To top
12 Apr

เปิดประวัติ Richard Mille “a racing machine on the wrist”

ประวัติ Richard Mille

เปิดประวัติ Richard Mille แบรนด์นาฬิกาหรู จากผู้ก่อตั้งชาวฝรั่งเศสนามว่า Richard Mille (ริชาร์ด มิลล์) กับความต้องการในการสร้างความแตกต่างในวงการนาฬิกาข้อมือ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องบิน และความหลงไหลในรถแข่งฟอร์มูล่า 1 มิลล์จึงนำนวัตกรรมของทั้ง 2 เทคโนโลยี มาบรรจุลงในนาฬิกาของเขา ภายใต้สโลแกน “a racing machine on the wrist”

จากการเปิดตัวนาฬิการุ่นแรกอย่าง RM 001 Tourbillon ในงาน Baselworld เมื่อปี ค.ศ. 2001 ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการนาฬิกา โดดเด่นด้วยงานดีไซน์ตัวเรือนแบบ Skeleton ที่สามารถมองทะลุไปถึงกลไกภายใน ด้วยวัสดุสุดไฮเทคกับการออกแบบที่โดดเด่น เพื่อตอกย้ำแนวคิดด้านประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างเทรนด์ใหม่ในการผลิตนาฬิกา อะไรที่ทำให้ ริชาร์ด มิลล์ ประสบความสำเร็จ ภายใต้ค่าตัวเริ่มต้นที่หลักล้าน เราไปหาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้

 

Richard Mille

เปิดประวัติ Richard Mille (ริชาร์ด มิลล์) เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1951 ที่เมือง Draguignan เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อมิลล์อายุได้ 20 ปี เขาได้ย้ายไปอยู่ที่สหราชอาณาจักรเพื่อเรียนภาษาอังกฤษและเรียนเช็คสเปียร์ จากนั้นเขาได้เข้าร่วม IUT Besançon ซึ่งเขาได้รับปริญญาด้านการตลาดในปี ค.ศ. 1974

เริ่มเข้าสู่แวดวงนาฬิกาเมื่อปี ค.ศ. 1974 ด้วยวัยเพียง 23 ปี โดยเริ่มเข้าทำงานที่บริษัท Finhor ซึ่งเป็นบริษัทผลิตนาฬิกาในท้องถิ่น ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายส่งออก หลังจากบริษัทถูกซื้อโดย Matra ของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1981 ริชาร์ด มิลล์ ได้เข้าสู่ธุรกิจอย่างเต็มตัวในฐานะผู้จัดการธุรกิจทั้งหมด รวมถึงแบรนด์ในเครือ ไม่ว่าจะเป็น Yema และ Cupillard Rième

กิจการของบริษัท Matra ถูกขายให้กับ Seiko ในปี ค.ศ. 1992 มิลล์ลาออกและเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นของ Mauboussin บริษัทอัญมณีชื่อดังของฝรั่งเศส ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทั่วไปของแผนกขายนาฬิกา Place Vendôme jeweler ระหว่างที่ยังร่วมงานกับบริษัท Mauboussin นั้น มิลล์ได้พบกับบุคคลผู้มากสามารถในวงการนาฬิกามากมาย หนึ่งในนั้นคือ Giulio Papi หนึ่งในช่างซ่อมนาฬิกาที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคสมัยของเขาและเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่ Audemars Piguet Renaud et Papi (APR & P) แผนกการผลิตนาฬิการะดับสูง

Giulio Papi

Giulio Papi

แต่ด้วยความคิดเห็นด้านกลยุทธ์ทางการค้าที่ไม่ลงตัวกับบริษัท Mauboussin สุดท้ายแล้ว เขาจึงตัดสินใจลาออกและตัดสินใจเปิดแบรนด์นาฬิกาของตัวเอง ในปี ค.ศ. 1999 ร่วมกับเพื่อนเก่าแก่นามว่า Dominique Guenat เจ้าของ Montres Valgine (Guenat SA – Montres Valgine) ซึ่งเขาทั้งคู่ได้พบและทำความรู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ในขณะที่มิลล์ยังทำงานกับ Mauboussin

ความสัมพันธ์แบบมืออาชีพระหว่างชายทั้งสองคน ในไม่ช้าก็ก่อตัวกลายเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักในรถยนต์ ความสนใจในเรื่องของวิชาการทางด้านเครื่องบินและช่างเครื่อง พวกเขาก็ตัดสินใจร่วมมือเป็นพันธมิตรกันเพื่อยกระดับและเปิดตัวแผนสำหรับแบรนด์นาฬิกาใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจาก Lucien Tissot ทนายความที่เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา

Richard Mille และ Dominique Guenat

Richard Mille และ Dominique Guenat

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1999 มิลล์และ Dominique Guenat ได้วางแผนการตลาดสำหรับแบรนด์นาฬิกาของเขาเอง โดยร่วมมือกับ Guenat S.A. Montres Valgine และ APR&P (Audemars Piguet, Renaud et Papi) กำหนดแนวคิดของแบรนด์ โดยผสมผสานโลกของรถยนต์ วิชาการบิน และการเดินเรือเข้ากับแง่มุมไฮเทคของนวัตกรรม ด้วยวัสดุที่ทนทาน และความแม่นยำของกลไก จากนั้นพวกเขาจึงเริ่มการออกแบบนาฬิกา และทำการทดสอบอย่างเข้มงวด

มิลล์และ Guenat ได้ร่วมกันก่อตั้ง Horométrie SA ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์นาฬิกา Richard Mille ในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน โดยจดทะเบียนการค้าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2001 ในทะเบียนการค้าของสวิส (การขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ) หลังจากนั้นแบรนด์ Richard Mille จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยความร่วมมือกับผู้ผลิตนาฬิกาสัญชาติสวิส Audemars Piguet ซึ่งกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นของ Richard Mille ในปี ค.ศ. 2007

 

 RM 001 Tourbillon

RM 001 Tourbillon

RM 001 Tourbillon

3 ปีหลังจากการวิจัยอย่างหนัก และต้นแบบต่าง ๆ แบรนด์ Richard Mille ได้นำเสนอนาฬิกาเรือนแรก “RM 001 Tourbillon” โดยเปิดตัวเป็นครั้งแรก ที่งาน Baselworld ในปี ค.ศ. 2001 งานแสดงนาฬิกาและเครื่องประดับระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง Basel ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ วงการสื่อกล่าวว่า RM001 ถือเป็นการปฏิวัติวงการนาฬิกาเลยทีเดียว รวมทั้งขนานนามนาฬิการุ่นนี้ว่า รุ่งอรุณแห่งยุคใหม่ของการผลิตนาฬิกา หรือ “dawn of a new era in watchmaking”

RM 001 Tourbillon มาพร้อมกับกลไกการไขลานด้วยมือ ได้รับการติดตั้งด้วยกล่องรูปทรงตันที่เผยให้เห็นกลไก อันถือเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดสายตาผู้ชมเป็นอย่างดี รวมถึงคาลิเบอร์ทูร์บิญง (tourbillon calibre) ไฟแสดงการสำรองพลังงาน และตัวบ่งชี้แรงบิด สายทำจากหนังและคริสตัลจากแก้วมิเนอรัล สามารถกันน้ำได้ลึกถึง 50 เมตร เป็นรุ่น Tourbillon ซึ่งเป็นหนึ่งในรุ่นที่มีชื่อเสียงที่สุด และมีการผลิตด้วยมือเพียง 17 เรือน

ถักจากนั้นในปีต่อมา ในปี ค.ศ. 2002 Richard Mille ก็ไม่รอช้า ได้ทำการเปิดตัวนาฬิการุ่น RM 002 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีจากรุ่นแรก และเป็นนาฬิกาเรือนแรกในประวัติศาสตร์ของการผลิตนาฬิกาที่มีแผ่นฐานไทเทเนียม ตามมาด้วยการเปิดตัวของนาฬิการุ่น RM 003 ซึ่งเปิดตัวในปีเดียวกัน มาพร้อมกับหน้าปัดซึ่งแสดงเวลา 2 โซน และรุ่น RM 004 flyback chronograph ซึ่งเปิดตัวในปี ค.ศ. 2003

RM 002 , RM 003 และ RM 004

RM 002 , RM 003 และ RM 004

ในปี ค.ศ. 2005 แบรนด์นาฬิกาได้ทำการเปิดตัว RM 007 และ RM 009 ซึ่งเป็นนาฬิกาสำหรับผู้หญิงรุ่นแรกในคอลเล็กชั่นจากแบรนด์ Richard Mille อันเกิดจากรูปแบบการทดลองใน ALUSIC ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้บ่อยในการสร้างดาวเทียมและสถานีอวกาศ และในไม่ช้า Richard Mille ก็สร้างชื่อให้กับตัวเองในกลุ่มนาฬิกาหรูหรา และก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ด้วยวัสดุและเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยได้เข้าร่วมกับ Fondation de la Haute Horlogerie ในปี ค.ศ. 2007

RM 007

RM 007

นอกจากนี้ มิลล์ ยังคงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ไม่หยุดยั้ง ด้วยการเอาชนะเรื่องน้ำหนักของนาฬิกากลไก tourbillon กับนาฬิการุ่น RM 27-01 ซึ่งมีน้ำหนักเบาเพียง 19 กรัม ซึ่งถูกออกแบบให้กับ ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสระดับโลก มาพร้อมกับความแม่นยำ เที่ยงตรงและทนทาน พร้อมบทพิสูจน์คุณภาพจากนักกีฬาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย โดยปัจจุบันแบรนด์ Richard Mille มิลล์ ได้ผลิตตัวเรือนที่ออกแบบมาสำหรับนักกีฬาหลากหลายประเภท เช่น เทนนิส กอล์ฟ นักกรีฑา นักกีฬาโปโล และนักแข่งรถ F1

ราฟาเอล นาดาล กับ RM 27-01

ราฟาเอล นาดาล กับ RM 27-01

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Richard Mille กลายเป็นแบรนด์นาฬิกาหรู ราคาสูงมาจากการผลิตนาฬิการุ่น RM 012 เมื่อปี ค.ศ. 2006 ซึ่งออกจำหน่ายเป็นรุ่น Limited Edition มีเพียง 30 เรือนทั่วโลกเท่านั้น ตัวเรือนผลิตจากวัสดุแพลตินัม และมีน้ำหนักเบา คว้ารางวัล Aiguille d’Or” Award ในงาน Grand Prix d’Horlogerie de Genève 2007 ซึ่งรางวัลดังกล่าวเทียบเท่ารางวัลออสการ์ สำหรับนาฬิกาหรูเลยทีเดียว

RM 012

RM 012

หลังจากนั้น เหล่าบรรดาเซเลบริตี้ Hollywood ไม่ว่าจะเป็น Sylvester Stallone ศิลปิน Pharrell Williams, Kanye West, Ed Sheeran และ Chris Brown และในวงการการเมืองรัสเซีย โฆษกประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย นักฟุตบอลชื่อดัง Naymar หรือ เฉินหลง รวมถึง มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) ต่างก็เลือกสวมใส่นาฬิกาจากแบรนด์ Richard Mille ผู้สื่อข่าว Declan Quinn จาก Revolution Online กล่าวว่า การสวมใส่นาฬิการิชาร์ด มิลล์ เปรียบเสมือนเครื่องสะท้อนความมั่งคั่งของคนรุ่นใหม่ ในศตวรรษที่ 21

ในด้านการตลาด แบรนด์ Richard Mille ได้ใช้เครือข่ายศิลปินดารา รวมทั้งผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก เป็นตัวช่วยส่งกระแสให้แบรนด์โด่งดังขึ้นไปอีก โดยใช้ประโยชน์จากการแข่งขันกีฬาและนักกีฬาประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้การสนับสนุน เฟอร์นันโด อลอนโซ่ นักขับรถแข่ง F1 นักสโนว์บอร์ดและนักเล่นสกีอัลไพน์ Ester Ledecká อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการในการแข่งขันเรือใบ Perini Navi Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันเรือใบอิตาลี

Richard Mille มักจะเลือกเอานักกีฬามาเป็นตัวแทนเพื่อสื่อถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Bubba Watson, Yohan Blake และ Wayde van Niekerk นอกจากนี้ยังเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม Lotus และ McLaren อยู่ช่วงหนึ่ง และยังสนับสนุนบรรดานักแข่งอย่าง Romain Grosjean, Felipe Massa รวมถึง Sebastien Loeb ที่เป็นแชมป์แรลลี่ รวมถึงประธานของ FIA ที่เป็นสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ อย่าง Jean Todt

 

Technologies

นอกจากความหลงไหลในเรื่องการผลิตนาฬิกาที่มีความแตกต่าง มิลล์ยังหลงไหลในเรื่องรถยนต์สมรรถนะสูง ด้านกลไก รวมถึงเรื่องอากาศยาน แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ของ Richard Mille มาจากรถแข่งและการศึกษาความทนทานต่อแรงกระแทก ซึ่งการใช้งานจริงทำให้สามารถเห็นจุดด้อยจุดแข็งและสามารถนำมาปรับปรุงเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับวัสดุที่ใช้ในการผลิตนาฬิกา เพื่อลดแรงเสียดทาน และทำให้นาฬิกาทนต่อแรงกระแทกได้สูงมาก

ในกระบวนการการประกอบชิ้นส่วนของนาฬิกาแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันนั้น เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและปราณีตอย่างมาก ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะใช้มือทั้งสิ้น และแม้กระบวนการจะเสร็จสิ้นไปกว่า 99% แล้วก็ตาม แต่หากพบว่ามีชิ้นส่วนใด หรือมีข้อผิดพลาดแม้เพียงจุดเล็กจุดน้อยก็ตาม ก็จะรื้อแผงนาฬิกาออกมาทั้งหมด และเริ่มทำการประกอบใหม่ตั้งแต่เริ่มทันที โดยการประกอบนาฬิกาแต่ละเรือน จะใช้เวลา 40 วันติดต่อกัน ในส่วนของการสร้างรูปทรงของชิ้นงาน จะใช้เวลาอีก 400 ชั่วโมงสำหรับการประกอบกลไก

วัสดุที่ใช้ประกอบตัวเรือน ใช้วัสดุหลัก 3 ชนิดคือ ทองคำขาว โรสโกลด์และไทเทเนียม โดยมี 3 ชั้นประกอบกัน หน้า หลัง และตรงกลาง แต่ละส่วนพื้นผิวความโค้ง และที่สำคัญพื้นผิวที่มีความโค้งทั้ง 3 ชิ้นนี้ต้องประกบกันอย่างลงตัวในระดับความเนียนที่ 100 ของมิลลิเมตร เพื่อป้องกันความชื้นและฝุ่นละออง

นอกจากนี้ยังมองเห็นโครงสร้างกลไกภายในได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการเคลือบโดยเทคนิค PVD (Physical Vapor Deposition) ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดงานวิศวกรรมพื้นผิว ขณะที่ชิ้นส่วนกลไกใช้ไทเทเนียมผสมกับวัสดุอื่น ที่คิดค้นด้วยทีมวิศวกรของริชาร์ด มิลล์ เอง อย่างเช่น รุ่น RM018 Boucheron ที่ wheel สร้างจากพลอยกึ่งมีค่า ซึ่งผ่านวิธีการหลอมแบบใหม่ เป็นนวัตกรรมที่ใช้เวลาคิดค้น

RM018 Boucheron

RM018 Boucheron

แนวคิดและวัสดุที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Formula 1 ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อยอดมา สำหรับผลิตนาฬิกา Richard Mille เรือนแรก (RM 001) ซึ่งเปิดตัวชูโรงเป็นรุ่นแรกของแบรนด์ หลังจากนั้น มิลล์ตัดสินใจประดิษฐ์นาฬิกาที่เบาและแม่นยำอย่างยิ่งจากวัสดุไฮเทคที่ดีที่สุดที่ใช้ในวิชาการบิน และรถแข่ง Formula 1 ไม่ว่าจะเป็น ไททาเนียมเกรด 5, LITAL, Carbon TPT และกราฟีน (graphene)

ดังนั้น ARCAP ซึ่งเป็นวัสดุที่มีชื่อเสียงในด้านคุณสมบัติทางกายภาพ รวมถึงความทนทานต่อการกัดกร่อนและสนามแม่เหล็กจึงถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาใน RM 002 Richard Mille ยังร่วมมือกับ North Thin Ply Technology ผู้นำระดับโลกในการผลิตวัสดุเคลือบน้ำหนักเบาที่ใช้ในการแล่นเรือและ Formula 1 เพื่อผลิต RM 27-02 Rafael Nadal ใน Carbon NTPT และ Quartz TPT เช่นกัน เช่นเดียวกับ RM 11-03 McLaren Richard Mille Tourbillon สามารถบรรจุส่วนประกอบได้มากถึง 1,000 ชิ้น กับตัวเคส ที่มีความหนาเพียง 45 มิลลิเมตร

RM 11-03 McLaren Richard Mille Tourbillon

RM 11-03 McLaren Richard Mille Tourbillon

Richard Mille ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15% ต่อปี นับตั้งแต่เปิดตัวแบรนด์ โดยมียอดขายระหว่างปี ค.ศ. 2001 ถึง ปี ค.ศ. 2017 ทั้งสิ้น 32,000 เรือน สำหรับผู้เล่นนาฬิกาหรูหน้าใหม่ สามารถจับจองเป็นเจ้าของนาฬิการิชาร์ด มิลล์ ได้ เริ่มต้นที่ $85,000 หรือราว 2,805,000 บาท ส่วนรุ่น Limited Edition นั้นอาจทำราคาได้สูงถึง $2,200,000 หรือราว 72 ล้าน 6 แสนบาท

สำนักข่าว CNBC รายงานเมื่อเดือนกันยายน 2017 ว่า บริษัทริชาร์ด มิลล์ มียอดขาย 700 ล้านดอลลาร์ เติบโตราว 20% ต่อปี ก่อนหน้านี้ในปี 2014 นาฬิการิชาร์ด มิลล์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “the secret billionaire’s handshake” เพราะเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันดีในแวดวงเศรษฐีระดับพันล้านที่มีความสามารถซื้อได้ ปัจจุบันRichard Mille เป็นหนึ่งในนาฬิการะดับโลกรายแรก ที่ได้รับการยอมรับในด้านวัสดุที่ใช้ในการผลิตและกลไก และยังเป็นนาฬิการะดับโลกรายแรก ที่จับนักกีฬาชื่อดังมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ และสวมใส่ริชาร์ด มิลล์ ขณะแข่งขัน

KATE