To top
20 Aug

จุดกำเนิด Haute Couture ศิลปะทางแฟชั่นชั้นสูง

จุดกำเนิด Haute Couture – คุณเคยสงสัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แฟชั่นหรือไม่ ? ทำไมเหล่าบรรดาดีไซเนอร์ถึงได้รับความนิยมและมีชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งทำไม ? ศูนย์กลางทางแฟชั่น ถึงอยู่ที่เมืองปารีสแทนที่จะเป็นเมืองลอนดอนหรือแมดริท เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว ที่ผู้คนให้ความสนใจในเรื่องของแฟชั่น แต่ทว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นที่เรารู้จักคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ไม่ได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจนกระทั่งช่วงปี 1850s เป็นต้นมา

หากประวัติศาสตร์ ถูกพิมพ์ไว้ในหนังสือหลายล้านเล่มต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ วิวัฒนาการการแต่งกายรวมถึงแฟชั่นต่าง ๆ ก็เป็นตัวบ่งบอกถึงทุกช่วงเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์เช่นกัน ในศตวรรษที่ 19 มหานครปารีส ถูกขนามนามว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ถูกปรับและพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือศิลปะทางแฟชั่นที่ถือกำเนิดขึ้น ในนาม “โอต์ กูตูร์” 

House of Haute Couture – จุดกำเนิด Haute Couture

โอต์ กูตูร์ เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นจากนักออกแบบชาวอังกฤษ นามว่า Charles Frederick Worth (ชาร์ลส์ เฟรเดอริกต์ เวิร์ธ) เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1825 และเริ่มฝึกงานที่ลอนดอน ก่อนที่จะย้ายมาที่ปารีส ในปี ค.ศ. 1845 ในตำแหน่งพนักงานขายเครื่องแต่งกายให้กับเสื้อผ้าแบรนด์ Gagelin เขาสำเร็จการศึกษาจากแผนกตัดเย็บเสื้อผ้าและได้รับรางวัลชมเชยจากการจัดแสดงที่งานนิทรรศการอันยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1851 ที่ลอนดอน และงานนิทรรศการ Paris Exposition Universelle ในปี ค.ศ. 1855

Charles Frederick Worth (ชาร์ลส์ เฟรเดอริกต์ เวิร์ธ)

Charles Frederick Worth (ชาร์ลส์ เฟรเดอริกต์ เวิร์ธ)

หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1858 อาณาจักรโอต์ กูตูร์ของเวิร์ธ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “Worth et Bobergh” ที่อาคารเลขที่ 7 ย่าน  rue de la Paix กรุงปารีส เพื่อออกแบบเสื้อผ้าสำหรับลูกค้าชั้นสูง ที่ต้องการชุดที่ออกแบบตัดเย็บอย่างปราณีต หรูหราและมีรูปแบบเฉพาะ สำหรับรสนิยม อันเป็นปัจเจกสำหรับลูกค้าแต่ละคนเท่านั้น แบบเสื้อแต่ละแบบ จะต้องมีความเป็นต้นฉบับ ที่ดีไซน์โดยผู้ออกแบบเอง ห้องเสื้อโอต์ กูตูร์ จึงเป็นสถานที่สร้างสรรผลงานใหม่ ๆ จากจินตนาการและความคิดของผู้ออกแบบอย่างเสรี

ชุดราตรีของเวิร์ธทุกชุดมีการตกแต่งสิ่งทอ และเป็นงานปักประดับที่ดูหรูหราเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดัง และเป็นที่รู้จักในนาม “‘บิดาแห่งโอต์กูตูร์” ในเวลาต่อมา โดยลูกค้าของเขามีทั้ง จักรพรรดินียูจีนี มเหสีของจักรพรรดิ นโปเลียนที่ 3 , เอลิซาเบธ จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย และฮังการี , หลุยซา (Louisa) ราชินีแห่งสวีเดน , มาเรีย คริสตินา (Maria Cristina) ราชินีแห่งสเปน  และรานาวาโลนา (Ranavalona) ราชินีแห่งมาดากัสการ์

คำว่า “โอต์ กูตูร์” เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การตัดเย็บขั้นสูงหรือแฟชั่นชั้นสูง เสื้อผ้าที่ถูกจัดว่าเป็นโอต์กูตูร์ได้นั้น จะได้รับการตัดเย็บด้วยกรรมวิธีที่ซับซ้อน และต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความสามารถชั้นสูง ผู้มากประสบการณ์ในการเก็บรายละเอียดอย่างปราณีตและบรรจงที่สุด โดยตัดเย็บขึ้นด้วยมือ ตั้งแต่เริ่มจนจบ ซึ่งบางครั้งมีการใช้ใยผ้าแบบพิเศษ รวมทั้งการเย็บอย่างบรรจงในทุกรายละเอียด แฟชั่นเฮาส์กูตูร์จะต้องใช้ทีมงานจำนวนมากสำหรับตัดเย็บชุดโอต์ กูตูร์เพียงหนึ่งชุด

Haute Couture จัดว่าเป็นสุดยอดของสุดยอดแฟชั่น ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแฟชั่นของชนชั้นสูง (High Fashion) ถือว่าเป็นศิลปะการตัดเย็บขั้นสูง “high sewing” ซึ่งจำกัดวงเฉพาะอยู่ในเมืองแฟชั่นระดับแนวหน้าของโลกเท่านั้น เสื้อผ้าในแบบโอต์ กูตูร์ไม่ได้ถูออกแบบมาเพื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นในการโชว์ศักยภาพ รวมทั้งงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ จึงทำให้เสื้อผ้าประดภทนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

ตามประวัติศาสตร์ แฟชั่นโอต์ กูตูร์ ได้มีมาตั้งแต่สมัยยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสแล้ว ยุคของ Marie Antoinette แต่ยังไม่มีการจัดระเบียบแฟชั่นอย่างชัดเจน จนกระทั่งเวิร์ธ เข้ามาเปิดโลกของโอต์ กูตูร์ในปารีส รวมถึงยังได้ก่อตั้งสมาคม Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ซึ่งกำหนดบรรทัดฐานของแฟชั่นโอต์ กูตูร์ อีกทั้งยังสร้างโรงเรียนด้านแฟชั่นอย่าง Ecole de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ( ECSCP) อีกด้วย

Chambre Syndicale de la Couture Parisienne

Chambre Syndicale de la Couture Parisienne

The Chambre Syndicale de la Haute Couture ถูกก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1868 เพื่อดูแลอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูงของฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับ  The Chambre Syndicale du Pret-a-Porter des Couturiers et des Createurs de Mode ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของ prêt-à-porter และ The Chambre Syndicale de la Mode Masculine ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของเสื้อผ้าผู้ชาย ทั้ง 3 องค์กรณ์รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมกลาง ชื่อ the Federation Francaise de la Couture, du Pret-a-Porter des Couturiers et des Createurs de Mode ทำหน้าที่ดูแลอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมด รวมถึงการกำหนดปฏิทินแฟชั่นในแต่ละปี

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเปิดห้องเสื้อแบบ Haute Couture ได้ เนื่องจากข้อจำกัดอันเคร่งครัด และทุกคนต้องปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้

  • ต้องเป็นงานฝีมือที่ตัดเย็บขึ้นด้วยมือตั้งแต่ต้นจนจบเท่านั้น ไม่มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • ต้องเป็นการดีไซน์แบบ Made-to-order สำหรับลูกค้า Private เท่านั้น
  • ต้องมี Workshop หรือ Atelier อยู่ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น (หากอยู่ที่ประเทศอื่น จะใช้คำเรียกว่า Couture ไม่สามารถใช้คำว่า Haute Couture ได้) และใน Atelier จะต้องมีพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาอย่างน้อย 15 คน
  • ในหนึ่ง Atelier จะต้องมีช่างเทคนิคที่ทำงานเต็มเวลาอย่างน้อย 20 คน
  • ในทุก ๆ ฤดูกาล ช่วงเดือนมกราคม (แฟชั่นฤดู ใบไม้ผลิ และฤดูร้อน) และเดือนกรกฎาคม (แฟชั่นฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว) จะต้องมีการโชว์ผลงานอย่างน้อย 50 ดีไซน์ ทั้งชุดกลางวันและชุดราตรี เพื่อให้ผู้บริโภค ได้รู้ถึงทิศทาง (Trend) ในฤดูที่จะมาถึง

 

Fashion Designer – Couturier

แต่ไม่ใช่ว่า ทุกแฟชั่นเฮ้าส์จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “กูตูริเยร์“ง่าย ๆ โดยจะต้องได้รับการรับรองจาก Chamber Syndicate de la Haute Couture Parisienne ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ซึ่ง Update ล่าสุด ในปี ค.ศ. 2021 มีเพียง 16 แบรนด์เท่านั้น ที่ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกสมาคมโอต์ กูตูร์ อันได้แก่ Adeline André, Alexandre Vauthier, Alexis Mabille, Bouchra Jarrar, Chanel, Christian Dior, Frank Sorbier, Giambattista Valli, Jean Paul Gaultier, Givenchy, Julien Fournié, Maison Margiela, Maurizio Galante, Maison Rabin Kayrous, Schiaparelli และ Stéphane Rolland

นอกจากนี้ ในแต่ละปี จะมีแบรนด์ที่ได้รับเชิญให้นำเสนอคอลเล็กชั่นกูตูร์ ในฐานะ Correspondent members หรือกลุ่มแฟชั่นเฮ้าส์ ที่มีกระบวนการผลิตและการตัดเย็บเข้าข่ายมาตรฐานของโอต์กูตูร์ แต่ไม่ได้มีสำนักงานหลักอยูในประเทศฝรั่งเศส โดยในปี ค.ศ. 2021 มีแบรนด์ที่อยู่ในฐานะ Correspondent members ทั้งหมด 10 แบรนด์คือ Alaïa, ELIE SAAB, Fendi Couture, Giorgio Armani Prive, Iris Van Herpen, MIU MIU, Ulyana Sergeenko, Valentino, Versace และ VIKTOR & ROLF ซึ่งกลุ่มนี้ มักได้รับเชิญเป็นประจำเกือบทุกซีซั่น

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ที่เข้าร่วมโชว์ในฐานะ Guest Members หรือกลุ่มแฟชั่นเฮ้าส์ที่ได้รับเชิญเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้แก่เหล่าบรรดาแบรนด์เสื้อผ้า Ready-to-wear หลากหลายสัญชาติทั่วโลก ซึ่งมีมากกว่า 100 แบรนด์เลยทีเดียว

เทคนิคการตัดเย็บของ กูตูรีเยร์ (couturier) นั้น จะไม่ตัดผ้าบนพื้นราบ แต่จะตัดผ้าตามเส้นสายของทรวดทรง เพื่อให้ได้สัดส่วนที่พริ้วไหว ไปตามท่วงท่าลีลาเคลื่อนไหวตามรูปร่าง ส่วนมาตรที่ใช้วัดนั้น จะใช้หลักวัดเป็นมิลลิเมตรเตอร์ เพื่อให้ได้ขนาดและสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับคำว่า “สมบูรณ์แบบ” มากที่สุด และแน่นอนว่า จะต้องทำการตัดเย็บด้วยมือเท่านั้น

เวิร์ธ ได้เริ่มใช้คำแทนช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ว่า “นักออกแบบแฟชั่น” (fashion designer) แทนคำว่า ช่างตัดเสื้อ (tailor หรือ dressmaker) ทั้งนี้ทางสื่อฝรั่งเศส ได้ทำการก่อตั้ง PAIS ซึ่งย่อมาจาก L’Association de Protection des Industries Artistiques Saisonnieres เพื่อป้องกันผลงานโอต์ กูตูร์ จากการถูกลอกเลียนแบบ เพื่อให้แน่ใจในลิขสิทธิ์ของนักออกแบบ การสร้างสรรค์ของพวกเขาจะถูกปกป้องอย่างถูกกฏหมาย

Le Chambre Syndicale de la Haute Couture ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ แฟชั่นในแต่ละฤดูกาลจะต้องปฏิบัติตามกฏของสมาคมอย่างเคร่งครัด รวมถึงจำนวนพนักงานและขนาดของคอลเล็กชั่น แต่ละครั้งห้องเสื้อต้องมีพนักงานประจำอย่างน้อย 15 คน และต้องนำเสนอคอลเล็กชั่นอย่างน้อย 35 ชิ้น 50 ดีไซน์ ในสัปดาห์กูตูร์ปีละ 2 ฤดูกาลคือ Spring/Summer และ Autumn/Winter (ช่วงเดือนมกราคมและกรกฏาคมของทุกปี) ซึ่งครอบคลุมทั้งชุดสำหรับกลางวันและกลางคืนที่เป็นทางการ

House of Worth’s Atelier in Paris

House of Worth’s Atelier in Paris

 

How is haute couture regulated?

ห้องเสื้อโอต์ กูตู ของเวิร์ธ ได้ปิดกิจการลงในปี ค.ศ. 1945 แต่ในปัจจุบันยังคงมีน้ำหอมซึ่งผลิตภายใต้ชื่อของเขาอยู่ ผลงานของเวิร์ธนั้นจัดเป็นมรดกทางศิลปะในด้านการออกแบบอาภรณ์ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น Sugino Costume Museum, The State Hermitage Museum, Isabella Stewart Gardner Museum เป็นต้น ดีไซน์เนอร์รุ่นน้องที่ประสบความสำเร็จในวงการโอต์ กูตู ภายหลังการบุกเบิกของเวิร์ธ ได้แก่ Patou, Poiret, Vionnet, Fortuny, Lavin, Chanel, Schiaparelli, Balenciaga และ Dior

ทศวรรษ 1980 ความนิยมของเสื้อผ้ากูตูร์ได้กลับมากระเตื้องอีกครั้ง จากความมั่งคั่งของน้ำมันในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจตะวันตก กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นยุคทองของโอร์ กูตูร์ สุภาพสตรีกว่า 15,000 คน ต่างเลือกสวมใส่เสื้อผ้ากูตูร์ เสื้อผ้าชั้นสูงด้วยกันทั้งสิ้น  โดยมีดีไซน์เนอร์ที่มีความสามารถ ออกมานำเสนอผลงาน อาทิเช่น Paul Poiret, Coco Chanel, and Cristobal Balenciaga จึงทำให้แฟชั่นแบบโอต์กูตูร์นั้น กลับมาอีกครั้ง

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 สาวชนชั้นสูงทั้งหลาย ต่างสวมใส่ชุดแสนแพงเหล่านี้ จนถึงปัจจุบัน ก็จะมีแต่สาว ๆ ยุโรประดับสูงมีโอกาสสวมใส่ชุดเลอค่าเหล่านี้ ในปัจจุบันแฟชั่นโอต์กูตูร์ ได้รับการให้ความสนใจจากหลายประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง ( Middle East ) , จีน , รัสเซีย ซึ่งทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น 20-30% จากสมัยก่อน และมีการคาดการว่า มีแค่ 4,000 คนเท่านั้นในโลกนี้ ที่ซื้อเสื้อผ้าแบบนี้สวมใส่

ความยากลำบากในการตัดเย็บ ความปราณีตบรรจง และใส่ใจในทุกรายละเอียด ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญของผลงานโอต์ กูตูร์ ในแต่ละแฟชั่นเฮ้าส์ จะต้องใช้ช่างฝีมือทั้งหมดราว 6 คนต่อการตัดเย็บชุด 1 ชุด โดยใช้เวลากว่า 200 ชั่วโมง สำหรับการตัดเย็บชุดเรียบ ๆ ใช้เวลา 1,000 ชั่วโมง สำหรับชุดที่มีการปักประดับ และ 6,000 กว่าชั่วโมง ในการตัดเย็บชุดฟินนาเล่สำหรับแฟชั่นวีค ซึ่งมีความสำคัญที่สุด โดยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย อย่างพิถีพิถันที่สุด

จุดเด่นของชุดโอต์ กูตูร์ อยู่ที่การออกแบบและตัดเย็บ ซึ่งถูกรังสรรค์มาเป็นพิเศษเพื่อสร้างความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของผู้สวมใส่เท่านั้น ความปราณีต แยบยลในการใช้เทคนิคการตัดเย็บขั้นสูง ช่วยให้ผู้สวมใส่ อำพรางจุดด้อยต่าง ๆ รวมทั้งขับจุดเด่นออกมา ซึ่งนั่นทำให้เสื้อผ้สโอต์ กูตูร์ ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดอาภรณ์ที่ชนชั้นสูง เลือกใช้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ

โดยส่วนใหญ่แล้ว คอลเล็กชั่นโอต์ กูตูร์ จะทำการฟิตติ้งไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อความสมบูรณ์และเข้ากับสัดส่วนจริงมากที่สุด ครั้งหนึ่งกูตูริเยร์อย่าง Dior เคยฟิตติ้งชุดกูตูร์มากถึง 10 ครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้ายกินเวลาไปเป็นหลักปีเลยทีเดียว แต่ละชุดจะต้องวัดไซส์ตามสัดส่วนของลูกค้าอย่างพอดี จากนั้น จะถูกส่งไปประดับตกแต่งอีกทีหนึ่ง ด้วย ขนเฟอร์ , งานทอง , งานเลื่อม ต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งจะทำไม่เกิน 10 ชุดต่อแบบ

แน่นอนว่า ชุดที่ถูกออกแบบและตัดเย็บด้วยความพิถีพิถัน ความสวยงามที่เปรียบเสมือนงานศิลปะย่อมมาพร้อมกับราคาที่สูงลิ่ว คุณค่าของชุดบางชุด ไม่สามารถประเมินค่าได้ ด้วยรายละเอียดของเนื้อผ้า วัสดุตกแต่ง เทคนิคการตัดเย็บ แต่นั่นหาไม่เป็นส่วนสำคัญของเสื้อผ้าโอกูตูร์ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วอาจเป็นเวทีการปล่อยของเพื่อสร้างมูลค่าและแบรนด์ดิ้งจากเหล่านักออกแบบมากกว่า เป็นงานโชว์ฝีมือของเหล่าช่างและดีไซน์เนอร์นั่นเอง

ราคาโดยเฉลี่ยของชุดโอต์ กูตูร์อยู่ที่ราวๆ 350,000 บาท และสามารถไต่ขึ้นไปถึง 3 ล้านบาทสำหรับชุดเจ้าสาว รวมถึงชุดกลางคืน ที่ราคาอาจสูงถึง $300,000 หรือประมาณ 9 ล้านบาทเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีบางชุดที่ ประดับตกแต่งด้วยเพชรของแท้ ราคาสูงถึง $9,000,000 หรือประมาณ 27 ล้านบาท

คลื่นมรสุมลูกใหญ่  ที่ถาโถมและเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลก  รวมถึงงานรื่นเริง งานพรมแดงต่าง ๆ ที่ถูกยกเลิก วงการแฟชั่นโอต์กูตูร์ก็ไม่พ้นได้รับผลกระทบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คงไม่พ้น วิกฤติการระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งได้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2019 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ความนิยมในการจับจ่ายเสื้อผ้าโอต์กูตูร์ซบเซาลงอย่างมาก บางแบรนด์ระงับการผลิตคอลเล็กชั่นไว้ก่อน หรือแม้กระทั่งบางแบรนด์ถึงขั้นลบคอลเล็กชั่นโอต์กูตูร์ออกจากปฏิทินแฟชั่นประจำปีไปเลย

สถานการณ์ดังกล่าว ทรงตัวอยู่ร่วมปีกว่า จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 2021 ที่สถานการณ์ในฟากฝั่งยุโรปและอเมริกาเริ่มฟื้นตัวและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้เหล่าบรรดาแฟชั่นเฮ้าส์ ทยอยกลับมานำเสนอคอลเล็กชั่นโอต์กูตูร์ กันอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของแฟชั่นที่หลายคนหลงไหลและคิดถึง อีกทั้งยังทำให้บรรยากาศโดยรวมของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เงียบเหงามาพักใหญ่ กลับมามีชีวิตชีวา ครึกครื้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไม จุดกำเนิด Haute Couture ของแบรนด์ดังต่าง ๆ ถึงต้องแพงเวอร์วังแบบที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถเอื้อมถึง ด้วยเทคนิค ความใส่ใจ และความประณีตของแต่ละแบรนด์ที่รวบรวมเอาความเป็นเลิศมาไว้ในคอลเล็กชั่นกูตูร์ได้อย่างลงตัว ช่างระดับเทพที่ใช้เพียงแค่มือเท่านั้นในการประดิดประดอยสร้างความประณีตบรรจงให้แต่ละชุดล้วนเป็นงานศิลป์ที่คุ้มค่าคุ้มราคาจนหลายคนต้องยอมรับ ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในคำตอบว่าทำไม “โอกูตูร์” ถึงแพงมหาศาล และเป็นสุดยอดของงานแฟชั่นจนถึงทุกวันนี้

รัก
xoxo

 

KATE