วิธีการดูแลรักษานาฬิกา – หากคุณมีนาฬิกาเรือนโปรดที่ใส่ติดข้อมือทุกวัน ก็ควรที่จะทำความสะอาดหลังจากใช้งาน เพื่อ “สุขอนามัย” ที่ดี นอกจากการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ ปฏิบัติตามมาตรการระยะห่างทางสังคม การดูแลรักษาความสะอาดเครื่องประดับก็สำคัญ เช่น นาฬิกา แหวน หรือ สร้อย ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค เพราะอย่าลืมว่าของต่างbๆ เหล่านี้ล้วนก็ต้องเผชิญกับสิ่งสกปรกในชีวิตประจำวันเช่นกัน ซึ่งวันนี้เรานำวิธีการดูแลรักษานาฬิกา อย่างถูกต้อง มาฝากกันค่ะ
1. นาฬิกาที่เป็นสายเหล็ก หรือ สายโลหะ white gold, yellow gold หรือ pink gold การทำความสะอาดนาฬิกา สำหรับสายที่สามารถถอดสายแยกจากตัวเรือนได้ ควรถอดสายระหว่างการทำความสะอาด โดยใช้แปรงขนนุ่มพิเศษที่มีขนาดหัวเล็ก ขัดตามแนวทิศทางของเครื่องประดับ เพื่อกำจัดฝุ่นและคราบโลชั่นใช้น้ำอุ่นผสมกับน้ำยาล้างจานล้างในรอบแรก จากนั้นตามด้วยน้ำอุณหภูมิปกติอีกครั้ง ส่วนตัวเรือนให้ใช้ผ้าชามัวร์แห้งเช็ดรอบตัวเรือน หากมีคราบให้ถูคราบออกอย่างเบามือที่สุด
2. นาฬิกาที่เป็นสายหนัง ควรระวังไม่ให้ถูกน้ำโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดความอับชื้น ขึ้นรา และกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งหากถูกน้ำเป็นประจำอาจเกิดการชำรุดส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลง การทำความสะอาดนาฬิกาที่เป็นสายหนังสามารถทำได้โดยการใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาด เช็ดเบา ๆ ให้ทั่วเพื่อให้คราบโลชั่นหรือเหงื่อไคลถูกขจัดออกจากตัวนาฬิกาจนหมด ควรจัดเก็บในกล่องใส่นาฬิกาเพื่อป้องกันรอยขีดข่วน
ควรหลีกเลี่ยงการเก็บนาฬิกาในห้องที่มีอุณหภูมิร้อน เพราะจะทำให้นาฬิกาและสายหนังเสื่อมสภาพได้ หากมีนาฬิกาสายหนังที่ไม่ได้ใส่เป็นประจำ ควรนำออกจากกล่องมาโดนอากาศสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และนวดสายหนังอย่างเบามือ เพื่อช่วยยืดอายุสายหนังและป้องกันการเสื่อมสภาพของหนัง
3. ควรหลีกเลี่ยง สเปรย์ น้ำหอม แอลกอฮอลล์ เพราะจะทำให้สายมีสีคล้ำขึ้น หรือสีทองที่เคลือบไว้หลุดลอก ซีดจางได้ ควรถอดนาฬิกาและเครื่องประดับต่าง ๆ อย่างเช่น เลสข้อมือและแหวน ก่อนล้างมือ อาบน้ำ หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพราะอาจมีคราบสบู่ต่าง ๆ ติดกับตัวเรือนและฝังในซอกมุมของเครื่องประดับ และควรสวมใส่เครื่องประดับหลังจากทาครีมและฉีดน้ำหอมเรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งควรเก็บเครื่องประดับไว้ในกล่องแยกแต่ละชิ้น ไม่ควรเก็บไว้รวมกัน เพราะเครื่องประดับอาจกระทบกันและทำให้จิลเวอรี่เสียหายหรือเป็นรอยได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับขณะว่ายน้ำไม่ว่าจะน้ำในสระหรือน้ำทะเล เนื่องจากสระว่ายน้ำมีคลอรีนสูงและน้ำทะเลมีสารโซเดียมสูง สารเคมีเหล่านั้นจะทำให้ตัวเรือนของเครื่องประดับทำปฏิกริยาเกิดเป็นคราบสีดำ อีกทั้งทองอาจจะหลุดจากตัวเรือนด้วย
4. การตรวจเช็คและบำรุงรักษา มีความจำเป็นสำหรับนาฬิกาเป็นอย่างมาก โดยที่นาฬิการะบบเปลี่ยนถ่าน (Quartz) ได้ถูกออกแบบให้มีระบบแจ้งเตือนก่อนที่แบตเตอรี่ใกล้จะหมด โดยสังเกตได้จากการเดินของเข็มวินาที ซึ่งจะเดินครั้งละ 2-5 วินาที นั้นคือการเตือนว่า แบตเตอรี่ใกล้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม นาฬิกาที่ใช้แบตเตอรี่ ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทุก 2-3 ปี
สำหรับนาฬิการะบบอัตโนมัติ เนื่องจากนาฬิกาประเภทนี้มีกลไกที่ซับซ้อนและมีความสึกหรอหากน้ำมันที่ใช้หล่อลื่นเสื่อมสภาพ หรือแห้ง จึงจำเป็นต้องนำไปทำความสะอาด ทำการล้างเครื่องและหยอดน้ำมัน เพื่อให้นาฬิกามีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ทั้งนี้ควรนำนาฬิกาไปตรวจเช็คและบำรุงรักษา ทุก 3-5 ปี หากพบว่านาฬิกามีฝ้าขึ้นที่หน้าปัดให้รีบส่งนาฬิกาเข้าศูนย์บริการหรือร้านซ่อมนาฬิกาเพื่อทำการตรวจเช็คโดยเร็วที่สุด
5. หากนาฬิกาถ่านหมด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะในก้อนถ่านมีน้ำกรดที่สามารถกัดกร่อนชิ้นส่วนภายในให้เสียหายได้ ถ่านนาฬิกาทั่วไปมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี แต่ถ่านสำหรับนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นจับเวลา หรือ สามารถกดปุ่มไฟได้ อาจอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ
อย่างไรก็ดีควรเปลี่ยนถ่านนาฬิกาตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะถ้าทิ้งไว้นานเกินไป สารจากถ่านจะรั่ว และกัดกร่อน จนทำให้เฟืองนาฬิกาเสียได้ ควรส่งเข้าศูนย์บริการหรือร้านซ่อมนาฬิกาเพื่อเปลี่ยนถ่านนาฬิกาโดยเร็วที่สุด สำหรับนาฬิการุ่นที่สามารถกันน้ำได้นั้น ยางกันน้ำทุกประเภทจะมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี จึงควรนำ นาฬิกามาตรวจเช็คและเปลี่ยนยางใหม่ทุก ๆ 2 ปี
6. ควรหลีกเลี่ยงการวางนาฬิกาไว้ใกล้แหล่งกำเนิดของสนามแม่เหล็ก เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า, โทรศัพท์, ลำโพง, หรือตู้เย็น รวมถึงอุปกรณ์ Electronics อื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกา ซึ่งจะส่งผลให้แสดงเวลาคลาดเคลื่อนได้ โดยคลื่นดังกล่าวจะมีผลกระทบกับนาฬิการะบบเปลี่ยนถ่าน (Quartz) ที่มีเข็ม แต่จะไม่มีผลกระทบกับนาฬิกาที่เป็นระบบ Digital (ตัวเลข)
สำหรับผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หลังการใช้งาน ควรถอดนาฬิกาผึ่งไว้ด้านนอกก่อนจัดเก็บเข้ากล่อง ในกรณีที่ไม่มีกล่องเก็บนาฬิกา ตำแหน่งที่เก็บนาฬิกาได้ดีที่สุดคือหันหัวนาฬิกาขึ้น ห้ามคว่ำและอย่าวางตำแหน่งเม็ดมะยมไว้ด้านล่างสุด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยรักษากลไกของนาฬิกาให้เสถียรได้
7. นาฬิกากลไกอัตโนมัติ ก่อนการสวมใส่ควรไขลานนาฬิกาเพื่อเป็นการช่วยทำให้ลูกเหวี่ยงภายในทำงาน เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการขึ้นลานของนาฬิกา อาจเป็นสาเหตุให้นาฬิกาหยุดเดิน หรือ นาฬิกาอาจมีการกระแทกหรือกระเทือน ทำให้อะไหล่ภายในหลุดหรือคลายตัว ส่งผลให้กลไลต่างๆ ไม่ทำงาน
โดยปรกตินาฬิกากลไกอัตโนมัติ ตามมาตรฐานของผู้ผลิตจะแนะนำให้ล้างเครื่องทุกๆ 3-5 ปี เพื่อตรวจเช็คสภาพ ถอดชิ้นส่วนนำออกมาทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องใหม่ หยอดน้ำมันหลายชนิดตามจุดต่าง ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นการรักษาและยืดอายุการใช้งานของเครื่องอีกด้วย
ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เราทุกคนล้วนห่วงสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่บางคนอาจหลงลืมและไม่ได้ใส่ใจมากนัก คือการดูแลรักษาความสะอาดเครื่องประดับที่เราใส่อยู่เป็นประจำ แนะนำให้หยิบนาฬิกาเรือนโปรดของคุณออกมาทำความสะอาดเดือนละ1-2ครั้ง จะช่วยป้องกันการสะสมของฝุ่น คราบและเชื้อโรค เพื่อสุขอนามัยที่ดี และยืดอายุการใช้งานและรักษานาฬิกาให้ยังคงสภาพดีสมบูรณ์ ให้สวมใส่ได้นานๆ นะคะ