ประวัติ Bentley หรือ เบนท์ลีย์ เป็นชื่อของบริษัทผลิตรถยนต์นั่งสุดหรูระดับอัครฐาน สัญชาติอังกฤษ ที่เผยความเป็นผู้ดีและสง่างามไว้ทุกระเบียดนิ้ว จากวันแรกที่ วอลเตอร์ โอเวน เบนท์ลีย์ (W.O. : Walter Owen Bentley) ทำการก่อตั้งแบรนด์ ในปี ค.ศ. 1919 จนถึงปัจจุบัน กว่า 1 ศตวรรษ ที่เบนท์ลีย์ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์ ด้วยวัสดุการผลิตชั้นเลิศ ผสมผสานนวัตกรรมรวมถึงการพัฒนาด้านสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง ก่อกำเนิดแบรนด์ยานยนต์หรูที่ได้รับการบันทึกว่าหรูหราและยั่งยืนที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก
THE EXTRAORDINARY LIFE OF W.O. BENTLEY
W.O. Bentley หรือชื่อเต็ม วอลเตอร์ โอเวน เบนท์ลี (WALTER OWIN BENTLEY) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Bentley (เบนท์ลีย์) เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี ค.ศ. 1888 เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 9 คน ในช่วงวัยเด็ก เขาให้ความสนใจกับเรื่องของยานยนต์เป็นอย่างพิเศษ เริ่มฉายแววครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 9 ขวบ เขาได้ซื้อจักรยานมือ 2 มาและทำการถอดชิ้นส่วนเพื่อศึกษาถึงการทำงานของมัน
เนื่องจากครอบครัวของเขาค่อนข้างมีฐานะ วอลเตอร์ ได้รับการศึกษาแบบส่วนตัวที่ Clifton College ในเมือง Bristol ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 ถึงปี ค.ศ. 1905 ความหลงไหลในด้านเครื่องกลของเขาเริ่มเผยชัดเจนมากขึ้น จนกระทั่งเขาอายุได้ 16 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน และเริ่มเข้าฝึกงานในตำแหน่งวิศวกรฝึกหัดกับ Great Northern Railway บริษัทรถไฟขนาดใหญ่ของอังกฤษ
งานของวอลเตอร์ คือการทำงานบนแท่นวางของรถจักรไอน้ำ โดยทำการโยนถ่านหินลงในเตาเพื่อให้แรงดันไอน้ำสูงขึ้น เขาทำงานในบริษัทรถไฟแห่งนั้นเป็นเวลา 5 ปี ในขณะที่ทำงานให้กับการรถไฟ วอลเตอร์ได้ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ Quadrant ให้ตัวเองและร่วมกับพี่ชายสองคนของเขา ได้ทุ่มเทให้กับการแข่งรถฝึกซ้อมบนท้องถนน โดยใช้ช่วงเวลาฝึกซ้อมในช่วงเช้าตรู่ ในขณะที่ตำรวจยังไม่ทำการวางเครื่องดักจับความเร็ว
ในปี ค.ศ. 1907 วอลเตอร์ ได้เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานยนต์วิบาก London-Edinburgh trial ถึงแม้ระหว่างการแข่งขันจะเกิดอุปสรรคมากมาย แต่เข้าก็สามารถแก้ไขได้ทันเวลาและเข้าเส้นชัยได้รับเหรียญทองไปในการแข่งขันครั้งนั้น หลังจากนั้น เขายังได้เข้าร่วมการแข่งขันอีกหลายรายการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น London-Plymouth และ London-Land’s End ในปี ค.ศ. 1908 นั่นยิ่งทำให้ความหลงไหลในการแข่งรถเพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงทักษะในการปรับแต่งเครื่องยนต์ จนประสบความสำเร็จและได้เข้าร่วมกับทีม Rex อย่างเป็นทางการ
ทักษะด้านวิศวกรรมของวอลเตอร์ กลายเป็นหัวใจสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อเขาทำธุรกิจกับพี่ชายคนหนึ่งของเขา ในปี ค.ศ. 1912 โดยนำเข้ารถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสที่ผลิตโดย Doriot, Flandrin & Parant ในปีถัดมา ในขณะที่ทำการเยี่ยมชมสำนักงานของรถยนต์แบรนด์ดังกล่าว วอลเตอร์ได้ค้นพบที่ทับกระดาษที่ทำจากอลูมิเนียม และเกิดความสงสัยว่าวัสดุน้ำหนักเบานี้จะสร้างลูกสูบได้ดีกว่าเหล็กหรือเหล็กหล่อหรือไม่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและหยุดไม่ให้หลอมละลายที่อุณหภูมิสูง
ในที่สุด เขาได้ทดลองสร้างโลหะผสมใหม่ที่โรงหล่อ ด้วยส่วนผสม อลูมิเนียม 88% และทองแดง 12% เพิ่มลูกสูบใหม่ให้กับรถยนต์ ทำให้เขาได้รับชัยชนะการแข่งขันรถยนต์ที่ Brooklands และสามารถสร้างสถิติใหม่อยู่ที่ 89.7 ไมล์ต่อชั่วโมง การค้นพบของเขาในครั้งนี้ คือการพิสูจน์ถึงความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของเขาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 วอลเตอร์ตัดสินใจที่จะพับโครงการที่จะก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์เอาไว้ก่อน และเริ่มใช้ความรู้และความสามารถที่เขามี ช่วยเหลือประเทศชาติ ในฐานะกัปตันของ Royal Naval Air Service เขาใช้ลูกสูบอลูมิเนียมเพื่อสร้างเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินรบ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นก่อน ๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความร้อนสูงเกินไป ก่อกำเนิดเครื่องยนต์เบนท์ลีย์โรตารีเครื่องแรก BR.1 ทำให้ Sopwith Camel เป็นเครื่องบินรบของอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสงคราม
เครื่องยนต์ต้นแบบ BR.1 เริ่มทำงานในช่วงต้นฤดูร้อนปี 1916 จนกระทั่งในช่วงต้นปี ค.ศ. 1918 เครื่องยนต์เบนท์ลีย์โรตารี BR.2 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นลำดับต่อมา
THE BIRTH OF BENTLEY MOTORS
หลังสงคราม วอลเตอร์ได้รับรางวัล MBE (Most Excellent Order of the British Empire) ซึ่งเป็นผลจากที่เขาได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วงเหลือประเทศในช่วงสงคราม รวมถึงมีชื่อบันทึกอยู่บนเกียรติยศปีใหม่ ในปี ค.ศ. 1919 อีกทั้งยังได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวน 8,000 ปอนด์จาก Commission of Awards to Inventors ซึ่งทำให้เขามีเงินทุนที่จำเป็นเพื่อเติมเต็มความฝันและก่อตั้ง บริษัท รถยนต์ของตัวเอง
หลังจากนั้น ในวันที่ 10 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1919 Bentley Motors จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีนโยบายว่า “We were going to make a fast car, a good car, the best in its class.” (เราจะสร้างรถเร็วรถที่ดีที่สุดในระดับเดียวกัน) ซึ่งนั่น เป็นเป้าหมายที่วอลเตอร์ยึดไว้เป็นแนวทางและสามารถทำการบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า
ในขณะที่วอลเตอร์ ทำการพัฒนารถยนต์คันแรกของแบรนด์ นิตยสาร Autocar นิตยสารรถยนต์รายสัปดาห์ของประเทศอังกฤษ รายงานถึงการออกแบบรถยนต์ของเขาในครั้งนี้ว่า เป็นรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเอาใจสาวกสายรถแข่งอย่างแท้จริง ซึ่งยังคงฝังอยู่ในทุกอณู DNA ของรถยนต์ Bentley ทุกคันมาจนถึงปัจจุบัน
วอลเตอร์พัฒนาพัฒนารถสปอร์ตสมรรถภาพสูงคันแรกของเขา ร่วมกับ Harry Varley และ Frank Barges โดยให้ความสำคัญที่มุ่งเน้นไปที่ข้อมูลทางเทคนิค โดยเฉพาะกำลังเครื่องยนต์ เนื่องจากแนวคิดหลักคือการสร้างสรรค์รถสปอร์ต ที่ไม่เน้นรูปลักษณ์ภายนอก ก่อกำเนิดรถยนต์รุ่น Bentley L3 (3 Litre) เครื่องยนต์ 4 สูบ 3 ลิตร รถสปอร์ตคันแรก ซึ่งเปิดตัวในงาน London Motor Show ปี ค.ศ. 1919 ซึ่งในยุคนั้น ถือว่าเป็นรถยนต์คุณภาพ ไม่เน้นยอดขาย ราคาค่อนข้างสูง แต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
Bentley 3 Litre
รถยนต์รุ่น 3 Litre เป็นรถยนต์สปอร์ตคันแรก ที่ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัท Bentley ได้รับการพัฒนาและเปิดตัวในงาน 1919 London Motor Show ช่วงเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน มีการเปิดรับจองและคาดว่าจะส่งมอบรถคันแรก ได้ภายในเดือนมิถุนายนปี 1920 แต่แล้วกว่ารถจริงจะพร้อมส่งมอบก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือนกันยายน ปี 1921 เนื่องจากความผิดพลาดในการประเมินเวลาการผลิต รวมถึงเครื่องยนต์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี โดยดำเนินการผลิตไปจนถึง ปี ค.ศ. 1929
Bentley 3 Litre มีขนาดตัวถังใหญ่กว่ารถยนต์ Bugatti 1368 ซีซี ที่ครองตำแหน่งแชมป์รถแข่งในขณะนั้นมาก แต่ด้วยขนาดของเครื่องยนต์รวมถึงความแรงที่มากกว่าถึง 2 เท่า ชดเชยน้ำหนักที่มากของรถได้ พิสูจน์ได้จากการที่รถยนต์ที่มีน้ำหนัก 4000 ปอนด์ หรือ 1800 กก. นี้ ชนะการแข่งขันในรายการ 24 Hours of Le Mans การแข่งขันรถยนต์สุดทรหด ใน ปี ค.ศ. 1924 ร่วมกับนักแข่ง John Duff และ Frank Clement
รายละเอียดเครื่องยนต์ เป็นแบบ 4 สูบ ขนาด 3.0 ลิตร (2,996 ซีซี หรือ 183 ลูกบาศก์นิ้ว) ได้รับการออกแบบโดย Clive Gallop อดีตวิศวกรของ Royal Flying Corps และมีความก้าวหน้าทางเทคนิคมากในช่วงเวลานั้น มันเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ของรถโปรดักชั่นคันแรกที่มี 4 วาล์วต่อสูบหล่อลื่นบ่อแห้งและเพลาลูกเบี้ยวเดี่ยวเหนือสูบ การออกแบบ SOHC Hemi ทั้งสี่วาล์วพร้อมด้วยเพลาขับแบบเอียง สำหรับเพลาลูกเบี้ยวนั้นมีพื้นฐานมาจากเครื่องยนต์รถแข่ง Mercedes Daimler M93654 ในช่วงก่อนสงครามในปี 1914
กำลังขับเคลื่อน (สำหรับเครื่องยนต์ที่ไม่ได้ปรับแต่ง) อยู่ที่ประมาณ 70 แรงม้า ทำความเร็วได้ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง (129 กม. / ชม.) 90 ไมล์ต่อชั่วโมง (145 กม. / ชม.) ในรุ่น Speed Model และ 100 ไมล์ต่อชั่วโมง (161 กม. / ชม.) ในรุ่น Super Sports ติดตั้งเกียร์กระปุก 4 สปีด โครงสร้างของตัวรถ ได้รับการออกแบบโดย Frederick Tasker Burgess อดีตนักออกแบบของ Humber ซึ่งเคยร่วมงานกับวอลเตอร์ในช่วงสงครามโลก ในการผลิตเครื่องยนต์เบนท์ลีย์โรตารี BR.1 และ BR.2
สำหรับรถยนต์รุ่นนี้ ถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด 3 รุ่นหลักด้วยกัน ได้แก่ Blue label, Red Label Speed ทุกรุ่นได้รับการรับประกัน 5 ปี และในรุ่น Green Label ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับการแต่งเครื่องแบบพิเศษ ซึ่งเป็นที่ต้องการและหายาก จะได้รับการรับประกัน 12 เดือน ในช่วงแรกมีเพียงล้อหลังเท่านั้นที่มีระบบเบรค (rear wheels) จนกระทั่งปี ค.ศ. 1924 จึงมีการนำระบบเบรค 4 ล้อ (four-wheel brakes)เข้ามาใช้
Bentley 3 Litre ที่เก่าแก่ที่สุดและยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ตัวถังหมายเลข 3 ซึ่งถูกส่งมอบให้กับเจ้าของเดิมเมื่อ ปี ค.ศ. 1921 โดยในส่วนของตัวถังรถ ถูกประกอบโดย UK coachbuilder R. Harrison & Son เครื่องยนต์หมายเลข 4 จดทะเบียนอังกฤษหมายเลข AX 3827 ในปี ค.ศ. 2011 ถูกขายทอดตลาดโดยการประมูลในราคา $962,500 รวมเบี้ยประกันภัยของผู้ซื้อ อีกคันหนึ่งถูกผลิตในปี 1924 ถูกจัดแสดงอยู่ที่ Shepparton Motor Museum ใน Shepparton รัฐวิกตอเรียประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019
ในเริ่มแรก วอลเตอร์ไม่เห็นด้วยกับการนำรถเข้าร่วมรายการแข่งขันอันสุดแสนทรหดอย่าง Le Mans ด้วยเหตุผลที่ว่า รถยนต์ของเขา ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทนต่อการแข่งขันอันยาวนานได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หลังจากได้เห็นความสำเร็จจาก Frank Clement และ John Duff ที่จบการแข่งขันลำดับที่ 4 โดยทำรอบได้เร็วที่สุด ในปี ค.ศ. 1923 ในไม่ช้า Bentley ก็คว้าชัยชนะในการการแข่งขันสุดโหดนี้4 ปีซ้อน (ปี ค.ศ. 1927-1930) และถูกขนานนามว่า “the fastest lorries in the world”
Bentley Motors Ltd.
ในช่วงปี ค.ศ. 1926 บริษัท เบนท์ลีย์มอเตอร์ส จำกัด ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ถูกซื้อกิจการต่อโดย Wolf Barnato นักแข่งรถและนักลงทุนชาวอังกฤษ โดยดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทนับตั้งแต่นั้น ในส่วนของวอลเตอร์ ยังคงทำงานออกแบบในตำแหน่งพนักงานใต้ความดูแลของ Barnato เขาได้ทำการออกแบบ six-cylinder Speed Six ซึ่งเป็นเวอร์ชันแข่งรถ เปิดตัวในปี ค.ศ. 1928 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นรถเบนท์ลีย์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดและชนะในการแข่งขัน Le Mans ในปี ค.ศ. 1929 และ ปี ค.ศ. 1930
ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1930 ได้มีการเปิดตัวรถยนต์ลักชัวรี่ขนาดใหญ่แบบ 6 สูบ หรือที่รู้จักในชื่อ Bentley 8 Litre ในงาน London Olympia Motor Show ซึ่งผลิตโดย Bentley Motors Limited ที่โรงงาน Cricklewood ในเมือง London ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม การขับเคลื่อนที่นุ่มนวล และมีราคาที่แพงที่สุดในยุคนั้น
แต่เนื่องด้วยพิษเศรษฐกิจ อันเป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (worldwide Great Depression) รถยนต์ Bentley 8 L ไม่สามารถทำยอดขายได้มากเท่าที่ตั้งเอาไว้ และนำพาไปสู่สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ Bentley Motors ล้มละลาย ทาง Bentley ได้พยายามอีกครั้งในการแก้ปัญหาทางการเงิน โดยการติดตั้งเครื่องยนต์ Ricardo 4 ลิตร ในโครงสร้างรถขนาด 8 ลิตรที่สั้นลงและออกวางจำหน่ายในชื่อ Bentley 4 Litre ซึ่งผลิตออกมาเพียง 50 คันเท่านั้น ก่อนที่ Bentley Motors Ltd. จะถูกยึดทรัพย์
ในเดือน พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1931 วอลเตอร์ถูกบีบบังคับให้ขายกิจการทั้งหมดให้กับ Rolls-Royce หลังจากนั้น จึงได้ยกเลิกการผลิต รวมทั้งทิ้งชิ้นส่วนอะไหล่ของ Bentley 8 L ทั้งหมดทิ้งไป เนื่องจากเป็นคู่แข่งของรถยนต์รุ่น Phantom II อีกทั้งยังทำการปิดและขายโรงงานที่ Cricklewood โดยหันมาใช้โรงงานของ โรลล์ส-รอยซ์ ในการผลิตรถยนต์แทน
Rolls-Royce Limited, Derby
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 เป็นต้นมา บริษัท เบนท์ลีย์มอเตอร์ส จำกัด ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในเครือโรลล์ส-รอยซ์ โดยได้ย้ายการผลิตรถยนต์จากโรงงานที่ Cricklewood มาใช้โรงงานของโรลล์ส-รอยซ์ ที่เมือง Crewe ในการผลิตรถยนต์แทน ซึ่งมีการผลิตรถยนต์ออกมาอย่างต่อเนื่องหลากหลายรุ่น รวมถึงรถสปอร์ตซาลูนอันสมบูรณ์แบบอย่าง Bentley Mark VI ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ซีดานที่เร็วที่สุด” ในขณะนั้น
อีกทั้งยังมีรถยนต์รุ่น Bentley Serie T รถเก๋งที่เร็วที่สุด ถูกผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1965 โดยทำความเร็วได้สูงสุดถึง 273 กิโลเมตร/ชั่วโทง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Bentley Corniche ในปี ค.ศ. 1971 และยังมี Bentley Continental GT ซึ่งถือว่าเป็นรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัตศาสตร์ของ Bentley โดยมีการส่งมอบให้ลูกค้ากว่า 70,000 คัน ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ สามารถทำความเร็วสูงสุด 325 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ผลประกอบการในช่วงแรก ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 80 โรลล์ส-รอยซ์ จัดการแยกทำการตลาดกับเบนท์ลีย์ อย่างชัดเจน โดยภาพลักษณ์ของโรลล์ส-รอยซ์ จะเป็นยานยนต์สำหรับเหล่ามหาเศรษฐีที่ไม่ต้องขับขี่เอง มุ่งเน้นเรื่องความอัครฐานเป็นหลัก ในส่วนของเบนท์ลีย์เป็นตัวแทนของเศรษฐีผู้หลงไหลในความแรง และประสงค์จะเป็นผู้ขับขี่รถเอง โดยมุ่งเน้นเรื่องความแรงเป็นหลัก
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1998 เบนท์ลีย์ ก็ถือคราเปลี่ยนมือเจ้าของอีกครั้ง โดยครั้งนี้ ตกไปอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทจากเยอรมันอย่าง “โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป” ซึ่งได้เข้าซื้อต่อกิจการทั้งหมดทั้งเครือโรลล์ส-รอยซ์และเบนท์ลีย์ ซึ่งต้องแข่งกับผู้ผลิตรถยนต์ร่วมชาติ “บีเอ็มดับเบิลยู” ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงการถือครองสิทธิ์การเป็นเจ้าของแบรนด์โรลล์ส-รอยซ์ เนื่องจากบริษัท โรลล์ส-รอยซ์ มหาชน เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องเป็น อันเป็นพาร์ตเนอร์กับบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งขณะนั้น บีเอ็มดับเบิลยู เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้ใช้กับรถทั้ง โรลล์ส-รอยซ์และเบนท์ลี่ย์
สุดท้ายการเจรจาระหว่างทั้งคู่ก็จบลงด้วยดี เมื่อบีเอ็มดับเบิลยู ยินดีจ่ายเงินให้กับ โฟล์คสวาเกน เพื่อชดเชยให้กับการได้สิทธิ์ใช้แบรนด์ โรลล์ส-รอยซ์ ทำตลาด ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ เบนท์ลี่ย์ , โรงงาน , เครื่องจักร และเทคโนโลยี ในการผลิตทั้งหมดเป็นของ โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
Bentley เป็นบริษัทผู้ผลิตรถหรูสัญชาติอังกฤษ ตลอดหลายปีแห่งการดำรงอยู่ได้สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ในด้านความมีชื่อเสียงและราคาแพงแบรนด์หนึ่งของโลก ถึงแม้ว่าปัจจุบัน บริษัทจะถูกถือครองโดย โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป แห่งเยอรมัน แต่สายเลือดอังกฤษอันเข้มข้น ที่ยังคงไหลเวียนอยู่ภายในรถยนต์ของ Bentley ทุกคัน ภายใต้ตราสัญลักษณ์รูปปีกพร้อมตัวอักษร B ตรงกลาง ยังคงจะยืนหยัดเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ อันตราตรึง ไปตราบนานเท่านาน
รัก
xoxo