลายท่าน

หนึ่งในนั้นคือ เพื่อนสนิทของบัลซองนามว่า อาเธอร์ เอ็ดเวิร์ด คาเปล (Arthur Edward Capel) คาเปลตกหลุมรักชาแนลทันทีตั้งแต่แรกพบ คาเปลตัดสินใจให้เงินทุนชาแนลเพื่อสนับสนุน ในการเปิดร้านขายหมวกที่เธอทำการออกแบบเอง โดยทำการตกลงกับบัลซอง เพื่อจะคบหาชาแนลอย่างเปิดเผย โดยบัลซองจะยังคงช่วยเหลือเรื่องสถานที่ต่อไป ส่วนคาเปลจะสนับสนุนทางด้านเงินทุน

และแล้ว ชาแนลก็ได้เป็นช่างทำหมวกที่มีใบอนุญาตและเปิดร้านเป็นของตัวเองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 1910 ภายใต้ชื่อ “Chanel Modes” ตั้งอยู่ที่ห้องเลขที่ 21 ถนน rue Cambon ใจกลางกรุงปารีส ห่างจาก Place Vendôme และ rue Faubourg Saint-Honoré เพียงไม่กี่ก้าว ซึ่งนับว่าเป็นใจกลางย่านอันทันสมัยของตัวเมืองเลยก็ว่าได้

ชาแนลเริ่มต้นธุรกิจของเธอด้วยการจำหน่ายหมวก ที่เธอได้ทำการออกแบบและตัดเย็บเอาไว้แล้ว แต่สัญญาเช่าร้านของเธอ ได้ระบุเอาไว้ว่า เธอไม่สามารถทำการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อจำหน่ายได้ เนื่องจากมีร้านขายเสื้อผ้าเป็นจำนวนมากแล้วในละแวกนั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด ฝีมือการตัดเย็บหมวกของเธอเป็นที่เลื่องลือและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เรียบง่าย อีกทั้งยังประดับประดาด้วยขนนกและดอกไม้ อันเป็นแฟชั่นสมัยนิยมในขณะนั้นอีกด้วย

Gabrielle Dorziat นักแสดงสาว

Gabrielle Dorziat นักแสดงสาว

ความมีชื่อเสียงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อนักแสดงสาวนามว่า เกเบรียน โดซิแอด (Gabrielle Dorziat) ได้นำหมวกที่ได้รับการออกแบบโดยชาแนล ไปสวมใส่เข้าฉากในการถ่ายทำภาพยนต์ด้วยกันถึง 2 เรื่อง คือ Bel Ami และ Les Modes การออกแบบที่มีดีไซน์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนในทุกผลงาน จึงทำให้ร้านของเธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และถูกกล่าวถึงอย่างรวดเร็ว

 

Deauville , Biarritz , Paris

ในปี ค.ศ. 1913 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาแนล ได้เปิดบูทีคจำหน่ายเสื้อผ้าของเธอเป็นครั้งแรก ที่เมือง Deauville (โดวิลล์) เมืองตากอากาศริมทะเลแสนหรูหรา และรายล้อมไปด้วยผู้คนซึ่งมั่งคั่ง โดยใช้ชื่อบูทีคแห่งนั้นว่า “Chanel” เสื้อผ้าที่ออกจำหน่ายในช่วงแรกนั้น ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากชาวประมง Normandy มีลักษณะคล้ายกับเสื้อของทหารเรือ คอเปิด กางเกงสไตล์หลวม ๆ กระโปรงยาว และเสื้อคอเต่า ซึ่งการออกแบบทั้งหมด เน้นความเรียบง่าย สวมใส่สบาย แต่มีดีไซน์แปลกตาและหรูหราอย่างไม่น่าเชื่อ

Chanel in front of her boutique in Deauville, 1913

Chanel in front of her boutique in Deauville, 1913

นอกจากนี้ ชาแนลยังได้ทำการออกแบบชุดว่ายน้ำสำหรับผู้หญิง ซึ่งตัดเย็บจากผ้า Jersey อันอ่อนนุ่ม รวมถึงชุดกีฬาต่าง ๆ ชุดทำงานและชุดลำลอง ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี พร้อมเหล่าบรรดาลูกค้าสตรีผู้มั่งคั่งมากมาย หลังจากความสำเร็จ ในเดือน กรกฏาคม ปี ค.ศ. 1915 ชาแนล ได้เปิดร้าน Couture (กูตูร์) แห่งแรกของเธอ ในวิลล่าแห่งหนึ่งที่ Biarritz บนทำเลทองซึ่งหันหน้าเข้าคาสิโน แวดล้อมไปด้วยความเจริญ มั่งคั่ง และหรูหราของผู้คน พร้อมช่างตัดเย็บที่อยู่ภายใต้การดูแลของเธอถึง 300 คน

The Couture House in Biarritz, 1931

The Couture House in Biarritz, 1931

หลังสิ้นสุดสงคราม ธุรกิจของชาแนลไปได้ด้วยดี การเงินของเธอเริ่มแข็งแกร่งมากพอและสามารถยืนได้ด้วยตนเอง เธอได้คืนเงินลงทุนทั้งหมดแก่คาเปล ในปารีส เธอเริ่มขยับขยายธุรกิจของเธอ ด้วยการย้ายร้านมาอยู่ที่ตึก 6 ชั้นสุดหรู เลขที่ 31 ถนน Rue Cambon ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “House of Chanel” จนถึงปัจจุบัน

The CHANEL boutique, 31 rue Cambon by Thérèse Bonney, 1929

The CHANEL boutique, 31 rue Cambon by Thérèse Bonney, 1929

ปี ค.ศ. 1914 ร้านของเธอได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ธุรกิจร้านเสื้อผ้าของเธอต้องหยุดชะงักเป็นการชั่วคราว แต่ถึงแม้กระนั้น ความคิดของเธอไม่ได้หยุดนิ่ง เธอยังคงมุ่งมั่นและผุดไอเดียในการออกแบบดีไซน์เสื้อผ้าอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งสงครามสงบ ในปี ค.ศ. 1918 ร้านของเธอได้เปิดดำเนินการอีกครั้ง และเป็นที่แน่นอนว่ากิจการของเธอกลับมาเป็นที่นิยมของเหล่าสตรีอีกเช่นเคย

 

The empire in Rue Cambon

ปี ค.ศ. 1918 ชาแนลได้รับการยอมรับอย่างมาก ในฐานะช่างทำหมวกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ธุรกิจของเธอดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งนั่นทำให้เธอต้องการพื้นที่กว้างขวางขึ้น เธอจึงได้ดำเนินการซื้อตึกเลขที่ 31 ทั้งตึก ที่นี่เธอได้คิดค้นแนวคิดของบูติกสมัยใหม่ ในปี ค.ศ. 1921 เธอเริ่มจัดแสดงเครื่องประดับแฟชั่นเพื่อสวมใส่กับเสื้อผ้าและหมวกของเธอ รวมทั้งการเปิดตัวน้ำหอมตัวแรก Chanel N°5 ซึ่งต่อมาได้มีไลน์เครื่องประดับประเภท jewelry และผลิตภัณฑ์ด้านความงามตามมา

ในช่วงปี 1920s เศรษฐกิจกำลังฟื้นฟูและรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ในกลุ่มคนชนชั้นอภิสิทธิ์ ชาแนลได้มองเห็นโอกาสและขยายพื้นที่จำหน่ายสินค้าของเธอเพิ่มเติมเพื่อต้อนรับ จัดหาสินค้าราคาแพงให้กับเหล่าลูกค้าผู้มั่งคั่งของเธอ ใจกลางกรุงปารีส เธอเริ่มก่อสร้างอาณาจักรของเธอ ณ ถนน Rue Cambon โดยได้ทำการซื้อตึกเลขที่ 29 , 25 , 27 และ 23 เพิ่มเติมจากตึกเลขที่ 31 รวมถึงการเปิดร้านสุดเก๋ไก๋ที่ Riviera ในเมือง Cannes อีกด้วย

ชาแนล ได้จัดการสร้างอาณาจักรของเธอ ซึ่งเป็นอาคารรูปทรงศตวรรษที่ 18 ให้เป็นไปตามที่เธอต้องการ โดยจัดร้านบูทีคไว้อยู่ที่ชั้นแรก (Ground Floor) บนชั้นหนึ่ง (First Floor) เป็นห้องรับรองขนาดใหญ่ ที่ซึ่งเธอใช้เพื่อนำเสนอคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ และเก็บอุปกรณ์สำหรับทำการวัดตัวและตัดเย็บเสื้อผ้าโอต์ กูตูร์ (Haute Couture) บันไดวนที่ประดับตกแต่งทั้ง 2 ข้างด้วยกระจก นำทางไปสู่ชั้นสอง ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ของเธอ อาณาจักรส่วนตัวอันเต็มไปด้วยของล้ำค่า

ชั้นสาม เป็นห้องสตูดิโอ ที่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เคยใช้เป็นห้องทำงาน พร้อมด้วย workshops ประดับด้วยไฟสลัว ๆ ที่ชั้นบนสุด ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดของชาแนล ไม่ว่าจะเป็น workshops ในการผลิตเครื่องประดับ jewelry , การตัดเย็บหมวก หรือคอลเล็กชั่นชุดกีฬา ทุกอย่างเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ในตึกเลขที่ 31 แห่งนี้ และยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน

ในอพาร์ตเมนต์นี้ คุณจะเข้าใจจักรวาลของมาดมัวแซล ชาแนล ของประดับตกแต่งห้องอันล้ำค่ามากมาย ฉากกั้นแบบจีนโบราณที่แกะสลักเป็นรูปดอกคามิเลีย วางราบกับผนัง หรือตรงทางเข้า ตัวตนของความเป็นชาแนลก็ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วห้องเช่นกัน โซฟาหนังนิ่ม เพื่อใช้ต้อนรับบุคคลสำคัญและเพื่อนสนิท ไม่ว่าจะเป็น Elizabeth Taylor, Pablo Picasso, Alberto Giacometti, Igor Stravinsky และ Salvador Dalí

สมบัติล้ำค่าและของที่ระลึกปิดทองอันวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็น สิงโตเวนิสสีทอง (ชาแนลเกิดลักขณาราศีสิงห์) กล่องบุหรี่ที่แกะสลักอย่างบรรจง ปปั้นมือทองคำจาก Giacometti , ม้าโลหะจีน ชั้นหนังสือแบบติดผนังต่อผนังเต็มไปด้วยหนังสือที่ผูกด้วยหนังอย่างดี โต๊ะไม้แกะสลักซึ่งใช้งานมานานหลายทศวรรษ และโคมไฟระย้าคริสตัลทำเองที่หรูหราส่องประกายระยิบระยับจากเพดาน

แต่ทว่า แม้อพาร์ตเมนต์แห่งนี้ จะถูกออกแบบเป็นอย่างดี รวมถึงตกแต่งอย่างวิจิตร แต่ชาแนล ไม่เคยนอนค้างคืนที่นั่นเลย ทุกเย็นหลังจากเสร็จงานที่บูทีคของเธอ ชาแนลจะเดินข้ามถนน ไปยังโรงแรม Ritz Paris สถานที่ซึ่งเธอเรียกว่า “บ้าน” มาตลอด 34 ปี ห้องของเธอ เมื่อมองออกมานอกหน้าต่าง สามารถเห็นวิว Place Vendome ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ขอแรงบันดาลใจในการออกแบบของเธอนั่นเอง

ในช่วงปี ค.ศ. 1939 ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ธุรกิจของชาแนลได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เธอมีความจำเป็นต้องปิดอาณาจักร Couture House ทั้ง 4 แห่ง บนถนน rue Cambon ของเธอ เหลือไว้เพียงตึกเลขที่ 31 เท่านั้นที่ยังคงเปิดทำการ โดยเครื่องประดับและน้ำหอมยังคงมีจำหน่ายต่อเนื่อง ณ บูทีคแห่งนี้ อีกทั้งเป็นที่ต้องการอย่างมากของทหารอเมริกัน

เหล่าทหารอเมริกันต่อคิวเพื่อซื้อน้ำหอม N°5 , 1945

เหล่าทหารอเมริกันต่อคิวเพื่อซื้อน้ำหอม N°5 , 1945

หลังสงครามสิ้นสุดลง ชาแนลในวัย 71 ปี ตัดสินใจเปิดอาณาจักร Couture House ขึ้นอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1954 ด้วยการจัดแฟชั่นโชว์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากสื่ออเมริกัน ซึ่งคอลเล็กชั่นแรกที่เธอนำเสนอคือ ชุดเสื้อผ้า Jersey ที่มีเครื่องหมายเลข “5” พร้อมแรงบันดาลใจที่จะปฏิวัติโลกแฟชั่นเป็นครั้งที่สอง ด้วยผลงานใหม่ล่าสุดแต่ยังคงความเป็นออริจินัลของเธอเอาไว้

Gabrielle Chanel in the staircase at 31, rue Cambon ,1953

Gabrielle Chanel in the staircase at 31, rue Cambon ,1953

Coco Chanel ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม ปี ค.ศ. 1971 ในวัย 87 ปี ณ ห้องพักในโรงแรมริสต์ ที่ซึ่งเธอใช้เป็นที่พักมาตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่เธอกำลังอยู่ในช่วงออกแบบงานคอลเล็กชั่นสำหรับฤดูใบไม้ผลิของปีนั้น พิธีศพของเธอถูกจัดขึ้นที่ Eglise de la Madeleine โดยมีเหล่านางแบบมาร่วมไว้อาลัยเธอเป็นครั้งสุดท้ายกันอย่างล้นหลาม

สำหรับห้องอพาร์ตเมนต์ของชาแนล ที่ ตึก 31 Rue Cambon นั้น สงวนสิทธิ์เปิดให้ชมเฉพาะบุคคลพิเศษ การสัมภาษณ์ หรือการถ่ายภาพพิเศษเป็นหลักเท่านั้น ความพิเศษที่ทำให้ตึกแห่งประวัติศาสตร์เลขที่ 31 นี้แตกต่างจากบูทีคที่อื่นในโลก นอกจากเรื่องราวประวัติความเป็นมาแล้ว ที่บูทีคแห่งนี้ ยังเป็นที่เดียว ที่ใช้ถุงกระดาษและตัวแพกเกจจิ้งต่าง ๆ เป็นพื้นสีขาว มีตัวอักษร CHANEL โดดเด่นตรงกลาง ด้านล่างระบุคำว่า 31 , RUE CAMBON – PARIS (บูทีคอื่นในโลกจะใช้แพกเกจจิ้งพื้นสีดำ)

ปัจจุบัน ตึกหมายเลข 31 ยังคงรูปแบบและตัวอาคารไว้เหมือนเดิม มีสตูดิโอที่ใช้งานอยู่ 4 แห่ง สองแห่งเป็นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า และอีกสองแห่งสำหรับช่างเทคนิคการตัดเย็บเสื้อผ้า (ชาแนลได้ซื้ออาคารแถวทั้งหมดบนถนน Rue Cambon ตึกหมายเลข 23 ถึง 31 ในปี ค.ศ. 1927) สิ่งที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน นอกจากตัวอาคารก็คือกลิ่นอายของความเป็นชาแนลที่ยังคงกรุ่น และแฝงอยู่ในทุกอณูของตึกเลขที่ 31 กลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเล็กชั่นสำคัญต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้

รัก
xoxo

KATE