To top
28 Jul

เปิด 4 กลโกงมิจฉาชีพ สร้างภูมิคุ้มกันก่อนซื้อขายแบรนด์เนม

เปิด 4 กลโกงมิจฉาชีพ ในยุคปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มากกว่าซื้อสินค้าผ่านทางหน้าร้าน ซึ่งสามารถเห็นและสำรวจตัวสินค้าได้ถี่ถ้วนกว่า จึงเป็นเรื่องง่ายที่เหล่ามิจฉาชีพจะเห็นช่องทางทำมาหากินด้วยกลโกงหลากหลายวิธี ในบทความนี้ KATEXOXO จะเปิดเผยวิธีรับมือกลโกงของมิจฉาชีพไซเบอร์เหล่านี้ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดจากความเสี่ยงในการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์ในยุคดิจิตัลนี้

 

พฤติกรรมการซื้อ-ขายออนไลน์ในสังคมปัจจุบัน

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมในการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นถึง 150% จากอดีต เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิวัฒนาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดกิจการหรือไม่สามารถเปิดบริการหน้าร้านได้ ด้วยเหตุนี้ การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

และนั่น เปิดทางให้บรรดาเหล่ามิจฉาชีพหัวใส แสวงหาช่องทางกลโกงต่าง ๆ เพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากการซื้อขายทางออนไลน์ ไม่สามารถตรวจสอบหรือตรวจเช็คสภาพของสินค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจเสมือนหนึ่งการเลือกซื้อสินค้าทางหน้าร้าน ดังนั้นภายใต้ความสะดวกสบายของการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ก็เป็นช่องโหว่และเป็นความเสี่ยงที่เหล่าผู้บริโภคต้องเผชิญ ในการซื้อขายแต่ละครั้ง

ปัจจุบัน การทำธุรกรรมออนไลน์ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยี ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใครก็ได้ สามารถที่จะกลายเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย ผ่านทาง Social Media ได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงธุรกิจซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็นการพรีออเดอร์สินค้าจากประเทศในแถบยุโรปโดยกล่าวอ้างว่าได้ราคาที่ถูกกว่าแถบเอเชีย หรือสินค้าหลุดมีตำหนิจากโรงงานผลิตจึงสามารถนำมาจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกกว่าในบูทีค

การซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม ผ่านธุรกิจ E-Commerce เหล่านี้ ปรากฏบนพื้นที่ Social Media มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Instagram หรือ Line@ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรง เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปด้วยดีและปลอดภัย นี่คือวิธีสังเกตกลโกงจาก KATEXOXO เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไซเบอร์ พร้อมกลเม็ดป้องกันตัวและวิธีแก้ปัญหา ในกรณีที่เกิดการพลาดพลั้งหลงกลมิจฉาชีพไปแล้ว

 

กลโกงที่ 1 : จ่ายซื้อสินค้าในราคาของแท้ แต่กลับได้ของปลอม

ตลาดซื้อขายแบรนด์เนมในปัจจุบัน ได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากสินค้าในบูทีคบางครั้ง อาจจะต้องรอ Waiting List ข้ามปี อีกทั้งในสินค้ารุ่นที่อยากได้ หรือรุ่น Limited Edition ก็ไม่สามารถหาได้ที่บูทีค แต่เราสามารถหาสินค้าหายากเหล่านั้นได้ไม่ยาก ในตลาดซื้อขายแบรนด์เนม

แต่ทว่า การซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็มีช่องโหว่ ตรงที่ไม่สามารถสัมผัสหรือตรวจสอบสินค้าได้ก่อนการซื้อขาย รวมถึงผู้ซื้อบางท่านอาจไม่มีความรู้เพียงพอในการตรวจสอบความเป็นของแท้หรือของปลอมในกระเป๋าแบรนด์เนม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายให้เหล่ามิจฉาชีพใช้จุดอ่อนดังกล่าว เป็นช่องโหว่ในการหากินบนความไม่รู้ โดยการนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือสินค้าปลอมแปลง มาจำหน่ายในราคาของแท้ (และแน่นอน ตั้งราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อเป็นการจูงใจ) ผู้ซื้อที่ไม่มีความรู้เพียงพอ จึงตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย

วิธีป้องกัน : ตรวจสอบข้อมูลของผู้ขายอย่างละเอียด ควรเลือกซื้อขายกับตัวแทนที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ศึกษาข้อมูลร้านค้าโดยละเอียด ชื่อนามสกุล ชื่อบัญชีและชื่อร้านค้า ก่อนทำการโอนเงินทุกครั้ง ขอดูรูปสินค้าทุกรูปทุกมุม เป็นไปได้ขอวิดิโอแบบ Real time เพื่อให้เห็นรายละเอียดของสินค้าในทุกมุม เรียกหาอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นใบรับประกัน หมายเลข Serial Number หรือ Datecode , Authenticity card , ถุงผ้า , ใบเสร็จหรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เพื่อการันตีความเป็นของแท้

ศึกษารายละเอียด ข้อมูลต่าง ๆ ของกระเป๋าของแท้ จุดสังเกตต่าง ๆ ที่สำคัญ เปรียบเทียบ ตรวจสอบ จุดต่อจุด เพื่อป้องกันการผิดพลาด สำหรับมือใหม่ เรามีวิธีการสังเกตกระเป๋าของแท้เบื้องต้น ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามบทความเหล่านี้

ข้อสำคัญ : ปัจจุบันสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ก็มาพร้อมกับอุปกรณ์เสริมครบถ้วนเทียบเท่าของแท้ ดังนั้นจะสังเกตจากอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสังเกตหลาย ๆ ส่วนประกอบร่วมด้วย หากไม่แน่ใจในตัวสินค้า ไม่ควรทำการซื้อขายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้มองหาร้านค้าอื่น ที่น่าเชื่อถือมากกว่า ถือคติ “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” ไว้ก่อน

กลโกงที่ 2 : พรีออเดอร์ แต่ไม่ได้รับสินค้า

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ ธุรกิจ Pre-Order สินค้า คือการเป็นตัวแทนสั่งสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก หรือยังไม่มีจำหน่ายในประเทศ นำเข้ามาเพื่อขายในราคาที่ถูกกว่าราคากลางของตลาด ทำให้ผู้บริโภคส่วนมาก นิยมใช้บริการธุรกิจดังกล่าว แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องผิดหวัง เนื่องจากก็มีมิจฉาชีพจำนวนไม่น้อย อาศัยช่องทางในการ Pre-order สินค้า เพื่อโกงผู้บริโภค

โดยปกติแล้ว การ Pre-order สินค้า ทางผู้ขายจะเรียกร้องเงินมัดจำจากทางผู้ซื้อ เพื่อเป็นการประกันการซื้อ-ขายเบื้องต้น เป็นจำนวนตามแต่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น 20-50% ของราคาสินค้าปกติ (บางร้านอาจเรียกถึง 100%) ทั้งนี้ อาจรวมหรือยังไม่รวมค่าขนส่ง อันแล้วแต่ระยะทางและบริษัทต้นทาง (หากมีการเสียภาษี ทางผู้ขายจะต้องทำการเสียภาษีด้วยตนเอง ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวอาจนำไปบวกในราคาสินค้าที่จะจำหน่าย หรือมีคำที่เราใช้เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “ค่าหิ้ว”)

วิธีดังกล่าวนี้เอง ที่ทางมิจฉาชีพ อาศัยเป็นช่องทางโกง ในหลายกรณีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยึดเงินมัดจำ แต่ไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าของการสั่งซื้อสินค้า และสุดท้ายแลัวก็อันตรธานหายไปในกลีบเมฆในที่สุด จากสถิติพบว่า ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม– เดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน

ข้อระวังพิเศษ : ปัจจุบันมีการกระทำที่แนบเนีบนมากกว่าเดิมนั่นก็คือ มิจฉาชีพมักจะเปิดพรีออเดอร์ในราคาถูกกว่าเจ้าอื่นๆ และให้ของแก่เจ้าของจริงๆ เพื่อให้เกิดการตายใจ(เป็นคดีความที่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว) จากนั้นเมื่อผู้ซื้อไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว ก็จะพรีฯ ในลักษณะจำนวนมากๆ เช่น Rolex 10 เรือนขึ้นเป็น , Chanel 10 ใบขึ้นไป เปิดช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้หอบเงินเราหนี ดังนั้น พฤติกรรมในลักษณะนี้จะต้องระวังเป็นพิเศษ

วิธีป้องกัน :  ควรตรวจสอบประวัติ รีวิว หรือข้อมูลของร้านค้าที่ทำการรับ Pre-order สินค้า ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบชื่อ นามสกุล หมายเลขบัญชีธนาคารของผู้ขาย เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่เคยขึ้นบัญชีดำ หรือมีประวัติการโกงใด ๆ บนพื้นที่โซเชียล ก่อนการซื้อขายทุกครั้ง ไม่ควรทำการโอนเงินเต็มจำนวน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

หากจำเป็นที่จะต้องโอนเงินมัดจำ โปรดทำสัญญาซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมกำหนดวันคร่าว ๆ ในการรับสินค้าที่ชัดเจน และโอนเงินเพียง 10-20% ของราคาสินค้านั้น ๆ เพื่อความสบายใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อเกิดการโกงสินค้าขึ้น นำหลักฐานทั้งหมด ไปแสดงต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

กลโกงที่ 3 : สินค้าที่ได้รับ มีตำหนิ ไม่ตรงปก

ในกรณีนี้ เหล่ามิจฉาชีพอาจสร้างบัญชีตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยมีการโพสรูปสินค้าแท้ สินค้าที่ดูดี มีคุณภาพ และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในขณะนั้น แต่ตั้งราคาไว้ถูกกว่าราคาตลาดอย่างมาก เพื่อเป็นการจูงใจ ทำให้เหยื่อที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงกล และเกิดการซื้อขายกับบัญชีปลอม ๆ ดังกล่าว กรณีนี้แตกต่างจากกรณี Pre-order ตรงที่จะได้รับสินค้า แต่สินค้าจะแตกต่างไปจากรูปที่ลงในเพจเพื่อการโฆษณาโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากผู้บริโภคที่เคยมีประสบการณ์เป็นต้นว่า สั่งสินค้าเป็นกระเป๋าถือ แต่สิ่งของที่ได้รับกลับเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือสั่งกล้องถ่ายรูป แต่สินค้าที่ได้รับกลับเป็นก้อนหิน 2-3 ก้อน หรือบางครั้งมิจฉาชีพมักจะโพสขายภาพของแท้ รีวิว วิดิโอของแท้ แต่เวลาจัดส่งสินค้ามานั้นดันเป็นสินค้าปลอม หรือบางกรณีอาจได้รับสินค้าตามที่ลงโฆษณาจริง แต่สภาพกลับไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ ผิดสี ผิดขนาด มีจุดตำหนิมากมาย

วิธีป้องกัน : หากสงสัยว่าจะได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปก ไม่ตรงตามที่โฆษณาเอาไว้ ให้ถ่ายวิดิโอรวมถึงหลักฐานต่าง ๆ ตั้งแต่ได้รับสินค้าและยังไม่ได้แกะกล่องพัสดุ เก็บสลิปและหลักฐานการโอนเงินทั้งหมด รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ขาย เพื่อนำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความและลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ รวมถึงอาจมีการโพสลงพื้นที่ Social Media เพื่อเป็นการเตือนผู้ซื้อรายอื่น ๆ ถึงผู้ขายหรือร้านค้านั้น ๆ เพื่อไม่ให้มีใครตกเป็นเหยื่อได้อีก

 

กลโกงที่ 4 : การสวมรอยบัญชีอีเมล หรือ Social Network

ในวิธีนี้ มิจฉาชีพจะส่งอีเมล Phishing แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการอีเมล เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน เพื่อนำมาสวมรอยเข้าใช้งานในบัญชีอีเมลของเจ้าของบัญชี หลังจากนั้นจะส่งอีเมลไปหาเพื่อนของเจ้าของบัญชีอีเมล เพื่อหลอกให้เพื่อนโอนเงินให้หรือถ้าเจ้าของบัญชี ใช้รหัสผ่านชุดเดียวกันใน Social Media ต่าง ๆ มิจฉาชีพอาจจะนำรหัสผ่านไป Login สวมรอยต่อใน Social Network ได้อีกด้วย

การดำเนินการคือ คนร้ายจะสุ่มแฮ็กบัญชีทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและไลน์ กลุ่มคนร้ายจะเลือกใช้บัญชีของผู้เสียหายที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก และเป็นบัญชีของบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ เคยโพสต์ขายกระเป๋าแบรนด์เนมมาก่อน โดยคนร้ายจะใช้บัญชีโซเชียลมีเดียที่แฮ็กมาใช้โพสต์หลอกขายกระเป๋าแบรนด์เนมให้ผู้เสียหายรายอื่น เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้กับคนร้าย คนร้ายจะบล็อกบัญชีผู้เสียหายทันที และไม่ส่งกระเป๋าแบรนด์เนมให้

อีกรูปแบบหนึ่งคือการเข้าไปแฝงตัวในร้านค้า LINE Open Chat สวมรอยเป็นแอดมินเจ้าของกลุ่ม ใช้ชื่อเหมือนกัน ใช้รูปโปรไฟล์เดียวกัน ทำให้มีผู้หลงเชื่อทักไปสอบถามรายละเอียดสินค้ากับแอดมินปลอมๆ ได้ ทำให้สูญเงินไปกับมิจฉาชีพรูปแบบนี้

วิธีป้องกัน : ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าและไม่ได้รับสินค้า เป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อขายสินค้าแนะนำให้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของราคา วิธีการสื่อสารของผู้ขาย เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขาย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จาก https://www.blacklistseller.com/ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่

ในกรณีที่คนร้ายใช้บัญชีของเพื่อนหรือคนรู้จักติดต่อมา แนะนำให้ทำการติดต่อกับบุคคลดังกล่าวโดยตรง เพื่อพูดคุยกันต่อหน้าและแจ้งให้เจ้าตัว หรือเจ้าของบัญชีรับรู้ว่ามีการแอบอ้างบัญชีผู้ใช้ ไปในทางโกงเพื่อซื้อขายสินค้า ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ในกรณีของ LINE Open Chat คุณสามารถเข้าไปดูสัญญาลักษณ์แอดมินเจ้าของกลุ่มได้ ผู้ที่มีสัญญาลักษณ์มงกุฎสีฟ้าจะเป็นเจ้าหน้าที่แอดมินตัวจริง

บทสรุปข้อสังเกตพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่เห็นชัด

  1. ราคาสินค้าจะถูกกว่าราคาท้องตลาดเป็นอย่างมาก จนน่าตกใจ นั่นเป็นเพราะเพื่อเป็นแรงจูงใจหลอกล่อ
  2. ล่อลวงให้โอนค่าสินค้าล่วงหน้า อ้างว่าเพื่อเป็นการรับประกัน โดยไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร
  3. เมื่อเสร็จสิ้นธุรกรรมทางการเงิน โดยส่วนมากจะไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้อีกเลย หรืออาจติดต่อได้ แต่จะไม่มีวันได้รับสินค้า
  4. เปลี่ยนชื่อ สกุล หมายเลขติดต่อ รวมถึงเปิดเพจซื้อขายใหม่ ๆ มากมาย แต่ลักษณะการซื้อขายจะคล้าย ๆ กัน บางครั้งจะมีการตัดต่อบัตรประชาชนปลอม เข้ากับรูปของสินค้า หากไม่สังเกตดี ๆ จะหลงกลได้ง่าย ๆ
  5. มีการส่งข้อความ และลิ้งค์ แอบอ้างว่าเป็นข้อความจากธนาคาร หรือสร้างหลักฐานการรับโอนเงินปลอม
  6. ปฏิเสธการนัดรับตัวต่อตัว อ้างว่าอยู่ต่างจังหวัด จะเสนอให้ส่งกับบริษัทขนส่ง
  7. ใช้วิธีกดดันลูกค้าให้โอน โดยการบอกว่ามีคนอื่นรอคิวจะโอนอยู่ หรือถ้าผู้ซื้อเงียบไป จะทักมาทันทีว่า “รับไม่รับ/ ถ้าผ่านก่อน แจ้งล่วงหน้า”
  8. ถ้าผู้ซื้อขอไอจี/ Facebook จะใช้วิธีปลอม IG ที่ไม่สามารถหาเจอ หรือ ใช้ IG คนอื่นที่มี Follower เยอะ ๆ แต่ปิด IG ไว้ ใช้รูป Profile + Cover Line คนอื่นที่ดูดี / ถือกระเป๋าแบรนด์เนม/ รูปไปเที่ยวต่างประเทศ อีกทั้งเบอร์โทรศัพท์ส่วนใหญ่ที่ระบุไว้ จะติดต่อไม่ได้

 

วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้น

  1. เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบน Social Media ให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่ามิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในทางไม่ดี
  2. ควรทำการเปลี่ยนรหัสผ่าน (Password) เข้าสู่พื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นประจำ
  3. เมื่อได้รับข้อความหรือลิ้งค์เพื่อโอนเงินหรือธุรกรรมทางการเงิน งดเว้นการตอบรับใด ๆ จากข้อความดังกล่าว ให้ติดต่อโดยตรงกับธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อตรวจสอบ หรือติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร โทร. 1164 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของหน่วยงานต่างชาติ
  4. ไม่โลภเมื่อเห็นราคาที่ถูกเกินจริง ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ในความเป็นจริง
  5. หากต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น สินค้าแบรนด์เนม ควรเลือกซื้อสินค้ากับตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับความเชื่อถือและรับรองอย่างถูกต้อง เช่น KATEXOXO แพลตฟอร์มซื้อขายแบรนด์เนมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมในไทยไปตลอดกาล
  6. ติดตามข่าวกลโกงต่าง ๆ เสมอ เนื่องจากมิจฉาชีพจะพัฒนากลโกงต่าง ๆ อยู่เสมอ
  7. หากประสบเหตุหรือตกเป็นเหยื่อ สามารถ แจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (โอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น) ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ว่าโดนหลอก โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” อย่าแจ้งเพียงว่า แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน (ถ้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเฉยๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเพิกเฉย เพราะถือว่าการแจ้งแบบนี้แปลว่าเจ้าทุกข์จะดำเนินการทางศาลด้วยตนเอง)

ทั้งหมดนี้คือ เปิด 4 กลโกงมิจฉาชีพ การรู้จักหนทางรอดจากปัญหาออนไลน์ รู้ทันกลโกงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และรู้จักช่องทางร้องเรียนปัญหาดีกว่าบ่นโพสต์อย่างไม่มีทางออก จึงเป็นวิธีการที่ดี ทำได้ทันที เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และอยู่ร่วมกันบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย

รัก
xoxo

 

KATE